×

ปภ. เตือน 31 จังหวัดภาคเหนือ อีสาน กลาง ใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ช่วงวันที่ 26-29 ส.ค.

โดย THE STANDARD TEAM
26.08.2024
  • LOADING...

วันนี้ (26 สิงหาคม) เวลา 11.30 น. ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (149/2567) ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2567 เวลา 17.00 น. แจ้งว่าในช่วงวันที่ 26-28 สิงหาคม 2567 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณ สปป.ลาว ตอนบน 

 

ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น 

 

โดยในช่วงวันที่ 27-29 สิงหาคม 2567 ทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร อ่าวไทยตอนบนมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร โดยมีพื้นที่แจ้งเตือนสถานการณ์ระหว่างวันที่ 26-29 สิงหาคม 2567 แยกเป็น

 

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่ม

 

ภาคเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ แม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ปาย และปางมะผ้า) เชียงใหม่ (อำเภอแม่อาย ฝาง เชียงดาว ไชยปราการ พร้าว จอมทอง และฮอด) เชียงราย (อำเภอเมืองเชียงราย แม่สาย เชียงแสน เชียงของ แม่จัน เวียงชัย พญาเม็งราย เวียงแก่น ขุนตาล เทิง ป่าแดด และพาน) ลำปาง (อำเภอวังเหนือ เมืองปาน งาว และเสริมงาม) พะเยา (อำเภอภูซาง ปง เชียงคำ จุน ดอกคำใต้ และภูกามยาว) แพร่ (อำเภอเมืองแพร่ สอง เด่นชัย และวังชิ้น) น่าน (อำเภอเมืองน่าน สองแคว ทุ่งช้าง เชียงกลาง ท่าวังผา เฉลิมพระเกียรติ ปัว และบ่อเกลือ) อุตรดิตถ์ (อำเภอเมืองอุตรดิตถ์ ท่าปลา และทองแสนขัน) ตาก (อำเภอเมืองตาก ท่าสองยาง แม่สอด และแม่ระมาด) สุโขทัย (อำเภอศรีสัชนาลัยและทุ่งเสลี่ยม) พิษณุโลก (อำเภอวังทอง ชาติตระการ วัดโบสถ์ และนครไทย) และเพชรบูรณ์ (อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ หล่มเก่า และหล่มสัก)

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 จังหวัด ได้แก่ เลย (อำเภอนาแห้ว ด่านซ้าย ภูเรือ ท่าลี่ และเชียงคาน) หนองคาย (อำเภอเมืองหนองคายและสังคม) บึงกาฬ (อำเภอเมืองบึงกาฬ บุ่งคล้า เซกา และโซ่พิสัย) หนองบัวลำภู (อำเภอสุวรรณคูหา) และอุดรธานี (อำเภอนายูง บ้านดุง และน้ำโสม)

 

ภาคกลาง 8 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี (อำเภอสังขละบุรีและทองผาภูมิ) นครนายก (อำเภอเมืองนครนายกและปากพลี) ปราจีนบุรี (อำเภอกบินทร์บุรีและนาดี) ชลบุรี (อำเภอศรีราชาและบางละมุง) ระยอง (อำเภอเมืองระยอง แกลง และบ้านค่าย) จันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี เขาคิชฌกูฏ สอยดาว โป่งน้ำร้อน มะขาม และขลุง) ตราด (ทุกอำเภอ) และประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอบางสะพานและบางสะพานน้อย)

 

ภาคใต้ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง (ทุกอำเภอ) พังงา (อำเภอเมืองพังงา คุระบุรี ตะกั่วป่า กะปง และท้ายเหมือง) ภูเก็ต (ทุกอำเภอ) กระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่ เหนือคลอง อ่าวลึก คลองท่อม ปลายพระยา และเกาะลันตา) ตรัง (อำเภอเมืองตรัง ปะเหลียน นาโยง กันตัง สิเกา ห้วยยอด และวังวิเศษ) และสตูล (อำเภอเมืองสตูล ควนโดน ควนกาหลง ทุ่งหว้า และมะนัง) 

 

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง

 

ภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ ระนอง (อำเภอเมืองระนอง สุขสำราญ และกะเปอร์) พังงา (อำเภอเกาะยาว ตะกั่วทุ่ง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า และคุระบุรี) และภูเก็ต (ทุกอำเภอ)

 

ไชยวัฒน์กล่าวต่อว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานแจ้ง 31 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัย เตรียมพร้อมรับมือกับปริมาณฝนที่ตกหนักบางพื้นที่ที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศ สภาพน้ำ และเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง 

 

โดยเฉพาะการติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด รวมถึงพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้ สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด 

 

สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบออกประกาศหรือติดตั้งสัญญาณเตือนประชาชนที่อยู่บริเวณชายฝั่งทะเล ตลอดจนแจ้งนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำในช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเด็ดขาด นอกจากนี้ ให้จังหวัดประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบแจ้งเตือนไปยังชาวเรือ ผู้บังคับเรือ และผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร ให้เดินเรือด้วยความระมัดระวัง และหากสถานการณ์มีความรุนแรงขึ้น ให้จังหวัดพิจารณาห้ามการเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด 

 

ทั้งนี้ หากประเมินสถานการณ์แล้ว คาดว่าสถานการณ์มีแนวโน้มรุนแรงหรือขยายวงกว้างมากยิ่งขึ้น ให้จังหวัดเตรียมเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ เครื่องจักรกลสาธารณภัย และวัสดุอุปกรณ์ ให้พร้อมออกช่วยเหลือประชาชนได้ทันทีที่เกิดสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ สถานการณ์น้ำ และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น 

 

สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยในระยะนี้ ขอให้ติดตามสภาพอากาศ ประกาศการแจ้งเตือนภัย สถานการณ์น้ำในพื้นที่ และข่าวสารจากทางราชการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น โดยสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน THAI DISASTER ALERT และหากพบความเดือดร้อนสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทาง LINE ปภ. รับแจ้งเหตุ 1784 โดยเพิ่มเพื่อน LINE ID @1784DDPM รวมถึงสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising