Bloomberg รายงานว่า ยอดการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทยจากนักลงทุนทั่วโลกมีมูลค่าสูงสุดในรอบ 6 เดือน ก่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปลายสัปดาห์นี้ และการเข้าซื้อดังกล่าวทำให้เงินบาทเป็นสกุลเงินที่มาแรงที่สุดในเดือนพฤษภาคมนี้
รายงานข่าวระบุว่า เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา กองทุนจากต่างประเทศใช้เงินจำนวน 747 ล้านดอลลาร์ (ราว 23,538 ล้านบาท) ซื้อพันธบัตรรัฐบาลไทย ซึ่งถ้ารวมกับยอดซื้อในเดือนนี้แล้วจะมีมูลค่าทั้งหมดที่ 1,500 ล้านดอลลาร์ (ราว 48,070 ล้านบาท) ถือเป็นจำนวนเงินที่สูงสุดตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2022 ทำให้เงินบาทขยับขึ้นมาเป็นสกุลเงินอันดับ 1 ในเดือนนี้
ทั้งนี้ มีการประเมินว่า การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวไทยที่ได้รับอานิสงส์จากการเปิดประเทศของจีน เป็นอีกหนึ่งตัวหนุนเสริมให้เงินบาทแข็งค่าจากความต้องการที่มากขึ้น
สำหรับข้อมูลภาคการท่องเที่ยว ในเดือนมีนาคมปีนี้ นักท่องเที่ยวเพิ่มสูงกว่า 2.2 ล้านคน เทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยว 1.5 ล้านคนในเดือนตุลาคมปี 2022 และทางภาครัฐยังคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวอีกกว่า 2 ล้านรายจะเดินทางเข้ามาที่ประเทศไทยในเดือนพฤษภาคมนี้
Bloomberg ระบุเพิ่มว่า หากวิเคราะห์จากข้อมูลในประวัติศาสตร์ เงินบาทมีแนวโน้มที่จะแข็งค่าขึ้นอีกหลังจากการเลือกตั้งในวันอาทิตย์นี้ โดยหากมองย้อนกลับไปในอดีตตั้งแต่ปี 2005 กับการเลือกตั้งแบบปกติ 6 ครั้งและการรัฐประหาร 2 ครั้ง โดยเฉลี่ยแล้วเงินบาทแข็งค่าขึ้น 1.2% เป็นเวลา 1 เดือนหลังจากวันเลือกตั้ง และมีมูลค่าที่แข็งค่ากว่าเงินสกุลอื่นๆ ในเอเชีย ณ ช่วงเวลา 1 เดือนนั้นด้วย
นอกจากนี้ Christopher Wong นักยุทธศาสตร์การแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศประจำธนาคาร Oversea-Chinese Banking Corp (OCBC) ในสิงคโปร์ ให้ความเห็นว่า เงินบาทยังได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลงซึ่งเป็นผลดีกับประเทศไทยในฐานะผู้นำเข้าน้ำมัน ทั้งนี้การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทอาจส่อถึงสัญญาณว่าการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ น่าจะใกล้ถึงจุดสิ้นสุดแล้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘เงินบาทแข็งค่า’ ทำจุดสูงสุดใหม่รอบ 10 เดือน เก็ง Fed ยุติขึ้นดอกเบี้ย ฉุดดอลลาร์อ่อน กรุงศรีมองกรอบเงินบาทปีนี้ 32-33 บาท
- ‘เงินบาท’ แข็งค่าสุดในรอบกว่า 10 เดือน คาด Fed ลดความแข็งกร้าวขึ้นดอกเบี้ย หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ ลดลงครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี
- ว่าด้วย ค่าเงินบาท เดือนมกราคม ปีกระต่าย
อ้างอิง: