×

พาณิชย์เผย 8 เดือนแรกต่างชาติแห่ลงทุนในไทยแล้วกว่า 8.3 หมื่นล้านบาท ‘ญี่ปุ่น’ แชมป์นายทุน

23.09.2022
  • LOADING...
นักลงทุนต่างชาติ

กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยตัวเลขการลงทุนของชาวต่างชาติในไทยช่วง 8 เดือนแรกของปี พุ่งขึ้น 66% จากปีก่อน คิดเป็นมูลค่ากว่า 8.3 หมื่นล้านบาท ญี่ปุ่นนำโด่งด้วยเม็ดเงินลงทุนกว่า 3.2 หมื่นล้านบาท ตามด้วยจีน 1.4 หมื่นล้านบาท และสิงคโปร์ 1 หมื่นล้านบาท รวมจ้างงานคนไทยกว่า 3,700 คน

 

สินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วง 8 เดือนแรก (มกราคม-สิงหาคม) ปี 2565 กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 381 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 141 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 240 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 83,282 ล้านบาท จ้างงานคนไทยกว่า 3,762 คน


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


ทั้งนี้ ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 96 ราย คิดเป็น 25% เงินลงทุน 32,897 ล้านบาท, สิงคโปร์ 64 ราย คิดเป็น 17% เงินลงทุน 10,665 ล้านบาท, สหรัฐอเมริกา 49 ราย คิดเป็น 13% เงินลงทุน 3,277 ล้านบาท, ฮ่องกง 28 ราย คิดเป็น 7.4% เงินลงทุน 7,788 ล้านบาท, เยอรมนี 17 ราย คิดเป็น 4.5% เงินลงทุน 1,203 ล้านบาท, เนเธอร์แลนด์ 16 ราย คิดเป็น 4.2% เงินลงทุน 4,907 ล้านบาท และจีน 16 ราย คิดเป็น 4.2% เงินลงทุน 14,719 ล้านบาท

 

เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2564 (มกราคม-สิงหาคม) พบว่า อนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทยเพิ่มขึ้น 51 ราย คิดเป็น 15% (ปี 2565 อนุญาต 381 ราย ปี 2564 อนุญาต 330 ราย) เม็ดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น 33,156 ล้านบาท คิดเป็น 66% (ปี 2565 ทุน 83,282 ล้านบาท ปี 2564 ทุน 50,126 ล้านบาท) และจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้น 953 ราย คิดเป็น 34% (ปี 2565 จ้างงาน 3,762 คน ปี 2564 จ้างงาน 2,809 คน) โดยปี 2564 ชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุนสูงสุด คือ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับปี 2565 

 

ในช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม-สิงหาคม) ธุรกิจที่ได้รับอนุญาตส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ และสนับสนุนธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น บริการออกแบบ ก่อสร้าง ติดตั้ง และตรวจสอบระบบกักเก็บพลังงาน สำหรับโครงการโรงผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสานสำหรับสนามบินอู่ตะเภา, บริการขุดเจาะปิโตรเลียม, บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station) สำหรับรถยนต์ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า

 

นอกจากนี้ยังมีบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคแบบครบวงจรในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์, การช่วยเหลือด้านการออกแบบ การพัฒนา และทดสอบระบบ, บริการออกแบบด้านวิศวกรรม จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่างๆ สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานผลิตน้ำยาอะคริลิก, บริการให้ใช้แพลตฟอร์มแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ สำหรับการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า และสั่งซื้อสินค้าและบริการ, บริการพัฒนาและให้บริการซอฟต์แวร์ด้านวิเคราะห์ เชื่อมโยงเพื่อบริหารจัดการข้อมูล Big Data และ Data Analytics

 

สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ 8 เดือนแรกของปีนี้ (มกราคม-สิงหาคม) มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 69 ราย คิดเป็น 18% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมดใน 8 เดือนนี้ โดยมีเงินลงทุนในพื้นที่ EEC กว่า 33,236 ล้านบาท คิดเป็น 40% ของเงินลงทุนทั้งหมด

 

ทั้งนี้ เป็นนักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น 31 ราย ลงทุน 21,983 ล้านบาท, สิงคโปร์ 7 ราย ลงทุน 1,826 ล้านบาท และสหรัฐอเมริกา 5 ราย ลงทุน 1,074 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน เช่น 1. บริการรับจ้างผลิตผลิตภัณฑ์ Fuel Pump Module 2. บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาเชิงเทคนิค และการออกแบบเครื่องจักร เครื่องกล เครื่องมือ และอุปกรณ์ และ 3. บริการบุรอง (Lining) ชิ้นส่วนของเครน รอก ลิฟต์ และแม่แรง

 

โดยคาดว่าในช่วงอีก 4 เดือนที่เหลือ (กันยายน-ธันวาคม) ของปี 2565 จะมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นผลมาจากภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจโดยผ่อนคลายให้มีการเปิดประเทศและเพิ่มการอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุน ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยเสริมให้เศรษฐกิจของไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ระบุว่า เฉพาะเดือนสิงหาคม 2565 มีการอนุญาตให้คนต่างชาติ 58 ราย ประกอบธุรกิจในประเทศไทย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 19 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 39 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 9,648 ล้านบาท จ้างงานคนไทยกว่า 454 คน ส่วนใหญ่เป็นคนต่างชาติจากประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์

 

นอกจากนี้ มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านโดยตรงจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคนิคเฉพาะทางการติดตั้งและซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้าของรถไฟฟ้า, องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้เครื่องมือส่งเสริมการขายของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ, องค์ความรู้เกี่ยวกับการตรวจสอบวิเคราะห์ระบบสารสนเทศความปลอดภัยทางไซเบอร์ในเชิงป้องกัน และองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการออกแบบการบุรองเครน รอก ลิฟต์ และแม่แรง 

 

ส่วนธุรกิจที่คนต่างด้าวได้รับอนุญาต ได้แก่ บริการสำรวจ ติดตั้ง ทดสอบ ซ่อมแซมและแก้ไขข้อบกพร่อง รวมทั้งให้คำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับงานติดตั้งระบบจ่ายไฟเหนือขบวนรถไฟฟ้า, บริการออกแบบทางวิศวกรรม จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้ง รวมทั้งทดสอบระบบ สำหรับโครงการก่อสร้างโรงงานสำหรับผลิตไวนิลคลอไรด์โมโนเมอร์ และผลิตโพลีไวนิลคลอไรด์, บริการออกแบบ จัดหา ก่อสร้าง ติดตั้ง และทดสอบระบบท่อส่งก๊าซไนโตรเจนและก๊าซไฮโดรเจน สำหรับโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซ, บริการระบบซอฟต์แวร์ฐาน (Software Platform) ซึ่งเป็นการให้บริการแพลตฟอร์มแสดงข้อมูล และตัวชี้วัดของผู้ประกอบกิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และบริการศูนย์ฟื้นฟูสุขภาพ

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising