×

เตือน 30 จังหวัด เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลาก-น้ำท่วมขัง-น้ำล้นตลิ่ง 17-20 ก.ย. นี้

โดย THE STANDARD TEAM
15.09.2022
  • LOADING...
สถานการณ์น้ำ

วันนี้ (15 กันยายน) เวลา 14.20 น. กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสถานการณ์ปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง น้ำท่า และปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ประกอบกับกองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้มีประกาศฉบับที่ 39/2565 ลงวันที่ 14 กันยายน 2565 แจ้งว่า ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนตกต่อเนื่องและมีฝนตกหนักบางพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 17-20 กันยายน 2565 ดังนี้ 

 

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลากและน้ำท่วมขัง 

 

ภาคเหนือ 

  • เชียงใหม่ (อำเภอเวียงแหงและอำเภออมก๋อย) 
  • แพร่ (อำเภอร้องกวาง) 
  • น่าน (อำเภอปัวและอำเภอบ่อเกลือ) 
  • ลำปาง (อำเภอแจ้ห่ม, อำเภอเมืองลำปาง และอำเภอเกาะคา) 
  • กำแพงเพชร (อำเภอคลองลาน) 
  • ตาก (อำเภอท่าสองยาง, อำเภอแม่ระมาด, อำเภอแม่สอด, อำเภอพบพระ, อำเภออุ้มผาง, อำเภอวังเจ้า และอำเภอเมืองตาก)
  • อุตรดิตถ์ (อำเภอฟากท่า) 
  • พิษณุโลก (อำเภอชาติตระการและอำเภอนครไทย) 
  • เพชรบูรณ์ (อำเภอหล่มสัก, อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ และอำเภอวิเชียรบุรี)

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

  • เลย (อำเภอวังสะพุง)
  • บึงกาฬ (อำเภอโซ่พิสัย) 
  • ขอนแก่น (อำเภอหนองเรือ, อำเภอบ้านฝาง, อำเภอเมืองขอนแก่น, อำเภอพระยืน และอำเภอมัญจาคีรี)
  • กาฬสินธุ์ (อำเภอยางตลาด)
  • ชัยภูมิ (อำเภอคอนสารและอำเภอหนองบัวแดง)
  • อำนาจเจริญ (อำเภอเสนางคนิคมและอำเภอชานุมาน)
  • อุบลราชธานี (อำเภอเมืองอุบลราชธานี, อำเภอดอนมดแดง, อำเภอสว่างวีระวงศ์, อำเภอพิบูลมังสาหาร และอำเภอเขมราฐ)
  • ยโสธร (อำเภอมหาชนะชัย)
  • นครราชสีมา (อำเภอโนนไทย, อำเภอโนนสูง และอำเภอเมืองนครราชสีมา) 
  • ศรีสะเกษ (อำเภอราษีไศล) 

 

ภาคกลาง

  • กาญจนบุรี (อำเภอสังขละบุรี)
  • ราชบุรี (อำเภอบ้านคา)
  • เพชรบุรี (อำเภอหนองหญ้าปล้องและอำเภอแก่งกระจาน)
  • ประจวบคีรีขันธ์ (อำเภอหัวหิน)
  • จันทบุรี (อำเภอนายายอาม, อำเภอท่าใหม่, อำเภอเมืองจันทบุรี, อำเภอแหลมสิงห์ และอำเภอขลุง) 
  • ตราด (อำเภอเขาสมิง, อำเภอแหลมงอบ, อำเภอเมืองตราด, อำเภอคลองใหญ่, อำเภอเกาะช้าง และเกาะกูด)

 

นอกจากนี้ยังพื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขาของแม่น้ำแควน้อย, แม่น้ำป่าสัก, แม่น้ำเจ้าพระยา, แม่น้ำชี, แม่น้ำมูล, แม่น้ำนครนายก, แม่น้ำปราจีนบุรี, แม่น้ำบางปะกง, แม่น้ำระยอง, แม่น้ำจันทบุรี และแม่น้ำตราด 

 

พื้นที่เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) 13 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่, อ่างเก็บน้ำกิ่วลม-กิ่วคอหมาและอ่างเก็บน้ำแม่มอก จังหวัดลำปาง, อ่างเก็บน้ำทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี, อ่างเก็บน้ำกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี, อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น, อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง และอ่างเก็บน้ำมูลบน จังหวัดนครราชสีมา, อ่างเก็บน้ำคลองสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา, อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำทั่วประเทศ

 

กอปภ.ก. จึงได้แจ้งให้ 30 จังหวัดภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง เฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ทราบล่วงหน้า รวมถึงติดตาม ตรวจสอบ และซ่อมแซมแนวคันกั้นน้ำบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำ ระบายน้ำ และพร่องน้ำในพื้นที่ และให้จัดเตรียมเครื่องมือ เครื่องจักรกลสาธารณภัย และชุดปฏิบัติการ เข้าประจำพื้นที่เสี่ยง ให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันที หากมีแนวโน้มจะเกิดสถานการณ์รุนแรงในพื้นที่ ให้จังหวัดดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising