ในประเทศไทยน่าจะมีโครงการประกวดด้านนวัตกรรมอาหารไม่กี่เวที ที่สามารถสร้างนักวิทย์ให้กลายเป็นผู้ประกอบการได้จริง หนึ่งในนั้นคือ Food Innopolis Innovation Contest โครงการประกวดนวัตกรรมอาหาร ที่จัดโดยเมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย FI Accelerator ร่วมกับ บริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด ในเครือบุญรอดบริวเวอรี่ และร่วมสนับสนุนโดย ศูนย์การศึกษาด้านการท่องเที่ยวเชิงศิลปวิทยาการอาหารนานาชาติ (iGTC) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท พลังผัก จำกัด
เงื่อนไขการเข้าประกวดตลอด 4 ปี ซึ่งปีนี้เป็นการประกวดปีที่ 5 ไม่หนีกันเท่าไร หลักๆ คือผลิตภัณฑ์ที่ส่งเข้าประกวดต้องไม่เคยปรากฏอยู่ในตลาด ต้องถ่ายทอดความใหม่ของวิธีการ ส่วนประกอบ และวิธีการนำเสนอ หากผ่านเข้ารอบคัดเลือกจะต้องสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ (Prototype) ภายในระยะเวลาโครงการ
ซึ่งโครงการ Food Innopolis Innovation Contest นี้ ได้รับการสนับสนุนและร่วมดำเนินงานอย่างต่อเนื่องจากบริษัท ฟู้ด แฟคเตอร์ จำกัด ในเครือบุญรอด บริวเวอรี่ และบริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด
ทุกปีจะเปิดให้ผู้ที่สนใจสมัครเข้าประกวดใน 3 รุ่น ได้แก่ รุ่น ‘Flyweight’ นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือเทียบเท่า รุ่น ‘Lightweight’ นิสิต-นักศึกษา ระดับปริญญาตรีทุกชั้นปี หรือเทียบเท่า และรุ่น ‘Heavyweight’ สำหรับบัณฑิตศึกษา อาจารย์ นักวิจัย และบุคคลทั่วไป โดยปีนี้มีโจทย์ให้เลือก 2 ธีม คือ ‘Street Food Innovation’ และ ‘Local Fermented Food Innovation’
หากอ่านรายละเอียดเพียงเท่านี้ คงคิดว่าไม่มีอะไรแตกต่างจากการประกวดค้นหานวัตกรรมอาหารทั่วๆ ไป แต่ตลอดระยะเวลาที่ได้คุยกับ ดร.เอกอนงค์ จางบัว ผู้อำนวยการฝ่าย เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ดร.ปรเมษฐ์ ชุ่มยิ้ม ที่ปรึกษาอาวุโส และผู้จัดการแพลต Food Innopolis Accelerator ในฐานะผู้จัดการโครงการนี้ มุมมองต่อการประกวดนวัตกรรมอาหารของเราก็เปลี่ยนไปทันที
เริ่มตั้งแต่วัตถุประสงค์โครงการ ดร.เอกอนงค์บอกว่าตั้งใจใช้โครงการนี้กระตุ้นให้กับคนสนใจเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ๆ โดยที่นวัตกรรมนั้นต้องสามารถต่อยอดออกสู่ตลาดได้จริง ไม่อยู่แต่ในห้องทดลอง โครงการนี้จึงมีการอบรมให้ความรู้ตั้งแต่กระบวนการคิดเชิงออกแบบหรือ Design Thinking การสร้างโมเดลธุรกิจ การให้คำปรึกษาในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงเปิดโอกาสให้ผู้ที่ผ่านเข้ารอบทุกคนได้ต่อยอดกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนต่างๆ
“โครงการนี้ไม่ใช่แค่โครงการประกวดแล้วจบ มันมีเส้นทางของการทำงาน ตัวโครงการใช้ระยะเวลา 6-8 เดือน มีเซ็กชันของการให้ความรู้ระหว่างทาง เพื่อให้เขากลับไปพัฒนาแนวคิดเชิงธุรกิจ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ส่งเข้าประกวด ทุกคนที่ผ่านเข้ามายังรอบสุดท้ายจะได้อยู่บนเส้นทางของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ เราจะช่วยบ่มเพาะองค์ความรู้ ทั้งในแง่แนวคิดธุรกิจ การสร้างโมเดลธุรกิจ ร่วมไปถึงการทำผลิตภัณฑ์ ทำออกมาเป็นต้นแบบได้จริงๆ กินได้จริงๆ พร้อมที่จะขึ้น Demo Day”
ดร.ปรเมษฐ์ ชุ่มยิ้ม ในฐานะผู้จัดการโครงการ กล่าวเสริมว่า “นี่เป็นเวทีที่เด็กจะตื่นตัวกันมาก เพราะเวทีที่ผ่านๆ มาเด็กสายวิทย์ก็จะประกวดผลงานที่เน้นการโชว์ผลงานวิทยาศาสตร์หนักๆ สิ่งประดิษฐ์ที่น่าสนใจ แต่มันขายไม่ได้ แต่โครงการนี้ผู้เข้าประกวดจะต้องตื่นตัวและตระหนักเลยว่า ผลงานที่ทำออกมาจะต้องจับทั้งสองแกนคือ วิทยาศาสตร์ก็ต้องแม่น สินค้าผลิตออกมาแล้วต้องขายได้ จึงทำให้ผู้เข้าประกวดโครงการนี้ต้องผสมผสานระหว่างความเข้าใจเรื่องการพัฒนานวัตกรรมที่เอาวิทยาศาสตร์มาจับ กับทำอย่างไรให้ขายได้ จึงต้องเข้าใจเรื่องโมเดลธุรกิจ กลยุทธ์ ราคา เราจึงต้องการทีมที่ไม่ได้เป็นแค่นักวิทยาศาสตร์ที่ทำของได้ แต่คุณต้องทำของที่ใหม่ ใช่ โดน มีคนซื้อให้ได้”
ดร.ปรเมษฐ์ยังบอกด้วยว่า เด็กสายวิทย์ที่เข้าโครงการจะได้เรียนเกี่ยวกับด้านธุรกิจเพิ่มเติม กลับกันเด็กสายธุรกิจก็ต้องเรียนรู้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ เพราะคุณต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอาหาร ที่สำคัญยังเป็นเวทีที่ไม่จำกัดสาย ไม่ตีกรอบไอเดีย แม้ชื่อจะฟังดูเหมือนต้องใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เป็นสารตั้งต้น แต่ทุกคนเรียนรู้ได้
“ความน่าสนใจคือ มันเป็นโครงการที่กระตุ้นให้เด็กมีระเบียบวินัยมากๆ เพราะเราต้องการสร้างคนที่เขาจะเติบโตไปเป็นผู้ประกอบการในอนาคต ดังนั้นเขาต้องคิดรอบด้านเป็น นี่คือเป้าหมายของโครงการ
“การที่เราผสมผสานทั้งในฝั่งที่ทำให้คนที่เรียนสายวิทย์ พูดภาษาที่คนทั่วไปฟังเข้าใจ ทำของได้ ก็ต้องขายของเป็นด้วย มองไปแล้วจริงๆ มันก็เหมือนกับโลกทุกวันนี้ คุณจะเก่งด้านเดียวไม่ได้ ซึ่งสำหรับผู้เข้าประกวดรุ่นมัธยมศึกษาจะได้ตรงนี้มาก ถ้าเป็นรุ่นปริญญาตรีก็จะได้ในมุมที่ว่าคุณเรียนมาเยอะแล้ว จะออกไปสู่ชีวิตจริงๆ โครงการนี้จะช่วยให้เขารู้ว่าน้ำลึกข้างหน้าจริงๆ เป็นอย่างไร ในขณะที่รุ่นใหญ่หลายๆ ทีมก็เป็นคนที่อยู่ในธุรกิจอยู่แล้ว แต่อาจจะยังไม่ค่อยคมนักในการปรับโมเดลทางธุรกิจ หรือปรับผลิตภัณฑ์ให้โดนใจตลาด โครงการนี้ก็จะมาช่วยเหลาเขาให้คมขึ้นจากสิ่งที่เราเติมให้ระหว่างทาง ทุกรุ่นจะต้องอยู่ในกระบวนการของการเรียนรู้ ทดลองทำ เรียนรู้ใหม่ และทดลองทำ แบบนี้กลับไปกลับมาเรื่อยๆ เพื่อเติมเต็มสิ่งที่เขาจะนำเสนอในวัน Demo Day ซึ่งเป็นวันตัดสินผู้ชนะการประกวดในโครงการนี้” ดร.เอกอนงค์
โจทย์การแข่งขันปีนี้ Street Food Innovation และ Local Fermented Food Innovation
เมื่อถามว่าในแต่ละปีมีการเลือกโจทย์อย่างไร ใช้อะไรเป็นเกณฑ์ ทั้งสองท่านบอกว่า หลักๆ คือ เทรนด์การพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารโลกและเทรนด์นั้นต้องสร้างอิมแพ็กให้กับประเทศไทยด้วย
“ปีนี้มี 2 โจทย์คือ Local Fermented Food Innovation เพราะเราต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจอาหารหมักดอง ในเมืองไทยมีอาหารกลุ่มนี้เยอะมาก แต่ยังไม่ค่อยมีใครใส่นวัตกรรมเข้าไปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ของมันก็จะราคาถูก อีกอันคือเรื่องของ Street Food Innovation พอมีโควิดคนก็จะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของอาหารที่เราเลือกซื้อมากขึ้น เช่น อาหารปรุงสุกพร้อมรับประทานจาก Street Food ถ้าเราสามารถทำให้ Street Food เป็นอีกเลเวลหนึ่งได้ หรือหยิบขึ้นมาตกแต่งให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ น่าจะช่วยให้คนมีอาชีพได้เยอะ” ดร.ปรเมษฐ์กล่าว
ดร.เอกอนงค์เสริมว่า “ทุกวันนี้เราพูดถึง Future Food กันเยอะ ซึ่งคืออาหารอนาคต และสิ่งที่กำหนดอนาคต คือปัจจุบัน หมายความว่าปัจจุบันเราอยู่กับสถานการณ์โควิดซึ่งทำให้เราคิดกันมาก ว่าเราควรกินอะไรและอาหารในอนาคตของเราจะเป็นแบบไหน อย่างอาหารหมักดองบ้านเรากินแบบนี้มานานแล้ว แต่ไม่มีใครยกมันขึ้นมาพูดกันมากนักในมุมอาหารสุขภาพ กระบวนการผลิตอาหารหมักดองทำให้เราได้กินจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ ซึ่งตอบโจทย์เทรนด์อาหารเสริมภูมิต้านโรค ในยุคนี้อย่างมาก”
ส่ององค์ความรู้ใน Bootcamp
อีกหนึ่งกิมมิกที่น่าสนใจสำหรับโครงการนี้ นอกจากหมวดของเทคโนโลยีที่ต้องเรียนเหมือนกัน คือผู้สมัครทุกรุ่นต้องเติมสกิลด้านธุรกิจโดย ดร.ปรเมษฐ์ เป็นผู้สอนหลัก ร่วมกับวิทยากรที่มีประสบการณ์มาช่วยกันเติมความรู้ให้กับผู้เข้าแข่งขันที่ผ่านเข้ารอบ และโครงการนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจทั่วไปสามารถลงทะเบียนมาร่วมฟังได้ จากนั้นประกวดในธีมไหน ก็จะได้ไปต่อยอดองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ โดยด้าน Fermented Food ก็จะลงลึกเรื่องของเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับอาหารหมักดอง ประวัติศาสตร์ที่มาของการหมักดอง ส่วนสาย Street Food มีการเชิญผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จมาช่วยชี้จุดอ่อน มองหาจุดแข็งของตลาดนี้
“อีกสิ่งที่เราเติมให้คือเรื่อง Creativity เราทำงานร่วมกับ CEA (Creative Economy Agency) ซึ่งเป็นพาร์ตเนอร์ใหม่ของเราในปีนี้ ที่มีเรื่องความคิดสร้างสรรค์และฐานข้อมูล แนวคิดผลิตภัณฑ์ แล้วก็ iGTC (International Gastronomy Tourism Centre) ศูนย์การศึกษาด้านการท่องเที่ยวเชิงศิลปวิทยาการอาหารนานาชาติ มาช่วยเติมเต็มในเรื่องความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง” ดร.เอกอนงค์กล่าว
นอกจากนั้นยังมีการสอนการนำเสนอธุรกิจแบบมืออาชีพ การเตรียมพรีเซนเทชัน เมื่อเรียนแล้วต้องซ้อมกับ ดร.ปรเมษฐ์ ก่อนจะถึง Demo Day เขาบอกว่าเป็นการฝึกความอดทนจากการถูกวิพากษ์วิจารณ์จากคณะกรรมการ
“ผมจะบอกทุกคนเสมอว่า ตอนนี้เรากำลังคอมเมนต์ในบทบาทของนักธุรกิจ ดังนั้นคุณต้องคิดว่าตัวเองใส่หมวกของผู้ประกอบการ เราไม่ได้คอมเมนต์ด้วยสกิลของการเป็นเด็กมัธยมศึกษาแล้วลงประกวดชิงรางวัล” พูดง่ายๆ ก็คือการสร้างให้ผู้เข้าประกวดมี Growth Mindset ต้อง ‘เปิด’ เพื่อ ‘รับ’
“บอกได้เลยว่าคณะกรรมการของเราให้คอมเมนต์กันเข้มข้นมาก มองย้อนกลับไป ทุกคอมเมนต์ของกรรมการ ถ้าผู้เข้าประกวดปรับอย่างที่เราแนะนำ จะช่วยให้เขาเติบโตได้ต่อจริงๆ” ดร.เอกอนงค์กล่าว
ความน่าสนใจของผู้แข่งขันปีนี้
ดร.ปรเมษฐ์เล่าว่า ฝั่งผู้แข่งขันโจทย์อาหารหมักดองมีไอเดียน่าสนใจเยอะ เนื่องด้วยเมืองไทยมีเอกลักษณ์ของอาหารหมักดองในแต่ละท้องถิ่น เด็กที่ได้รับการคัดเลือกในแต่ละภาคจะหยิบจุดเด่น ของดีของแต่ละภาคมานำเสนอ
“นั่นคือสิ่งที่เรามองหา เราอยากเห็นอีกเวอร์ชันของอาหารหมักดอง ในขณะที่สตรีทฟู้ดก็เช่นเดียวกัน เราอยากเห็น Creativity ที่มาพร้อมกับนวัตกรรม ถ้ามันร่วมกันได้มันจะสนุกมาก เราคัดเลือกผู้สมัครจากหลายร้อยทีมจนเหลือเพียง 40 ทีมใน 3 รุ่น และเปิดโอกาสให้ทุกทีมสามารถเปลี่ยนโจทย์ได้ระหว่างทาง 1 ครั้ง เพราะนี่มันเป็นธรรมชาติของการทำธุรกิจ ที่คุณสามารถปรับเปลี่ยนไอเดียได้ระหว่างที่ทำธุรกิจ” ดร.ปรเมษฐ์กล่าว
ฝั่งผู้เข้าแข่งขันรุ่น Heavyweight (รุ่นบุคคลทั่วไป) ดร.ปรเมษฐ์จะใช้เลนส์อีกแบบในการมองเนื่องจากเป็นรุ่นใหญ่ จึงต้องมองในมิติที่ลึกลงไป นอกจากไอเดียสดใหม่ เราจะดูไปถึงความสามารถในการสเกลอัพ มองหาอะไรที่มากกว่าตลาดเมืองไทย
“เราสร้างนักธุรกิจจากนักวิทยาศาสตร์ง่ายกว่า ถ้าเรามีนักวิทยาศาสตร์ที่เข้าใจธุรกิจ มันก็จะมีความสามารถในการเข้าใจโลกว่าตลาดต้องการอะไร ซึ่งคนกลุ่มนี้เข้าใจเทคโนโลยีอยู่แล้ว ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่ออกมามันก็เป็นสิ่งที่เกิดจาก Pain Point ของคน”
ดร.เอกอนงค์ยังบอกต่อว่า ทุกปีจะมี Success Case ที่น่าสนใจมากมาย ถ้าคุณเคยได้ยินชื่อ ‘Trumpkin’ แบรนด์ Vegan Cheese ที่นำเมล็ดฟักทองมาทำเป็นชีส นี่คืออดีตผู้เข้าประกวดรุ่นปริญญาตรี หรือรุ่น Lightweight ที่คว้าชัยชนะและกลับมาประกวดอีกครั้งในรุ่นประชาชนทั่วไป หรือ Heavyweight ก่อนก้าวกระโดดไกลไปเข้าอีกโปรแกรมของ FI Accelerator คือ Deep Tech Acceleration by NSTDA
“ในการทำงานของ FI Accelerator เราจะมีเส้นทางที่คอยซัพพอร์ตคนเหล่านี้ เรามีโปรแกรม Deep Tech Acceleration by NSTDA ในสาขาที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมอาหาร เพื่อสร้างธุรกิจ Deep Tech Start-up ซึ่ง ‘Trumpkin’ ก็มาสมัครร่วมในโครงการ และตอนนี้ทำ Prototype ทดลองผลิต และจดทะเบียนตั้งเป็นบริษัทเรียบร้อย เราก็ผลักดันช่วยให้พวกเขาไปขอทุน TED Fund ในการนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ ช่วยสนับสนุน ผลักดัน และเชื่อมโยงให้คุยกับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ”
หรือแม้แต่ Meat Avatar Start-up ที่ทำนวัตกรรมเนื้อจากพืช ก่อนที่พวกเขาจะสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างที่เห็น และได้รับการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ นี่คือเวทีที่ลับคมพวกเขาด้วยเช่นกัน
“Meat Avatar คือตัวอย่างของผู้เข้าแข่งขันที่ไม่ต้องคว้ารางวัลชนะเลิศ แต่ก็สามารถสเกลอัพตัวเองให้เติบโตได้ ใครที่ผ่านเวทีนี้และไม่หยุดที่จะทำต่อ ส่วนมากก็ประสบความสำเร็จในทางของเขา” ดร.ปรเมษฐ์กล่าว
อึกหนึ่งจุดเด่นของโครงการคือ เด็กรุ่นมัธยมศึกษาตอนปลายที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายจะได้สิทธิ์ TCAS เข้ามหาวิทยาลัยในคณะที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร อีกฟากคืออาจารย์มหาวิทยาลัยที่มาดูการประกวดก็จะมาจองเด็ก เพราะเขาต้องการให้เด็กกลุ่มนี้ไปเรียนสายในมหาวิทยาลัยของเขา และถ้าเด็กคนไหนต้องการศึกษาต่อในคณะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอาหาร การได้สิทธิ์ TCAS คือเครื่องการันตีได้ว่าพวกเขาลอยลำแน่นอน
“ทุกปีจะมีเด็กมหาวิทยาลัยที่ไปเตะตาบริษัทอาหารขนาดใหญ่ บางปีก็มา Recruit กันที่งาน เพราะเขามองหานักวิทยาศาสตร์ที่มีสกิลรอบด้าน เข้าใจตลาด และสร้างนวัตกรรมได้ ส่วนรุ่นใหญ่ ตัวผมเองทำงานกับ THAIFEX-Anuga Asia ซึ่งเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย เราก็จะมีพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้ไปสร้างโอกาสให้กับตลาดต่างประเทศ” ดร.ปรเมษฐ์เล่าเสริม
แพ้ชนะวัดกันที่ตรงไหน
ทั้งสองท่านบอกว่า ดูหลายส่วนประกอบกัน ตั้งแต่ไอเดียที่น่าสนใจ ตรงกับธีมที่กำหนดหรือไม่ ผลิตออกมาได้จริงหรือเปล่า แน่นอนว่าต้องกินได้ ถ้าอร่อยด้วยก็ยิ่งดี ไปจนถึงการดูต้นทุนการผลิต แผนการตลาด คะแนนการพรีเซนต์ ทุกอย่างมีผลต่อการตัดสินด้วยกันทั้งสิ้น และใครจะเชื่อว่าเวทีนี้มี ‘คะแนนจิตพิสัย’ ที่อาจพลิกเกมจากผู้ใกล้แพ้ให้กลายเป็นผู้ชนะได้
“บางทีมเฉือนกันด้วยคะแนนนี้นะ คะแนนจิตพิสัยเราดูและให้คะแนนตลอด 6 เดือน เราจะได้เห็นว่าแต่ละทีมมี Performance ที่ดีหรือไม่ ส่งงานตรงเวลาไหม มี Growth Mindset หรือไม่ สามารถโค้ชได้หรือเปล่า ถ้าเรารู้สึกว่าสอนยาก ตามงานยาก ต่อให้เก่งคุณก็พ่ายได้
“เพราะการที่คุณจะเป็นผู้ประกอบการที่ดี คุณต้องเป็นคนรักษาสัญญา ตรงต่อเวลา และเปิดใจ” ดร.ปรเมษฐ์กล่าวทิ้งท้าย
ผลงานของผู้เข้าประกวดที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายทุกรุ่น ทั้ง 40 ทีม จะถูกนำมาจัดแสดงใน Demo Day วันที่ 7-9 ตุลาคมนี้ ที่ ICONSIAM ไปร่วมลุ้นและเอาใจช่วย หรือจะไปดูเพื่อหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ก็ได้เช่นกัน