วันนี้ (4 ธันวาคม) เวลา 10.30 น. ภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ความกดอากาศสูงกำลังปานกลางถึงค่อนข้างแรงระลอกใหม่จากประเทศจีน ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากระหว่างวันที่ 22 พฤศจิกายน – 4 ธันวาคม 2567
เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดชุมพร, สุราษฎร์ธานี, นครศรีธรรมราช, พัทลุง, ตรัง, สตูล, สงขลา, ปัตตานี, ยะลา และนราธิวาส รวม 87 อำเภอ 538 ตำบล 3,729 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 664,173 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 29 คน ปัจจุบันมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่
- จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอชะอวด, เฉลิมพระเกียรติ, พระพรหม, อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช, ปากพนัง, หัวไทร และเชียรใหญ่ รวม 68 ตำบล 535 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 48,331 ครัวเรือน ผู้เสียชีวิต 1 คน ปัจจุบันคลองท่าดีมีระดับน้ำลดลง
- จังหวัดพัทลุง เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองพัทลุง, ควนขนุน, ปากพะยูน, บางแก้ว และเขาชัยสน รวม 18 ตำบล 71 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 3,707 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 2 คน ปัจจุบันลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาระดับน้ำลดลง
- จังหวัดสงขลา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอระโนด, สิงหนคร, กระแสสินธุ์ และสทิงพระ รวม 36 ตำบล 221 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 23,643 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 10 คน ปัจจุบันลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาระดับน้ำลดลง
- จังหวัดปัตตานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อำเภอมายอ, ทุ่งยางแดง, หนองจิก, ยะรัง, อำเภอเมืองปัตตานี, สายบุรี และกะพ้อ รวม 41 ตำบล 216 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 65,769 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 7 คน ปัจจุบันแม่น้ำปัตตานีระดับน้ำลดลง
- จังหวัดนราธิวาส เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองนราธิวาส สุไหงโก-ลก และตากใบ รวม 16 ตำบล 64 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 14,444 ครัวเรือน ปัจจุบันแม่น้ำสายบุรีมีระดับน้ำลดลง
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการและเครื่องจักรสาธารณภัย เช่น เครื่องสูบน้ำ, รถสูบน้ำระยะไกล, รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัย, รถผลิตน้ำดื่ม, รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัย, เรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์, เฮลิคอปเตอร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย KA-32 พร้อมด้วย The Guardian Team เข้าให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่เกิดอุทกภัย
นอกจากนี้ยังได้กำชับให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่สำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง
ประชาชนสามารถติดตามการรายงานสถานการณ์ข่าวสารสาธารณภัยได้ทาง Facebook: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย DDPM และ X: กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ติดตามการประกาศแจ้งเตือนภัยได้ทางแอปพลิเคชัน THAI DISASTER ALERT ทั้งระบบ iOS และ Android และหากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสาธารณภัยสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ทาง LINE: ปภ. รับแจ้งเหตุ 1784 โดยเพิ่มเพื่อน LINE ID @1784DDPM และสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง