×

จากป็อกบาถึงดีบาลา ทำไมแนวโน้มสตาร์นักเตะย้ายฟรีตามกฎ ‘บอสแมน’ สูงขึ้น?

01.07.2022
  • LOADING...
สัญญานักฟุตบอล

วันนี้คือวันที่ 1 กรกฎาคม ในวงการฟุตบอลแล้วคือวันเริ่มต้นของปีปฏิทินลูกหนัง และเป็นวันที่นักฟุตบอลซึ่งหมดสัญญากับสโมสรจะเป็นอิสระอย่างเป็นทางการ สามารถย้ายไปร่วมทีมอื่นได้อย่างเสรี

 

การย้ายทีมแบบหมดสัญญานั้นในอดีตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้อย่างอิสระ เนื่องจากสโมสรถือว่านักเตะนั้นมีสัญญาผูกพัน ดังนั้นต่อให้ระยะเวลาในสัญญาหมดลง การจะย้ายทีมได้ต้องได้รับอนุญาตจากสโมสรก่อน ซึ่งการอนุญาตนั้นก็จะมาจากการตกลงกันระหว่างสโมสรเดิมกับสโมสรใหม่ในเรื่องค่าตัว

 

เรียกได้ว่าสัญญาของนักฟุตบอลในอดีตนั้นไม่ต่างอะไรจากสัญญาทาส

 

แต่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปจากการลุกขึ้นสู้ของ ฌอง-มาร์ค บอสแมน นักฟุตบอลชาวเบลเยียม ที่ต้องการย้ายจากอาร์เอฟซี ลีเอจ เพื่อไปอยู่กับสโมสรดันเคิร์ก ในปี 1990 หลังจากที่หมดสัญญากับสโมสรและต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่ แต่กลับโดนขัดขวาง ซ้ำยังมีการกลั่นแกล้งด้วยการที่ลีเอจตัดเงินค่าจ้างลงกว่า 75 เปอร์เซ็นต์

 

การต่อสู้ของบอสแมนกับต้นสังกัดจึงเริ่มต้นขึ้น โดยมีทนายความอย่าง ฌอง-หลุยส์ ดูปงต์ ที่รับอาสาว่าความให้ในการฟ้องร้องต่อสโมสรลีเอจ, สมาคมฟุตบอลเบลเยียม และยูฟ่า ที่ขัดขวางการย้ายทีมในครั้งนี้ ซึ่งการต่อสู้นั้นกินระยะเวลานานกว่า 5 ปี ก่อนที่ศาล EU จะตัดสินว่านักฟุตบอลที่หมดสัญญาสามารถย้ายทีมได้อย่างอิสระ (และยกเลิกข้อจำกัดจำนวนผู้เล่นต่างชาติในกลุ่ม EU ไปด้วย)

 

นั่นเป็นที่มาของ ‘กฎบอสแมน’ กฎที่เปลี่ยนโลกฟุตบอลไปอย่างสิ้นเชิง

 

ขณะที่วีรบุรุษผู้ปลดปล่อยนักเตะทุกคนไม่ได้มีชีวิตความเป็นอยู่อะไรที่ดีนัก คนที่ได้รับประโยชน์เต็มๆ คือนักฟุตบอลที่มีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น จนเกิดเป็นกระแส ‘Player vs. Club’ ขึ้นมา

 

นักเตะที่ย้ายตามกฎบอสแมน – ซึ่งมีอิสระในการเจรจากับสโมสรอื่นได้หลังวันที่ 1 มกราคมในสัญญาปีสุดท้าย – พวกเขามีอำนาจในการเรียกร้องค่าตอบแทนมหาศาล รวมถึงค่าเซ็นสัญญา และเงินโบนัสอื่นๆ ตามที่ต้องการ

 

นั่นทำให้เราได้เห็นการย้ายทีมที่สร้างความประหลาดใจหลายครั้ง เช่น การย้ายทีมของ สตีฟ แม็คมานามาน ปีกดาวเด่นลิเวอร์พูล ที่ย้ายไปเรอัล มาดริดในปี 1999 หรือการย้ายทีมแบบช็อกวงการของ โซล แคมป์เบลล์ ที่ย้ายจากสเปอร์ส มาอยู่กับคู่แค้นตลอดกาลอย่างอาร์เซนอลในปี 2001 หรือในยุคหลัง เช่น โรเบิร์ต เลวานดอฟสกี ที่ย้ายจากโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ไปอยู่บาเยิร์น มิวนิก

 

อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าจับตามองในช่วงนี้คือ การที่มีนักฟุตบอลระดับสตาร์ที่ดูเหมือนต้องการจะย้ายทีมแบบอิสระตามกฎบอสแมนมากขึ้นเรื่อยๆ

 

โดยเฉพาะในช่วงปิดฤดูกาลนี้ที่มีนักเตะระดับสตาร์ที่หมดสัญญาและมีอิสระในการย้ายทีม ยกตัวอย่างเช่น

 

  • พอล ป็อกบา (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด)
  • เปาโล ดีบาลา (ยูเวนตุส)
  • อังเคล ดิ มาเรีย (ปารีส แซงต์ แชร์กแมง)
  • เจสซี ลินการ์ด (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด)
  • คริสเตียน อีริกเซน (เบรนท์ฟอร์ด)
  • แกเร็ธ เบล (เรอัล มาดริด)

 

ในบางรายอย่างดิ มาเรีย ซึ่งมีข่าวว่าตกลงจะย้ายไปยูเวนตุส หรือเบล ที่ขอไปผจญภัยในสหรัฐอเมริกากับแอลเอ เอฟซี นั้นอาจจะพอเข้าใจได้ว่าเป็นนักฟุตบอลที่อายุเริ่มมากแล้วและสโมสรไม่ต้องการเก็บไว้ เช่นเดียวกับลินการ์ด ที่หมดทั้งสัญญาและหมดทั้งใจกับแมนเชสเตอร์​ ยูไนเต็ด ทั้งๆ ที่อยู่กับสโมสรมายาวนานกว่า 20 ปี

 

แต่ในรายของป็อกบา หรือดีบาลา นั้นเป็นสตาร์ที่อยู่ในระดับใกล้เคียงกับคำว่าเวิลด์คลาส ซึ่งมีมูลค่ามหาศาลในตลาด การที่ทั้งสองอยู่จนครบสัญญาและสามารถย้ายทีมได้อย่างอิสระเป็นเรื่องที่น่าจับตามอง

 

เพราะหากเป็นไปตามวิถีก่อนหน้านี้แล้ว หากนักฟุตบอลมีแนวโน้มที่จะไม่ต่อสัญญาใหม่ สโมสรมักจะไม่ปล่อยให้เหลือสัญญาแค่ปีเดียว ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียนักเตะไปแบบฟรีๆ แต่ในปัจจุบันดูเหมือนเทรนด์การ ‘ดึงเช็ง’ ให้หมดสัญญาในหมู่สตาร์นั้นเพิ่มมากขึ้น

 

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงอำนาจในการต่อรองที่นับวันจะยิ่งสูงขึ้นของผู้เล่น ที่บีบให้สโมสรต้นสังกัดไม่มีทางเลือกมากนัก โดยปัจจัยแวดล้อมที่มีผลในช่วงเวลานี้คือ ผลกระทบจากโควิด ที่กระทบต่อสถานะทางการเงินของสโมสรทุกแห่งอย่างรุนแรง ทำให้บางครั้งต่อให้อยากจะขายทอดตลาดก่อนจะเสียเปล่า แต่การจะหาผู้ซื้อก็เป็นไปได้ยาก และการขายไปในราคาถูกบางครั้งก็อาจไม่คุ้มกับมูลค่าของโอกาสลุ้นความสำเร็จ และการหาตัวแทนที่เหมาะสมในเวลานั้นอาจเป็นไปได้ยากเกินไปหรือแพงเกินไป

 

และบางครั้งกลยุทธ์ที่นักฟุตบอลใช้คือการออกลูกกั๊ก ไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าจะต่อสัญญาหรือไม่ ซึ่งเราได้เห็นในกรณีของป็อกบา และเกือบจะได้เห็นกรณีของ คีเลียน เอ็มบัปเป้ ที่เตะถ่วงการต่อสัญญากับเปแอสเชมาตลอด ก่อนจะเปลี่ยนใจในโค้งสุดท้ายปฏิเสธเรอัล มาดริด (ด้วยเสียงตามสายจาก เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส)

 

โมฮัมเหม็ด ซาลาห์ สตาร์ลิเวอร์พูล เป็นอีกคนที่กำลังเข้าข่ายแบบเดียวกัน โดยชะลอเรื่องของการต่อสัญญาไว้ แถมประกาศว่าจะอยู่ต่อในฤดูกาลหน้า โดยที่ตามรายงานข่าวแล้วโอกาสในการหาข้อตกลงร่วมกันได้แทบไม่มี ซึ่งหมายถึงมีโอกาสสูงมากที่ดาวยิงชาวอียิปต์จะอำลาลิเวอร์พูลไปแบบฟรีๆ เมื่อจบฤดูกาลหน้า หลังจากที่ได้เห็นตัวอย่างของ จินี ไวจ์นัลดุม อดีตเพื่อนร่วมทีม ที่หมดสัญญาและอำลาไปอยู่กับเปแอสเชเมื่อฤดูกาลที่แล้ว

 

โดยคนที่อยู่เบื้องหลังในการวางหมากเหล่านี้คือเอเจนต์ฟุตบอลที่มีอำนาจมหาศาลในปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้ทำหน้าที่เป็นแค่ตัวแทนของนักฟุตบอลอย่างเดียว แต่ยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนของสโมสรผู้ขาย หรือสโมสรผู้ซื้อ หรือบางครั้งเป็นตัวแทนของ 3 ฝ่าย จบดีลเองคนเดียวก็มี

 

นี่จึงเป็นเทรนด์ใหม่ของนักฟุตบอลที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดการย้ายทีมแบบหมดสัญญามากขึ้น แม้ว่าจะมีความเสี่ยงเช่นกัน โดยเฉพาะหากไม่มีสโมสรที่สนใจอย่างจริงจัง อาจจะต้องย้ายไปร่วมทีมที่ไม่ได้ต้องการในทีแรก หรืออาจจะต้องรอจนแห้งเหี่ยว (แม้แต่อดีตสตาร์อย่าง แจ็ค วิลเชียร์ ยังต้องรอสังกัดใหม่ร่วมปี) แต่ก็เป็นความเสี่ยงที่นักเตะเหล่านี้พร้อมรับมือ

 

เพราะหากทุกอย่างเป็นไปตามแผน พวกเขาจะได้รับค่าตอบแทนมหาศาลที่อาจจะดีกว่าการทนต่อสัญญากับต้นสังกัดเก่าได้ หรืออย่างน้อยก็อาจมีโอกาสได้เลือกทีมที่จะประสบความสำเร็จ (เหมือนกรณีของป็อกบาที่คาดว่าจะกลับไปยูเวนตุส) มากกว่าทนอยู่กับทีมเดิม

 

สิ่งเหล่านี้คือค่านิยมใหม่ ที่ทำให้ค่านิยมเก่าเรื่องความภักดี (Loyalty) กลายเป็นของแปลกและหายากในปัจจุบัน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X