×

86 ชีวิตถูกบังคับสูญหาย ไร้กฎหมาย แจ้งความได้ แต่ให้หาข้อมูลเอง ส่องสถานการณ์บังคับสูญหายในไทย ปี 2562

30.08.2019
  • LOADING...
การบังคับสูญหาย

HIGHLIGHTS

4 MINS. READ
  • ‘การบังคับสูญหาย’ แตกต่างจาก ‘การลักพาตัว’ ตรงที่การบังคับสูญหายจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง 
  • 86 คน คือจำนวนคนถูกบังคับสูญหายในไทย

ข้อมูล ณ วันที่ 28 สิงหาคม 2562 ขององค์การสหประชาชาติ ระบุว่ามีคนหายสาบสูญในประเทศไทย 86 คน ทั้งจากเหตุการณ์ทางการเมือง เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ปี 2535 ความขัดแย้งในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ สงครามยาเสพติดช่วงปี 2546-2558 รวมถึงปฏิบัติการทวงคืนผืนป่าในยุครัฐบาล คสช.

 

ในประเทศไทย ‘การบังคับสูญหาย’ เกิดขึ้นเป็นข่าวใหญ่หลายกรณี แต่จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีกฎหมายรองรับว่าการบังคับสูญหายเป็นความผิดอาญา 

 

แม้ไทยจะลงนามในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (ICPPED) ตั้งแต่ปี 2555 และอีก 5 ปีต่อมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบให้ไทยเป็นภาคีใน ICPPED แต่ไทยประกาศว่าจะยังไม่มีข้อผูกมัดทางกฎหมายตามภาคีนี้  

 

ขณะที่ ‘ร่างกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย’ เคยเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติเมื่อปี 2562 แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา ปัจจุบันร่างกฎหมายป้องกันคนหายก็ได้หายสาบสูญไปในรัฐสภา

 

การบังคับสูญหาย

 

‘แจ้งความได้ แต่ให้ไปหาข้อมูลเอง’ จุดร่วมตรงกันของญาติผู้สูญหาย

‘การบังคับสูญหาย’ แตกต่างจาก ‘การลักพาตัว’ ตรงที่การบังคับสูญหายจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำหรือมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยองค์ประกอบมักเริ่มจากการจับกุมหรือลิดรอนสิทธิโดยเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เจ้าหน้าที่จะปฏิเสธความเกี่ยวข้อง

 

บิลลี่-พอละจี รักษ์จงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน หายสาบสูญไปตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2557 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ทราบชะตากรรมและไม่สามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้

 

บิลลี่เป็นแกนนำการต่อสู้เพื่อกลุ่มชาติพันธุ์ เชื้อสายกะเหรี่ยง บ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งกว่า 20 ครอบครัวถูกบังคับให้โยกย้ายออกจากหมู่บ้าน โดยการถูกเข้ารื้อ ทำลาย เผาบ้านและทรัพย์สิน

 

จากเหตุการณ์ดังกล่าว บิลลี่ได้ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานต่อศาลปกครองเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 และอีก 3 ปีต่อมาเขาได้หายสาบสูญ

 

ครั้งสุดท้ายที่มีผู้พบเห็นบิลลี่คือเขาถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานควบคุมตัวไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ฐานครอบครองน้ำผึ้งป่า 6 ขวด แต่ญาติได้ทราบข่าวในวันต่อมาว่าเขาถูกควบคุมตัว

 

การบังคับสูญหาย

 

พิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของบิลลี่ เล่าว่าครอบครัวได้ทราบข่าวว่าบิลลี่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตัวไป จึงไปแจ้งความที่ สภ.แก่งกระจาน ในวันที่ 19 เมษายน 2557 ตำรวจบอกกับเธอว่าต้องไปเก็บข้อมูลจากผู้ที่จับตัวบิลลี่ไป ซึ่งคนธรรมดาอย่างเธอไม่สามารถทำได้แน่นอน

 

พิณนภาต่อสู้โดยการยื่นเรื่องไปที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี ขอให้ย้ายหัวหน้าอุทยานแก่งกระจานออกนอกพื้นที่เพื่อให้ง่ายต่อการสืบสวน แต่ผู้ว่าฯ ปฏิเสธ โดยระบุว่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอ

 

ขณะที่ศาลทั้ง 3 ชั้นก็ยกคำร้องกรณีที่ขอให้มีการไต่สวนการหายไปของบิลลี่ โดยระบุว่าหลักฐานไม่เพียงพอ ต่อมากรมสอบสวนคดีพิเศษรับเรื่องเป็นคดีพิเศษตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายน 2561 แต่ปัจจุบันยังไร้ความคืบหน้า

 

การบังคับสูญหาย

 

ขณะที่ สุภาพ คำแหล้ ภรรยาของ เด่น คำแหล้ แกนนำชุมชนโคกยาว ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ แกนนำเรียกร้องการปฏิรูปที่ดินของชุมชน หายตัวไปเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2559 

 

เด่นนำชาวบ้านเรียกร้องสิทธิที่ทำกินเรื่อยมานับตั้งแต่รัฐบาลดำเนินโครงการ ‘หมู่บ้านรักษ์ป่า ประชารักษ์สัตว์’ ขับไล่ชาวโคกยาวออกจากที่ทำกิน ต่อมาเมื่อปี 2557 รัฐบาลมีนโยบายทวงคืนผืนป่า เจ้าหน้าที่จึงเร่งให้ชาวบ้านอพยพออก

 

สุภาพเล่าว่าวันที่ 16 เมษายน 2559 สามีเข้าไปหาของป่าตามปกติพร้อมสุนัขอีก 2 ตัว แต่มีเพียงสุนัข 2 ตัวที่ออกมาจากป่า ส่วนสามีเธอหายสาบสูญไป

 

เมื่อสามีหายไป สุภาพเดินทางไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ ตำรวจบอกว่ารับเรื่องไว้แล้ว ยายกลับบ้านเถอะ

 

สุภาพตกใจกับบทสนทนาของตำรวจ พร้อมขอร้องให้ทำอะไรสักอย่าง แต่ตำรวจบอกว่าเรื่องนี้ไม่ใช่หน้าที่ของตำรวจ เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ 

 

ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม 2560 พบชิ้นส่วนกะโหลกพร้อมของใช้ในวันที่หายตัว ผลการตรวจทางนิติวิทยาศาสตร์ระบุว่าเป็นชิ้นส่วนกะโหลกของเด่น 

 

แม้กะโหลกของผู้สูญหายถือเป็นการพบวัตถุพยานสำคัญ แต่ปัจจุบันก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุการหายตัวได้

 

ขณะเดียวกัน สุภาพถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 6 เดือน ไม่รอลงอาญา ไปเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2560 ในคดีบุกรุกป่าตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ และ พ.ร.บ. ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งคดีนี้สามีของเธอร่วมเป็นจำเลยด้วย แต่หายสาบสูญไปก่อนวันฟังคำพิพากษา

 

การบังคับสูญหาย

 

ในโอกาสวันผู้สูญหายสากล ปี 2562 ซึ่งองค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็นวันที่ 30 สิงหาคมของทุกปี

 

อังคณา นีละไพจิตร ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนซึ่งหายตัวไปเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลและประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้นำร่างกฎหมายที่กระทรวงยุติธรรมได้รับฟังความเห็นจากประชาชนกลับมาพิจารณา โดยให้มีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญที่มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับสูญหายได้จริง

 

และในระหว่างที่ยังไม่มี พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ขอให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาทบทวนการให้สัตยาบันอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ (ICPPED) ขององค์การสหประชาชาติ เพื่อให้ความมั่นใจต่อประชาชนว่าสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมีความจริงใจ เต็มใจ และมีเจตจำนงทางการเมืองเพื่อคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการสูญหายโดยถูกบังคับ

 

“ในฐานะครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหาย ดิฉันพบว่ามีปัญหาและอุปสรรคมากมายในการเข้าถึงความยุติธรรมและความจริงเกี่ยวกับชะตากรรมของเหยื่อ โดยเฉพาะอุปสรรคทางกฎหมาย เนื่องจากประเทศไทยไม่มีกฎหมายในความผิดฐานบังคับบุคคลให้สูญหายและเอาผิดต่อผู้กระทำผิด

 

“ในทุกๆ ปีครอบครัวผู้ถูกบังคับสูญหายต้องลุกขึ้นมาถามหาความเป็นธรรมและความจริงใจจากรัฐ ทั้งที่รัฐมีหน้าที่อำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชนทุกคน ในฐานะครอบครัว ดิฉันไม่เคยเหน็ดเหนื่อยในการทวงถามความเป็นธรรม แม้เสียงของดิฉันจะไม่ดังไปถึงผู้มีหน้าที่และอำนาจในการอำนวยความยุติธรรม แต่เรื่องราวการบังคับสูญหายในประเทศไทยจะไม่สามารถปกปิดได้ และจะบอกถึงความล้มเหลวของกระบวนการยุติธรรมและความไม่จริงใจของรัฐบาล

 

“วันนี้รัฐบาลและรัฐสภาไทยกำลังถูกท้าทายระหว่างความกล้าหาญในการยืนยันหลักการปกป้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนกับการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคน บางกลุ่มที่ใช้อำนาจตามอำเภอใจในการลักพาตัวและบังคับให้บุคคลสูญหาย”

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X