×

เปิดปีใหม่ไม่มีแผ่ว! ต่างชาติซื้อหุ้นไทย 11 วันรวด Aberdeen มองเป็น ‘Safe Haven’ และเชื่อว่า SET 1,800 จุด ไม่ไกลเกินเอื้อม

17.01.2023
  • LOADING...

บรรยากาศการลงทุนหุ้นไทยหลังผ่านไป 11 วันทำการ (3-17 มกราคม) ของปี 2566 นักลงทุนต่างประเทศเป็นฝ่ายซื้อสุทธิติดต่อกัน 11 วันรวด คิดเป็นมูลค่า 1.9 หมื่นล้านบาท และเป็นการซื้อติดต่อกันเป็นวันที่ 14 นับแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2565 ส่วนนักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 1.2 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับนักลงทุนทั่วไปในประเทศที่ขายสุทธิ 9.5 พันล้านบาท

 

แรงซื้อของต่างชาติช่วยหนุนให้ดัชนี SET เพิ่มขึ้นเกือบ 30 จุด ขณะที่หุ้นใหญ่ในกลุ่ม 30 อันดับแรกที่มีมูลค่าสูงสุด และราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุดตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา (ข้อมูล ณ 16 มกราคม) ได้แก่ MAKRO +8.75%, PTTGC +6.35%, BBL +6.08%, KBANK +5.08%, SCB +4.67%, MINT +4.65%, ADVANC +3.59%, SCC +3.51%, BDMS +3.45% และ BAY +3.25%

 

ในอดีตที่ผ่านมา ครั้งสุดท้ายและครั้งเดียวที่ดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทยเคยวิ่งขึ้นไปยืนเหนือ 1,800 จุด คือระหว่างเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ ปี 2561 หลังจากนั้นหุ้นไทยดิ่งลงอย่างหนักพร้อมๆ กับตลาดหุ้นโลกในช่วงวิกฤตโควิด ทำให้มูลค่าหายไปเกือบครึ่ง ก่อนจะค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับ 1,600-1,700 จุด อีกครั้งในตอนนี้

 

เมื่อปีที่แล้วเรามักได้ยินว่า ‘หุ้นไทย Outperform’ หรือแปลง่ายๆ คือ ‘ทำได้ดีกว่าเพื่อน’ แต่การทำได้ดีกว่าก็ไม่ได้หมายความว่าหุ้นไทยพุ่งขึ้นโดดเด่นอะไร ปีก่อนดัชนี SET เพิ่มขึ้นเพียง 0.67% เท่านั้น แต่ก็ถือว่าดีกว่าหลายประเทศที่ดิ่งลง 10-30%

 

ข้ามมาสู่ปี 2566 สิ่งที่แวดวงเศรษฐกิจและการลงทุนพูดถึงกันมากที่สุดในตอนนี้คือ ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession มีความเสี่ยงจะเกิดขึ้นภายใน 12 เดือนข้างหน้านี้ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจพัฒนาแล้ว (Developed Market) เช่น ยุโรป สหรัฐฯ ทำให้ตลาดหุ้นของกลุ่มประเทศเหล่านี้มีความเสี่ยงที่จะให้ผลตอบแทนย่ำแย่ต่อเนื่องอีกปี หากเทียบกับประเทศที่ไม่ต้องเผชิญกับ Recession

 

ตลาดหุ้นไทยเป็นหนึ่งในตลาดที่หลายคนเชื่อว่าจะโดดเด่นได้อีกปี เพราะเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในขาของการฟื้นตัว สวนทางกับกระแส Recession และทำให้หุ้นไทยมีโอกาสที่จะยังคงเป็น ‘Safe Haven’ หรือ ‘หลุมหลบภัย’ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่กำลังหดตัว

 

ดรุณรัตน์ ภิยโยดิลกชัย Head of Equity – Thailand บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน อเบอร์ดีน (ประเทศไทย) มองว่า แม้หุ้นไทยจะ Outperform เมื่อปีก่อน แต่ถ้าดูผลตอบแทนสะสม (Cumulative Return) ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา หุ้นไทยเพิ่มขึ้นเพียง 10% ส่วนหุ้นสหรัฐฯ หรือไต้หวัน ที่ปีก่อนดิ่งลงประมาณ 20% แต่ 3 ปีที่ผ่านมายังให้ผลตอบแทนสะสมเป็นบวก 25-30%

 

“สาเหตุที่เรา (หุ้นไทย) Laggard เพราะผลกระทบจากโควิด เราไม่ได้มีหุ้นเทคฯ ที่ได้ประโยชน์ในช่วงล็อกดาวน์ แต่เมื่อตลาดกลับขากัน หุ้นไทยจะเป็น Safe Haven”

 

ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้หุ้นไทยโดดเด่นในปีนี้ ประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ

 

  1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดว่า GDP ไทยจะเพิ่มขึ้น 3.6% ในปีนี้ เทียบกับ 3.3% เมื่อปีก่อน พร้อมกับแรงหนุนจากการเปิดประเทศของจีน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีโอกาสจะไปถึงระดับ 25-28 ล้านคน โดยเป็นนักท่องเที่ยวจีนราว 3-5 ล้านคน ซึ่งนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 ล้านคน จะช่วยหนุน GDP ให้เพิ่มขึ้น 0.3%

 

  1. นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิต่อเนื่อง ปัจจัยบวกสำคัญคือการแข็งค่าของเงินบาทที่มีโอกาสจะไปถึงระดับ 32.75 บาทต่อดอลลาร์ และดุลบัญชีเดินสะพัดที่พลิกเป็นบวก ทำให้ต่างชาติมีแนวโน้มจะเป็นฝ่ายซื้อสุทธิต่อเนื่องในปีนี้ หลังจากซื้อสุทธิ 2 แสนล้านบาท เมื่อปีก่อน

 

  1. แรงหนุนจากการเลือกตั้ง จากสถิติในอดีตที่ผ่านมาของการเลือกตั้ง 4 ใน 5 ครั้งหลังสุด พบว่าช่วง 3 เดือนก่อนการเลือกตั้ง หุ้นไทยให้ผลตอบแทนเป็นบวก และหลังจากการเลือกตั้งในปีนี้ก็มีโอกาสที่จะยืนอยู่ได้ เพราะนักลงทุนจะหันไปสนใจในเรื่องนโยบายใหม่เกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามและอาจจะส่งผลลบต่อหุ้นไทยในปีนี้ แบ่งเป็น 3 ส่วนสำคัญ คือ

  1. ความเสี่ยงจากภาวะ Recession ที่อาจรุนแรงกว่าคาด
  2. การปรับลดประมาณการกำไรของบริษัทต่างๆ และ
  3. การเก็บภาษีขายหุ้นที่น่าจะเริ่มต้นในเดือนพฤษภาคม 2566

 

โดยภาพรวมในปีนี้ ดัชนี SET มีโอกาสจะวิ่งขึ้นไปสู่ระดับ 1,800 จุด และระหว่างทางน่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,669-1,811 จุด ส่วนกลุ่มหุ้นที่มีแนวโน้มจะโดดเด่นในปีนี้คือ สุขภาพ, ธนาคาร, พาณิชย์ และขนส่ง ส่วนกลุ่มที่น่าจะอ่อนแอคือ ปิโตรเคมี, ยานยนต์, วัสดุก่อสร้าง, อาหาร และอิเล็กทรอนิกส์

 

อีกด้านหนึ่ง ในมุมของ วิริยะชัย จิตตวัฒนรัตน์ Vice President Investment Consultant บริษัทหลักทรัพย์ เครดิต สวิส (ประเทศไทย) มีมุมมองเชิงบวกต่อหุ้นไทยเช่นกัน

 

“ปัจจุบันนักท่องเที่ยวกลับมาได้ครึ่งทางของระดับปกติ ช่วยให้การบริโภคและการลงทุนในประเทศดีขึ้น ส่วนเงินเฟ้อกดดันต่อเศรษฐกิจไทยน้อยลง ทำให้แบงก์ชาติไม่น่าจะรีบร้อนขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้กำไรของหุ้นไทยมีแนวโน้มจะถูกปรับขึ้น”

 

เป้าหมายของดัชนีหุ้นไทยที่ เครดิต สวิส (ประเทศไทย) ประเมินไว้ในปีนี้คือ 1,870 จุด เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน โดยกลุ่มหุ้นที่ให้น้ำหนักมากที่สุดคือธนาคารและสินค้าอุปโภคบริโภค รองลงมาคือการท่องเที่ยวและสุขภาพ

 

“ปีนี้คาดว่าต่างชาติจะซื้อสุทธิต่อเนื่อง และด้วยดอกเบี้ยไทยที่ไม่น่าจะถูกปรับขึ้นมากเหมือนสหรัฐฯ ทำให้หุ้นไทยน่าสนใจกว่าบอนด์ไทย ส่วนปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระวังคือผลการเลือกตั้ง เพราะอาจจะเปลี่ยนภาพการลงทุนได้อย่างมาก”


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising