×

‘บอนด์ไทย’ หนึ่งในหลุมหลบภัยของต่างชาติ เงินทุนไหลเข้า 6.4 หมื่นล้านบาทในเดือนเดียว

29.04.2025
  • LOADING...

ตลาดพันธบัตรไทยกำลังเป็นที่ต้องการของนักลงทุนต่างชาติ ส่งผลให้เงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่องในเดือนเมษายน และมีแนวโน้มทำสถิติไหลเข้าสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี โดยปัจจัยหนุนสำคัญคือความเชื่อมั่นที่ลดลงต่อเงินดอลลาร์และสินทรัพย์ในสกุลดอลลาร์อย่างพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ

 

ข้อมูลจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนจนถึงปัจจุบัน (28 เมษายน) มีกระแสเงินทุนต่างชาติ (Fund Flow) ไหลเข้าสุทธิในตลาดพันธบัตรไทยแล้วประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ หรือกว่า 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2022 สวนทางกับตลาดพันธบัตรในประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินเดียและอินโดนีเซียที่ประสบกับภาวะเงินทุนไหลออกในช่วงเวลาเดียวกัน

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า 3 เหตุผลใหญ่ที่เงินไหลเข้าพันธบัตรไทยมากสุดในเดือนนี้ เนื่องจาก

 

1. ความเชื่อมั่นต่อดอลลาร์ที่ถูกกระทบอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากการประกาศภาษีตอบโต้ (reciprocal tariff) ของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา

 

“แม้จะประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีออกไป 90 วัน แต่ความเชื่อมั่นต่อดอลลาร์ถูกกระทบอย่างสำคัญ ไม่ว่าจะตลาดหุ้นสหรัฐฯ หรือตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ อันนี้เป็นความเชื่อมั่นต่อการถือครองดอลลาร์ ซึ่งพันธบัตรเป็นสินทรัพย์ใหญ่มาก ทำให้เงินทุนไหลออก สะท้อนจากยีลด์ของพันธบัตรสหรัฐฯ ยังค้างอยู่สูง และเงินที่ไหลออกเหล่านี้ต้องหาแหล่งที่ไป”

 

ข้อมูลจาก ThaiBMA ระบุว่า ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมาเงินทุนต่างประเทศไหลเข้าสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาวประมาณ 4 หมื่นล้านบาท และไหลเข้าตราสารหนี้ระยะสั้นประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาท

 

2. ปัจจัยถัดมาคือการไหลของเงินทุนจากตลาดหุ้นมาสู่ตลาดพันธบัตร เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ อุปสงค์ในประเทศขาดตัวช่วยหลังหมดมาตรการกระตุ้นในไตรมาสแรก จึงไม่น่าประหลาดใจที่องค์กรการเงินระหว่างประเทศ​ (IMF) ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของ GDP ไทยเหลือ 1.8% และคาดว่าจะเห็นหน่วยงานอื่นๆ ของไทยปรับลดคาดการณ์ลงด้วยเช่นกัน

 

3. ปัจจัยที่สามคือแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยที่น่าจะลดลง โดยนักลงทุนในตลาดพันธบัตร 80% คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะลดดอกเบี้ยในการประชุมวันพุธนี้ (30 เมษายน) ทำให้นักลงทุนโหมเงินเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้เพื่อล็อกอัตราดอกเบี้ย

 

“หลายคนอาจมีคำถามว่าทำไมเงินทุนยังไหลเข้าแม้พันธบัตรไทยให้ผลตอบแทนต่ำ พันธบัตรอายุ 10 ปี ให้ผลตอบแทนไม่ถึง 2% เป็นเพราะในมิติของ Real Bond Yield คืออัตราผลตอบแทนหักลบด้วยเงินเฟ้อไทยที่ต่ำมาก ทำให้ผลตอบแทนยังน่าดึงดูด และเป็นเหมือนหลุมหลบภัยของนักลงทุนต่างชาติในช่วงนี้” ณัฐชาตกล่าว

 

ด้านสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ราคาทองคำในตลาดโลกที่พุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ยังช่วยหนุนสินทรัพย์สกุลเงินบาท เนื่องจากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าทองคำที่สำคัญแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชีย

 

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ถือครองทองคำสูงในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และมูลค่าการส่งออกทองคำเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาพุ่งสูงขึ้นถึง 270% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ขณะที่ค่าสหสัมพันธ์ (Correlation) ระหว่างดัชนีค่าเงินบาทและราคาทองคำได้เพิ่มขึ้นจาก 0.15 ณ กลางเดือนกุมภาพันธ์ มาอยู่ที่ 0.44 ซึ่งบ่งชี้ว่าทั้งสองมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกันมากขึ้น

 

โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นกว่า 2% นับตั้งแต่มีการประกาศมาตรการภาษีของสหรัฐฯ เมื่อต้นเดือนเมษายน ขณะที่ราคาทองคำปรับตัวขึ้นราว 7% ในช่วงเวลาเดียวกัน จากการที่นักลงทุนมองหาสินทรัพย์ปลอดภัย

 

แรงซื้อที่เข้ามาอย่างหนาแน่นได้กดดันให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 2 ปี ปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2022 ในเดือนนี้

 

ขณะที่ วชิรวัฒน์ บรรจุภิญโญ นักกลยุทธ์ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กล่าวว่า “เม็ดเงินจำนวนมากที่ไหลเข้ามาในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นผลจากการเก็งกำไรว่า ธปท. น่าจะลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมเพื่อพยุงเศรษฐกิจ” โดยสังเกตว่ากระแสเงินทุนส่วนใหญ่ไหลเข้าสู่พันธบัตรระยะสั้น ซึ่งสะท้อนมุมมองของนักลงทุนที่เชื่อว่า “เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นได้อีก”

 

นักลงทุนต้องการผลตอบแทนสูงขึ้นจากกระแส Sell America

 

กระแสเทขายสินทรัพย์สหรัฐฯ หรือ ‘Sell America’ ที่ครอบงำตลาดการเงินในเดือนเมษายน กำลังทิ้งร่องรอยความกังวลที่อาจส่งผลกระทบระยะยาวต่อความต้องการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุยาว (Long Bond) ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดหาเงินทุนเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณของประเทศ

 

ผู้จัดการกองทุนจากสถาบันการเงินชั้นนำอย่าง BlackRock Inc., Brandywine Global Investment Management และ Vanguard Group Inc. ต่างมองว่า ปัญหาหลักเกิดจากความไม่แน่นอนที่เพิ่มสูงขึ้นรอบด้านภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งกำลังจะดำรงตำแหน่งครบ 100 วัน ทำให้ผู้เล่นในตลาดต้องพิจารณาปัจจัยเสี่ยงที่ซับซ้อนและหลากหลายมากกว่าเพียงแค่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย

 

ผลลัพธ์จากความไม่แน่นอนเหล่านี้คือ การรับรู้ถึงความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น (Heightened Notion of Risk) ทำให้นักลงทุนเริ่มตั้งคำถามถึงสถานะ ‘สินทรัพย์ปลอดภัย’ (Haven Status) ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และ เรียกร้องผลตอบแทนส่วนเพิ่มเพื่อชดเชยความเสี่ยง (Yield Premium) สำหรับการถือครองพันธบัตรอายุยาวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ‘ส่วนชดเชยความเสี่ยงตามอายุคงเหลือ’ (Term Premium) ซึ่งล่าสุดได้พุ่งขึ้นสู่ระดับใกล้เคียงจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2014

 

แจ็ค แมคอินไทร์ ผู้ร่วมบริหารเงินทุน 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐที่ Brandywine กล่าวว่า “เรากำลังอยู่ในระเบียบโลกใหม่ (New World Order)” และเสริมว่า “แม้ว่าทรัมป์จะยอมถอยในเรื่องกำแพงภาษี ผมคิดว่าระดับความไม่แน่นอนจะยังคงสูงอยู่ นั่นหมายความว่า Term Premium ก็จะยังคงอยู่ในระดับสูงด้วย”

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นที่นักลงทุนจะเทขายพันธบัตรสหรัฐฯ ทั้งหมด โดย JPMorgan Asset Management ยังคงมองว่าพันธบัตรสหรัฐฯ น่าสนใจกว่าพันธบัตรยุโรป ขณะที่การประมูลพันธบัตรอายุ 30 ปีเมื่อต้นเดือนเมษายน ก็แสดงให้เห็นว่ายังคงมีอุปสงค์รอซื้ออยู่หากราคาเหมาะสม ซึ่งช่วยคลายความกังวลเรื่องการ ‘หยุดซื้อประท้วง’ (Buyers’ Strike) ของนักลงทุน และทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวปรับตัวลงมาจากจุดสูงสุดได้บ้าง

 

สัญญาณความกังวลอื่นๆ ยังสะท้อนผ่านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 30 ปีที่แท้จริง (Real Yields – หลังหักเงินเฟ้อ) ซึ่งในเดือนเมษายนได้พุ่งแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2008 แม้จะปรับลดลงมาบ้างแล้ว แต่ก็ยังคงสูงกว่าระดับก่อนที่ทรัมป์จะประกาศแผนขึ้นภาษีครั้งใหญ่เมื่อวันที่ 2 เมษายน

 

ภาพ: IronHeart / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising