เกิดอะไรขึ้น:
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงทวีความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่นอกประเทศจีนเพิ่มสูงขึ้น โดยประเทศอิตาลีล่าสุดวันนี้ (17 มีนาคม) รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 27,980 ราย อิหร่านรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 14,991 ราย สเปนรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 9,942 ราย เกาหลีใต้รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 8,320 ราย เยอรมนีรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 7,272 ราย ขณะที่ประเทศไทยวันนี้รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมอยู่ที่ 177 ราย จากวานนี้ (16 มีนาคม) จำนวน 147 ราย เพิ่มขึ้น 30 ราย
ทั้งนี้จากความกังวลด้านสถานการณ์การแพร่ระบาดนอกประเทศจีนทำให้ประชาชนทั่วโลกจำนวนมากแห่กักตุนสินค้า อาทิ ข้าวสาร อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป น้ำดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ และอุปกรณ์ทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคต่างๆ
กระทบอย่างไร:
วันนี้ SET Index เคลื่อนไหวผันผวนในแดนบวกสลับกับแดนลบตลอดทั้งวันตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยวันนี้ดัชนีปิดที่ระดับ 1,035.17 จุด ลดลง 10.91 จุด หรือลดลง 1.04%DoD
- ขณะที่หุ้นกลุ่มอาหารในวันนี้เคลื่อนไหวผันผวนตามทิศทางตลาดหุ้นเช่นกัน โดย บมจ.จีเอฟพีที (GFPT) ปิดที่ระดับ 8.10 บาท ลดลง 3.57%DoD
- บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ปิดที่ระดับ 20.30 บาท ลดลง 2.40%DoD
เว้นแต่ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ที่ปรับขึ้นอย่างโดดเด่นและปิดที่ราคา 13.00 บาท เพิ่มขึ้น 1.56%DoD เนื่องจากบริษัทได้ประกาศซื้อหุ้นคืนไม่เกิน 200 ล้านหุ้น หรือ 4.19% วงเงิน 3 พันล้านบาท ช่วงเวลาซื้อคืนตั้งแต่ 1 เมษายน ถึง 30 กันยายน 2563
มุมมองระยะสั้น:
SCBS คาดว่าทิศทางผลประกอบการของหุ้นกลุ่มอาหารจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างจำกัดในระยะสั้น เนื่องจากได้ปัจจัยหนุนชดเชยจากการกักตุนสินค้าท่ามกลางความกังวลด้านสถานการณ์การแพร่ระบาด ซึ่งจะเป็นแรงหนุนต่อทิศทางผลประกอบการในไตรมาส 1 และช่วงต้นของไตรมาส 2 ปี 2563 ได้
สำหรับฐานการผลิตของ GFPT และ TU ยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เว้นแต่ CPF ที่มีฐานการผลิตในประเทศจีน (คิดเป็น 4% ของยอดขายของ CPF) เคยหยุดชะงักลงในช่วงที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในประเทศจีน แต่การผลิตเริ่มทยอยกลับสู่ภาวะปกติแล้วในเดือนมีนาคมนี้
อย่างไรก็ดี หากการกักตุนสินค้าจบลง ประชาชนอาจใช้จ่ายน้อยลง ซึ่งอาจเป็นความเสี่ยงกดดันต่อทิศทางผลประกอบการในอนาคตได้
ทั้งนี้ต้องติดตามจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่นอกประเทศจีนรายวัน หากเริ่มมีจำนวนที่ลดลงจะช่วยคลายความกังวลต่อภาพรวมการลงทุนโดยรวมได้
มุมมองระยะยาว:
SCBS ยังคงมีมุมมองว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะเบาบางลงหลังจากเดือนพฤษภาคม 2563 เนื่องจากอุณหภูมิทั่วโลกเริ่มอุ่นขึ้นตามปัจจัยฤดูกาล รวมถึงการคิดค้นวัคซีนชนิดใหม่จะช่วยยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อได้ ซึ่งจะช่วยให้ภาพรวมการลงทุนเริ่มชัดเจนมากขึ้น และคาดว่าทิศทางเศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวในครึ่งปีหลังของ 2563 อย่างไรก็ดี เริ่มเห็นสัญญาณบวกจากจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจีนลดลงอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงสหรัฐฯ เปิดเผยว่า เริ่มทดลองวัคซีนโควิด-19 กับมนุษย์เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องจับตาต่อไป
ข้อมูลพื้นฐาน:
ติดตามบทวิเคราะห์ ‘วิกฤต COVID-19…อ่านก่อนลงทุน’ ได้จากทาง SCBS