×

หุ้นกลุ่มอาหาร – ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานที่อ่อนแอและนโยบายขึ้นค่าแรง

09.06.2023
  • LOADING...
หุ้นกลุ่มอาหาร

เกิดอะไรขึ้น:

ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายรัฐบาล เมื่อพิจารณานโยบายค่าแรงและค่าไฟฟ้าตามที่พรรคก้าวไกลซึ่งเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งหาเสียงไว้ InnovestX Research ประเมินผลกระทบด้านลบโดยรวมต่อกำไรของกลุ่มอาหารได้ที่ระดับเฉลี่ย 32% นำโดย CPF (ลดลง 54%), BTG (ลดลง 39%), GFPT (ลดลง 25%) และ TU (ลดลง 11%) ซึ่งคาดว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ (เพิ่มขึ้น 30%) จะสร้างความเสี่ยงขาลงต่อกำไรของกลุ่มอาหารโดยเฉลี่ย 40% 

 

โดยใช้สมมติฐานว่า 1. ต้นทุนการผลิต 5-10% เกิดจากค่าแรง 2. การใช้สมมติฐานตามหลักความระมัดระวังว่าต้นทุนค่าแรงจะเพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกับการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ (แม้ว่าผู้เล่นทุกรายจ่ายค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว) และ 3. ยังไม่รวมยอดขายที่ดีขึ้นจากกำลังซื้อที่สูงขึ้นเข้ามา ในทางกลับกันคาดว่าความเสี่ยงขาขึ้นต่อกำไรของกลุ่มอาหารจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 8% จากการลดค่าไฟฟ้า (ลดลง 15%) โดยใช้สมมติฐานว่าต้นทุนค่าไฟฟ้าคิดเป็น 2-5% ของต้นทุนการผลิต

 

ส่วนประเด็นการยกเลิกการผูกขาดและส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรมจะต้องติดตามต่อไป จากการศึกษามีผู้เล่นหลายรายในอุตสาหกรรมสุกรและไก่ในประเทศ และไม่มีผู้เล่นรายใดที่ครองส่วนแบ่งการตลาดมากกว่าครึ่งหนึ่งเมื่อพิจารณาจากจำนวนสัตว์ที่เลี้ยงในปี 2565 สุกรทั้งหมดที่เลี้ยงในประเทศไทย ~40% มาจาก CPF และ 15% มาจาก BTG และไก่ทั้งหมดที่เลี้ยงในประเทศไทย 23% มาจาก CPF 12% มาจาก BTG และ 5% มาจาก GFPT

 

สำหรับสถานการณ์ราคาเนื้อสัตว์ในประเทศ ราคาสุกรในประเทศปรับลดลงสู่ 81 บาทต่อกิโลกรัมใน 2Q66TD (ลดลง 17%YoY และ 9%QoQ) เทียบกับจุดคุ้มทุนที่ 70-85 บาทต่อกิโลกรัม เพราะได้รับผลกระทบจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากการนำเข้าสุกรมีชีวิตและเนื้อสุกรผิดกฎหมาย ในระยะถัดไปสถานการณ์การนำเข้าสุกรผิดกฎหมายมีแนวโน้มที่จะปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป อันเป็นผลมาจากมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นของกรมศุลกากรไทย ที่กำหนดให้การนำเข้าเนื้อสัตว์แช่แข็งทั้งหมดต้องสำแดงและผ่านช่องทางการตรวจสอบ 

 

อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาสุกรในประเทศจะยังคงลดลง YoY จากอุปทานที่เพิ่มขึ้นหลังจากสถานการณ์โรค ASF คลี่คลาย ผู้เล่นรายใหญ่คาดว่าอุปทานสุกรในประเทศจะเพิ่มขึ้นสู่ 17-17.5 ล้านตัวในปี 2566 (เทียบกับ 14.5 ล้านตัวในปี 2565) และกลับสู่ระดับก่อนเกิดโรค ASF ที่ 20 ล้านตัวในปี 2567-2568

 

ส่วนราคาไก่เนื้อในประเทศปรับขึ้น แต่ราคาโครงไก่ลดลง โดยราคาไก่เนื้อในประเทศปรับขึ้นสู่ 42 บาทต่อกิโลกรัมใน 2Q66TD (เพิ่มขึ้น 2%YoY และ 3%QoQ) เทียบกับจุดคุ้มทุนที่ 40-42 บาทต่อกิโลกรัม โดยได้แรงหนุนจากยอดขายส่งออกที่เพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันราคาผลิตภัณฑ์พลอยได้โครงไก่ในประเทศลดลงสู่ 17.6 บาทต่อกิโลกรัมใน 2Q66TD (ลดลง 27%YoY, 25%QoQ) 

 

ทั้งนี้ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2566 มูลค่าการส่งออกไก่เนื้อไทยเติบโต 10%YoY ซึ่งเป็นผลมาจากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 13% (ส่งออกไปยังสหราชอาณาจักร จีน เกาหลีใต้ และมาเลเซียเพิ่มขึ้น แต่ส่งออกไปยังญี่ปุ่นลดลง) ซึ่งมากเกินพอชดเชยราคาส่งออกในรูปเงินบาทที่ลดลง 2% (ราคาส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐที่ลดลง 5% ส่วนหนึ่งสะท้อนถึงต้นทุนค่าระวางที่ลดลง) ในฐานะที่เป็นเนื้อสัตว์ทดแทน ราคาไก่เนื้อในประเทศคาดว่าจะเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับราคาสุกรในประเทศ โดยมีปัจจัยที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงขาลงจากปริมาณการส่งออกไก่เนื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงไฮซีซันของการส่งออกใน 2Q66-3Q66 

 

กระทบอย่างไร: 

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มอาหาร (SETFOOD) ปรับเพิ่มขึ้น 3.97%MoM ขณะที่ SET Index ปรับลดลงเล็กน้อย 0.01%MoM 

 

กลยุทธ์การลงทุน:

InnovestX Research มีมุมมองระมัดระวังต่อกำไร 2Q66 ของกลุ่มอาหาร ซึ่งคาดว่าจะลดลง YoY ในผู้เล่นทุกราย เพราะมาร์จิ้นแคบลง เนื่องจากราคาผลิตภัณฑ์ลดลงท่ามกลางต้นทุนอาหารสัตว์ระดับสูง ในขณะเดียวกันหากรัฐบาลใหม่ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ จะเพิ่มความเสี่ยงขาลงต่อกำไรของกลุ่มอาหาร 

 

สำหรับหุ้นเด่นเลือก GFPT เป็นตัวแทนของกลุ่มอาหารในกรณีที่สถานการณ์โรคไข้หวัดนกในบราซิลเลวร้ายลง แม้ว่าผลกระทบต่อการส่งออกไก่ไทยในปัจจุบันจะมีจำกัด เนื่องจากขณะนี้มีการตรวจพบไข้หวัดนกในนกป่าในบราซิลเท่านั้น 

 

ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ต้องติดตามคือ ราคาผลิตภัณฑ์ที่ลดลงเนื่องจากกำลังซื้อเปราะบางอันเป็นผลมาจากแรงกดดันเงินเฟ้อและอุปทานที่เพิ่มขึ้น ต้นทุนอาหารสัตว์ที่สูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงนโยบายของรัฐบาล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X