×

วิกฤตค่าอาหารแพง! คนอเมริกันรัดเข็มขัดหนัก จำกัดงบกินข้าวนอกบ้าน บางคนถึงขั้นปลูกผักและล่าสัตว์เอง

08.03.2024
  • LOADING...
วิกฤต ค่าอาหารแพง

อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงต่อเนื่องส่งผลให้ราคาอาหารเพิ่มขึ้น ประชาชนชาวอเมริกันจึงต้องดิ้นรนหาวิธีแปลกใหม่มาเพื่อช่วยรัดเข็มขัดให้ยังมีอาหารใส่ท้อง

 

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรของสหรัฐอเมริกาที่ The Wall Street Journal อ้างอิงถึงระบุว่า ชาวอเมริกันใช้จ่ายเงินกับอาหารมากขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลา 30 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2022 ชาวอเมริกันใช้จ่ายกับอาหารไปมากถึง 11.3% ของรายได้หลังหักภาษี ถือเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1991

 

แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อเริ่มลดลงจากเมื่อปี 2022 และ 2023 แต่คนอเมริกันยังต้องเผชิญกับราคาอาหารที่สูงไม่หยุด โดยเฉพาะสินค้าจำเป็นหลักๆ อย่างเนื้อวัวและน้ำตาล ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานชี้ว่า ค่าใช้จ่ายในร้านอาหารเพิ่มขึ้น 5.1% ในเดือนมกราคมนี้เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่แล้ว ขณะที่สินค้าซูเปอร์มาร์เก็ตก็ขยับขึ้น 1.2%

 

ประชาชนจำนวนมากบอกว่าพวกเขากินอาหารนอกบ้านน้อยลง หรืออาจงดกินอาหารเรียกน้ำย่อย หันมาเลือกซื้อสินค้าแบรนด์ท้องถิ่นที่ราคาถูกกว่า รวมถึงใช้คูปองและโปรโมชันจาก Supermarket App มากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคส่งผลโดยตรงต่อยอดขายของบริษัทอาหารและภัตตาคาร

 

โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่พอใจกับภาวะเงินเฟ้อด้านอาหาร เขาลงทุนอัดคลิปลงอินสตาแกรมช่วง Super Bowl วิจารณ์บริษัทอาหารที่ขายสินค้าในปริมาณน้อยลงแต่ราคาไม่ลด โดยกล่าวว่า “คนอเมริกันเหนื่อยใจกับการถูกหลอก” ขณะที่ตัวแทนจากสมาคมผู้ผลิตอาหารในสหรัฐฯ ตอบโต้ประเด็นดังกล่าวว่าสินค้าต่างๆ มีมากมายหลายระดับราคา

 

บริษัทอาหารและภัตตาคารชื่อดังต่างๆ เช่น Denny’s, Wendy’s ต่างยอมรับว่าจำนวนลูกค้าลดลงเมื่อเทียบกับปี 2022 เนื่องจากผู้บริโภค โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้น้อย ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตเศรษฐกิจ

 

นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการกินอาหารนอกบ้านก็แพงหูฉี่มากขึ้นเช่นกัน เนื่องจากภัตตาคารหลายแห่งจำเป็นต้องปรับราคาและลดปริมาณอาหารเพื่ออยู่รอดในช่วงวิกฤตนี้

 

อย่างไรก็ตาม บริษัทอาหารและภัตตาคารต่างขนโปรโมชันและดีลพิเศษมากมายเพื่อดึงดูดกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพสูง McDonald’s และ Wendy’s ต่างประกาศว่าจะมีโปรโมชันช่วยลดภาระผู้บริโภค นอกจากนี้ผู้บริหารของ WK Kellogg ก็เปิดเผยถึงแคมเปญโฆษณาที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคกินซีเรียลเป็นอาหารเย็น ซึ่งมีต้นทุนต่ำไม่ถึง 1 ดอลลาร์ต่อมื้อ หรือราว 34 บาท

 

นักวิเคราะห์การตลาดชี้ว่า แม้ว่าจะเป็นเรื่องยากที่ราคาอาหารจะลดลง แต่ก็นับว่าผิดปกติเช่นกันหากราคาจะสูงขึ้นแบบไม่หยุดยั้ง ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงที่บริษัทอาหารจะถูกกดดันจากทั้งฝั่งผู้บริโภคและร้านค้า ทำให้ราคาในซูเปอร์มาร์เก็ตปรับตัวลดลงบ้างในปีนี้

 

ด้านรายงานของ Business Insider ได้เผยแพร่เคล็ดลับประหยัดเงินในยุคอาหารแพงของชาวอเมริกัน หลายคนบอกว่าใช้นโยบายห้ามกินอาหารนอกบ้านอย่างเด็ดขาด บางคนจดจ่อกับคูปองส่วนลด หรือซื้อสินค้าในปริมาณมากๆ และเลือกซื้อเฉพาะสินค้าที่ไม่เน่าเสียง่าย ซึ่งก็ช่วยลดค่าใช้จ่ายได้เช่นกัน

 

หญิงชาวลาสเวกัสกล่าวว่า ตัวเธอเองและสามีต้องจำกัดความคิดสร้างสรรค์ในครัวลงเพื่อรับมือกับวิกฤต ทั้งคู่เปลี่ยนเมนูที่เคยต้องใช้วัตถุดิบหลากหลายอย่าง เช่น ไก่คาเซียโทเร มาลดต้นทุนด้วยเมนูแสนง่ายอย่างทูน่าแคสเซอโรลที่ประกอบไปด้วยเส้นพาสต้า ทูน่ากระป๋อง ซุปเห็ดกระป๋อง หัวหอม และกระเทียม โดยเธอบอกว่า “เมนูนี้ไม่ค่อยดีต่อสุขภาพนัก แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรกิน”

 

บางคนใช้วิธีปลูกผักกินเอง หนึ่งในนั้นคือ Bernard Brothman อดีตหัวหน้าฝ่าย HR ที่ได้เพิ่มผลผลิตในแปลงผักชุมชนเพื่อทดแทนสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต เขาใช้เงินประมาณ 200 ดอลลาร์ ซื้อปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์สำหรับผักของตนเอง แต่ผลตอบแทนคือการประหยัดต้นทุนซื้อผักได้หลายร้อยดอลลาร์เมื่อถึงฤดูที่คะน้า แครอต ฟักทอง และมะเขือเทศออกผล

 

บางครอบครัวเลือกใช้วิธีโบราณย้อนยุคไปสมัยที่ผู้คนยังต้องออกหาแหล่งอาหารในป่าแบบนักล่า ครอบครัวของ Nancy Randall ที่มีสมาชิก 6 คนในเมืองฮูสตันก็ใช้วิธีนี้ พวกเขากินกวางที่สามีล่ามาได้และปลาที่ตกเอง โดยปกติจะล้มกวางได้ 8 ตัวต่อปี ซึ่งกินแบบนี้ได้ทั้งปี ทำให้ครอบครัวนี้ไม่จำเป็นต้องซื้ออาหารประเภทเนื้อสัตว์เลย

 

นอกจากนี้ยังมีคนใช้เทคนิคอื่นๆ เช่น การใช้ส่วนลดสำหรับผู้สูงอายุ หรือการทำตารางบัญชีค่าใช้จ่ายของอาหารแต่ละมื้ออย่างละเอียด เป็นต้น

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X