×

กองทัพบกสั่งเข้มกฎเหล็ก ห้ามกำลังพลยุ่งการเมือง คุมโพสต์โซเชียลมีเดีย ฝ่าฝืนสอบฟันวินัย-อาญา

โดย THE STANDARD TEAM
05.04.2021
  • LOADING...
กอทัพบก

วันนี้ (5 เมษายน) พล.ท. สันติพงศ์ ธรรมปิยะ โฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีการชุมนุมของ จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ประกาศชุมนุมต่อเนื่องว่า กองทัพบกมีระเบียบวินัยสำหรับกำลังพล โดยกองทัพบกได้ออกคำสั่งที่ 388/2563 ที่กำหนดไว้ว่ากำลังพลสามารถทำอะไรได้หรือไม่ได้บ้าง รวมถึงการโพสต์ข้อความตามโซเชียลมีเดียต่างๆ เรามีข้อห้ามชัดเจนและหากกำลังพลกระทำผิด กองทัพบกก็ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวน หากพบว่ามีความผิดก็ต้องได้รับโทษ หากเป็นความผิดทางวินัยก็ดำเนินการตามขั้นตอน แต่ถ้าไปเกี่ยวข้องกับคดีอาญาก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ขณะนี้ทหารทำได้เพียงติดตามข้อมูลข่าวสารการชุมนุมเท่านั้น ยืนยันว่าการชุมนุมเป็นสิทธิของประชาชนที่สามารถทำได้ หากไม่ขัดต่อกฎหมาย

พล.ท. สันติพงศ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากรมกำลังพลทหารบกได้ออกคำสั่งข้อควรปฏิบัติและข้อไม่ควรปฏิบัติของกำลังพลสังกัดกองทัพบก โดยอ้างอิงจาก

 

1. ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยข้าราชการกลาโหมกับการเมือง พ.ศ. 2499

 

2. คําสั่งกองทัพบกที่ 388/2563 ลงวันที่ 9 กันยายน 2563 เรื่องแนวทางการดำเนินการต่อกำลังพลที่กระทำผิด และหากผู้ใดฝ่าฝืนข้อบังคับกระทรวงกลาโหมและคำสั่งกองทัพบกถือว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทหารมาตรา 33, 11 และ 32 ตามแต่กรณี 

 

ทั้งนี้ กองทัพบกได้ทำโปสเตอร์ติดภายในพื้นที่กองบัญชาการกองทัพบก โดยระบุสิ่งที่กำลังพลสามารถทำได้ดังนี้

1. การสมัครเข้าเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใด ต้องรายงานให้ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงผู้บัญชาการทหารบกทราบ

2. การเข้าร่วมประชุมทางการเมืองในฐานะส่วนตัวได้ แต่ต้องไม่สวมเครื่องแบบและไม่ใช่ในเวลาราชการ

3. ปฏิบัติราชการในหน้าที่ด้วยการวางตนเป็นกลางโดยไม่มุ่งหวังประโยชน์ของพรรคการเมืองใดโดยเฉพาะ แต่ทั้งนี้ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล

4. ลงคะแนนเสียง แสดงความคิดเห็นส่วนตัวต่อผู้ลงสมัครได้

5. การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองสามารถกระทำได้โดยไม่แต่งเครื่องแบบและไม่ใช่ในเวลาราชการ ทั้งนี้การเข้าร่วมประชุมในที่สาธารณะนั้นต้องเป็นไปอย่างสงบ

ส่วนสิ่งที่กำลังพลไม่สามารถกระทำได้ มีดังนี้

1. ไม่กระทำการใดๆ อันมีลักษณะพาดพิง ส่อเสียด และล้อเลียนสถาบัน รัฐบาล และผู้บังคับบัญชา

2. ไม่แต่งเครื่องแบบหรือชุดอื่นใด รวมถึงใช้ตราสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความเป็นทหารเข้าร่วมประชุมกับพรรคการเมือง หรือไปร่วมชุมนุมในที่สาธารณะอันเป็นการประชุมที่มีลักษณะทางการเมือง

3. ไม่ประดับเครื่องหมายหรือแต่งเครื่องแบบของพรรคการเมืองเข้าไปในสถานที่ราชการ

4. ไม่บังคับผู้อยู่ในบังคับบัญชาทั้งโดยตรงหรือโดยปริยายให้เป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใด และไม่กระทำการในทางให้คุณหรือให้โทษ

5. ไม่แทรกแซงในทางการเมืองหรือใช้การเมืองเป็นเครื่องมือเพื่อการทำกิจการต่างๆ

6. ไม่แสดงออกโดยตรงหรือโดยปริยายที่จะเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้งในระยะเวลาที่มีการสมัครรับเลือกตั้ง

7. ไม่โพสต์ข้อความทางการเมืองในเวลาราชการ สถานที่ราชการ หรือใช้คอมพิวเตอร์ของราชการ รวมถึงห้ามใช้แอ็กเคานต์ของราชการร่วมกิจกรรมทางการเมืองบนสื่อสังคมออนไลน์

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X