จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกคาดการณ์ว่า GDP จะฟื้นตัวได้โดดเด่นในระดับ 5% ในปีนี้ เทียบกับปีก่อนที่เติบโต 3% ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์หรือนักลงทุนต่างมั่นใจมากขึ้นว่าจีนน่าจะทำได้ตามหลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ หลังจากการกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มตัวอีกครั้ง พร้อมปลดล็อกนโยบาย Zero COVID ที่เหนี่ยวรั้งเศรษฐกิจมาตลอด 3 ปีก่อนหน้านี้
ย้อนกลับไปเมื่อปีก่อน นักวิเคราะห์ของสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อย่าง JPMorgan Chase & Co. เคยมองว่าหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีของจีนเป็นกลุ่มที่ลงทุนไม่ได้ (Uninvestable) และปรับประมาณการต่อหุ้นจีนจำนวนมาก แม้ว่าในอีกสองเดือนถัดจากนั้น JPMorgan ปรับมุมมองกลับมาเป็นบวกมากขึ้น แต่การฟื้นตัวของหุ้นจีนก็ยังไม่ได้กลับมาอย่างเต็มที่
แม้ว่าช่วงต้นปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นฮ่องกงซึ่งมีหุ้นจีนจดทะเบียนอยู่หลายบริษัทจะปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่น รวมทั้งเงินทุนที่ไหลเข้าหุ้นกู้อัตราดอกเบี้ยสูง พร้อมทั้งการแข็งค่าของเงินหยวน แต่การฟื้นตัวของหุ้นจีนก็อยู่ได้ไม่นานนักจากความเสี่ยงเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลจีนที่ยังคงมีอยู่
นักลงทุนต่างชาติหวั่น นโยบายจีนเอาแน่ไม่ได้ แห่ชะลอลงทุน
สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่าเจ้าหน้าที่ทางการจีนหลายคนกำลังพยายามอย่างมากในการติดต่อโน้มน้าวให้บริษัทต่างชาติหันมาลงทุนในจีนจากความกดดันนโยบาย ‘ปีแห่งการลงทุนในจีน’ ของหน่วยงานรัฐที่หวังเพิ่มพูนเงินในประเทศหลังจากการใช้จ่ายอย่างหนักไปกับนโยบาย Zero COVID ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา และมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับลดลง
แม้การตอบรับที่ดีจากนักลงทุนต่างชาติบางรายผ่านการเซ็นข้อตกลงต่างๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่ยังคงกังวลกับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจจีน และความเอาแน่เอานอนกับนโยบายต่างๆ ของรัฐบาลที่นับวันจะยิ่งจะคาดเดายากขึ้นไปทุกที
บรรยากาศการลงทุนจากต่างชาติในจีนส่งสัญญาณไม่ค่อยสู้ดี หลังการออกนโยบายควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้นต่อหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีไปจนถึงกลุ่มอสังหา การตัดสินใจครั้งนี้เป็นผลให้เงินลงทุนที่มาจากต่างประเทศไหลออกจากตลาดจีนเป็นจำนวนมาก กล่าวคือนโยบายควบคุมที่จีนใช้กำลังขัดแย้งกันเองกับความพยายามที่จะดึงดูดเม็ดเงินภายนอกเข้ามาตามจุดประสงค์ของโครงการ ‘ปีแห่งการลงทุนในจีน’
หนึ่งในผู้บริหารธุรกิจพัฒนาอสังหาในฮ่องกงกล่าวว่า ความยุ่งยากคลุมเครือในการตรวจสอบข้อมูลและประเมินความเสี่ยงต่างๆ (Due Diligence) ในประเทศจีนเป็นอุปสรรคหลักที่กีดกันนักลงทุนให้เข้าไปซื้อสินทรัพย์ในจีนจากความกลัวของสิ่งที่ตรวจสอบไม่ได้ เช่น หนี้เสียที่อาจซ่อนอยู่ ซึ่งความกลัวนี้น่าจะยิ่งแย่ลงไปอีกจากการควบคุมที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามประสงค์ของสีจิ้นผิง
Noah Fraser ผู้อำนวยการประจำ Canada China Business Council (CCBC) กล่าวถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า ‘ณ ตอนนี้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนน่าจะต่ำที่สุดตั้งแต่ที่เคยเป็นมา’
ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาทางจีนพยายามออกไปสร้างสัมพันธ์ผ่านการแสดงสินค้าและบริการต่างๆ (Roadshow) ในหลากหลายประเทศ อย่างเซี่ยงไฮ้แค่เมืองเดียวมีแผนที่จะเยือนต่างประเทศกว่า 100 ครั้งในปีนี้ หรือในมณฑลกวางตุ้งที่ตั้งเป้ายอดการลงทุนจากต่างประเทศในอีก 5 ปีข้างหน้าไว้ที่ 2 ล้านล้านหยวน (9.47 ล้านล้านบาท)
อย่างไรก็ตามต่างประเทศยังคงไม่มั่นใจที่จะลงทุนในจีนจากการพยายามควบคุมสอดส่องดังกล่าว นักลงทุนทั่วโลกเริ่มเมินหลักทรัพย์ของประเทศจีนที่เห็นได้จากการร่วงหล่นกว่า 50% ของดัชนี MSCI จากจุดสูงสุดในปี 2021 หรือในฝั่งตลาดพันธบัตรก็ท่าทางน่าเป็นห่วงไม่แพ้กันจากเงินทุนที่ไหลออกมากกว่าที่เข้ามา
ภาพ: เงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดพันธบัตรจีน
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ Politburo องค์กรบริหารสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์จีน จึงออกคำสั่งกับรัฐบาลท้องถิ่นของจีนให้เร่งเพิ่มมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศท่ามกลางเศรษฐกิจที่ฝืดเคืองภายในจีน ทว่านี่เป็นความท้าทายที่ยากลำบากกับรัฐบาลท้องถิ่น เนื่องจากการใช้จ่ายที่สูงขึ้น 2.6% ไปกับนโยบาย Zero COVID และมาตรการเยียวยาต่างๆ ในขณะที่รายได้ลดลง 11% จากราคาที่ดินและอสังหาที่ต่ำลง ไหนจะยังมีหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากการกู้มาพัฒนาการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งดอกเบี้ยที่ต้องชำระเป็นมูลค่ากว่า 160,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.04 ล้านล้านบาท) ในปี 2022 ที่เพิ่มขึ้น 21% จากปีก่อน
มากไปกว่านั้น ความขัดแย้งต่อสหรัฐฯ ยิ่งซ้ำเติมปัญหาเข้าไปอีกจากการที่รัฐบาลสหรัฐฯ แสดงความประสงค์ที่จะลดเม็ดเงินลงทุนกับจีนให้น้อยลง การไม่ลงรอยกันของสองประเทศมหาอำนาจดังกล่าวสร้างความวิตกกังวลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้าไปทำธุรกิจในจีน รัฐมนตรีประจำเมืองชิงเต่าจัดงานสัมมนาทางธุรกิจ ณ กรุงโตเกียว โดยมีธุรกิจขนาดเล็กของญี่ปุ่นเซ็นเอกสารความตกลงร่วมกัน แต่กลับยังไม่มีการประกาศการลงทุนเลยแม้แต่ธุรกิจเดียว
สำหรับธุรกิจที่ยังลงทุนในจีนอยู่ พวกเขาก็เพียงแต่มุ่งเน้นการลงทุนในส่วนของการดำเนินงานหรือ Operations เพียงอย่างเดียวมากกว่าการที่จะลงทุนในส่วนอื่นด้วย ธุรกิจต่างๆ เขาอยากจะมีอำนาจในการตัดสินใจว่าอะไรดีที่สุดสำหรับธุรกิจเขา เพราะความไว้วางใจในรัฐบาลและสถานการณ์การทำธุรกิจในปัจจุบันของจีนมันได้หายไปแล้วจากการปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อพยายามแทรกแซงและควบคุม
นักลงทุนเริ่มมีคำถามความเชื่อมั่นในตลาดจีน
ในด้านของตลาดหนี้เสี่ยง ราคาตราสารหนี้จีนในกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูง (โดยทั่วไประดับความเสี่ยงจะเพิ่มตามผลตอบแทนที่สูงขึ้น) ที่ถูกขายในหน่วยเงินดอลลาร์กำลังมีมูลค่าลดลงต่อเนื่องเป็นเวลาติดต่อกันนานที่สุดของปีนี้ โดยระดับราคาที่ร่วงลงอยู่ในเกณฑ์ที่ถือว่าน่าเป็นห่วง ซึ่งเป็นการดิ่งลงของราคาเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน นับว่าแย่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2022
การทรุดลงของมูลค่าตราสารหนี้เสี่ยงครั้งนี้เกิดจากปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์ KWG Group Holdings และการถูกบังคับขายสินทรัพย์จากคำสั่งของศาลของบริษัท Jiayuan International Group ที่ยิ่งไปเพิ่มความตึงเครียดแก่ตลาดหนี้เสี่ยงของจีน
ตามรายงานของ Bloomberg เหตุการณ์ของทั้งสองบริษัทนี้นำมาสู่แรงขายจำนวนมากของสินทรัพย์ประเภทดังกล่าวที่ส่งผลทำให้ราคาต่ำลง ซึ่งเป็นผลต่อความมั่นใจของนักลงทุนถึงสภาพคล่องและความน่าเชื่อถือของตลาดตราสารหนี้ที่ให้ผลตอบแทนสูงของจีน
จับตา! นโยบายรัฐบาลจีนอาจช่วยดึงฟันด์โฟลว
ในมุมของ จิติพล พฤกษาเมธานันท์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี กล่าวว่า แม้ GDP ของจีนจะถูกปรับคาดการณ์ขึ้น แต่สิ่งที่จีนต้องเผชิญหลังจากการเปิดประเทศคือ การบริโภคที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มของสินค้าต่างประเทศมากกว่า รวมทั้งการที่ชาวจีนจำนวนมากเดินทางออกไปท่องเที่ยวต่างประเทศ ทำให้การบริโภคสินค้าจีนไม่ได้เพิ่มขึ้นมากเท่ากับสินค้าในยุโรป
อีกประเด็นหนึ่งที่ยังคงฉุดรั้งบรรยากาศการลงทุนในจีนคือ ภาคอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของตลาดหลักอย่างยุโรปและสหรัฐฯ นอกจากนี้ แรงกดดันจากปัญหาความขัดแย้งกับสหรัฐฯ ก็มีส่วนที่ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง
“ส่วนตัวมองว่าหากฟันด์โฟลวยังไม่ไหลเข้าจีนก็อาจจะยากที่จะเห็นหุ้นจีนวิ่งขึ้นแรง ส่วนปัจจัยที่จะทำให้ฟันด์โฟลวไหลเข้าจีนอย่างจริงจัง อาจต้องเห็นการลดดอกเบี้ยและดูดสภาพคล่องใหม่เข้ามาในตลาด รวมทั้งนโยบายที่เน้นสนับสนุนการลงทุนมากขึ้น หลังจากที่เน้นเรื่องการบริโภคมาตลอดในระยะหลัง”
ขณะที่ รัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโส หัวหน้าฝ่ายหลักทรัพย์ต่างประเทศและฟิวเจอร์ส บล.บัวหลวง มองว่า ภาพในระยะกลางเชื่อว่าหุ้นจีน โดยเฉพาะตลาด H-Share ยังเป็นโอกาสลงทุนที่ดี แต่ในระยะสั้นนักลงทุนอาจจะกังวลว่าจีนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายนที่ขยายตัวเพียง 0.1% ต่ำสุดในรอบ 2 ปี
“เงินเฟ้อนั้นหากสูงไปก็ไม่ดี ต่ำไปก็ไม่ดี สะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนอาจฟื้นช้ากว่าที่คาด แต่ส่วนตัวมองว่าการลงทุนในจีนยังเสี่ยงน้อยกว่าประเทศอื่นด้วยเงินเฟ้อที่ยังต่ำ”
นอกจากนี้ หากพิจารณาจากผลประกอบการของบริษัทขนาดใหญ่ในจีน เช่น JD.com ที่แม้รายได้จะเติบโตเพียง 1% แต่ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ และสามารถพลิกกลับมาทำกำไรได้อีกครั้ง สะท้อนถึงกำลังซื้อและการบริโภคที่ฟื้นตัว
ส่วนหุ้นอย่าง Alibaba ก็ค่อยๆ ฟื้นตัวได้ หลังแรงขายหุ้นจาก SoftBank เริ่มอ่อนลง โดย Morgan Stanley ประเมินว่า SoftBank น่าจะลดสัดส่วนการถือครองใน Alibaba เหลือต่ำกว่า 0.5% แล้ว ขณะที่ผลประกอบการของ Alibaba ที่จะประกาศวันที่ 18 พฤษภาคมนี้ น่าจะออกมาดี
“ความไม่มั่นใจของนักลงทุนต่างชาติต่อการคุมเข้มของรัฐบาลน่าจะสะท้อนในราคาไปมากแล้ว ทำให้หุ้นจีนยังคงเทรดในระดับที่ Discount จากหุ้นสหรัฐฯ ค่อนข้างมาก ขณะที่การสื่อสารของรัฐบาลจีนในปีนี้ไม่ได้เป็นโทนของการจัดระเบียบอีกแล้ว”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- เตียงนอนติดกับโถส้วม?! ห้องพักราคา 300 บาทต่อคืนในโรงแรมขนาดเล็กที่จีน กำลังได้รับความนิยมจากนักศึกษาที่กำลังเตรียมตัวสอบ
- หนุ่มสาวจีนแห่สอบเข้ารับราชการ หวังพึ่งความมั่นคงหนีพิษเศรษฐกิจ ปีนี้ยอดผู้สมัครสูงถึง 7.7 ล้านคน แต่รับจริง 2 แสนตำแหน่ง
- วิกฤตอสังหากำลังลุกลามทั่วโลก บนยอดหนี้ที่สูงเกือบ 1.75 แสนล้านดอลลาร์ บ้านระหว่างก่อสร้างกว่า 2 ล้านหลังในจีนต้องหยุดชะงัก
อ้างอิง:
- www.bloomberg.com/graphics/china-credit-2023-5/?sref=CVqPBMVg
- www.bloomberg.com/news/articles/2023-05-11/china-is-scaring-away-foreign-investors-that-its-cities-want?srnd=premium-asia&sref=CVqPBMVg