วันนี้ (27 สิงหาคม) นัทรียา ทวีวงศ์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายบริหาร แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี โดยกล่าวว่า ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ได้หารือถึงสถานการณ์น้ำเนื่องจากส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำซากและเป็นปัญหามายาวนานในทุกๆ ปี โดยเฉพาะในปีนี้มีน้ำปริมาณมาก สถานการณ์ฝนตกแตกต่างจากที่ผ่านมา มีภาวะฝนตกเป็นจุดๆ จากปัญหาโลกร้อน ปัญหานี้นับวันจะยิ่งหนักขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นรัฐบาลจึงเสนอ 3 แนวทาง ดังนี้
- ต้องบริหารจัดการไม่ให้สถานการณ์ลุกลามไปมากกว่านี้
- การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนหลังน้ำลด
- การแก้ปัญหาระยะยาว โดยบรรจุเรื่องการบริหารจัดการน้ำเป็นวาระแห่งชาติ
ทั้งนี้เมื่อมีคณะรัฐมนตรีมาบริหารประเทศ รัฐบาลจะบรรจุเรื่องดังกล่าวนี้เป็นวาระเร่งด่วน เพื่อให้รองรับสถานการณ์ได้ทัน
ที่ประชุมยังได้คาดการณ์สถานการณ์น้ำท่วม โดยบางพื้นที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว แต่บางพื้นที่สถานการณ์ยังคงหนักอยู่ เช่น จังหวัดสุโขทัย ซึ่งยอมรับว่าเป็นพื้นที่รองรับน้ำก่อนระบายสู่จังหวัดต่างๆ ถือว่าค่อนข้างหนัก คันกั้นน้ำไม่สามารถรับได้ จึงเกิดการพังทลาย คันกั้นน้ำยังมีปัญหาการเวนคืนที่ดิน รักษาการนายกรัฐมนตรีจึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม ได้นำมาสู่การตั้งศูนย์แก้ปัญหาให้มีเอกภาพ จึงตั้งเป็น ‘ศูนย์อำนวยการสถานการณ์อุทกภัย’ มีอำนาจหน้าที่และการใช้งบประมาณที่ชัดเจน โดยมีรักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นรองประธาน
ส่วนองค์ประกอบที่เหลือคือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ซึ่งจะมีคำสั่งอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง โดยแบ่งภารกิจออกเป็น 2 ส่วน คือ 1. การบริหารจัดการน้ำ การระบายน้ำ การแจ้งเตือน ให้ทราบข่าวว่าน้ำจะมาประมาณไหน ไม่ให้เกิดความตระหนก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคำนวณและยืนยันว่าจะไม่ถึงสถานการณ์ปี 2554 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเป็นผู้ดูแล 2. การดูแลช่วยเหลือประชาชน โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะเป็นหลักในการบูรณาการความช่วยเหลือจากทุกหน่วยงาน
สำหรับงบประมาณที่ใช้นั้นจะมาจากงบประมาณกลาง เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งบางจังหวัดประกาศพื้นที่ภัยพิบัติ จะใช้งบทดลองจ่ายจำนวน 20 ล้านบาท หากไม่เพียงพอ ต้นสังกัดจะขอมาที่งบกลาง แต่เมื่อมีคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมาแล้ว การดำเนินการทุกอย่างจะต้องรวดเร็ว ตอบสนองต่อความเดือดร้อนของประชาชนได้ทันต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
“หน้าที่มีทั้งการป้องกัน แก้ไข เยียวยา และฟื้นฟู ซึ่งต้องดูสถานการณ์รายจังหวัด เช่น จังหวัดน่าน สถานการณ์น้ำท่วมผ่านไปแล้ว จะเข้าสู่กระบวนการเยียวยาและฟื้นฟู ส่วนจังหวัดที่น้ำยังมาไม่ถึงจะป้องกันอย่างไร เช่น จังหวัดนครสวรรค์ หรือต่ำกว่านั้น ก็ต้องหามาตรการป้องกัน แก้ไข ไม่ใช่ทำงานเชิงรับ” นัทรียากล่าว
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หน่วยงานใดที่ให้ความมั่นใจกับรัฐบาลที่แจ้งว่าสถานการณ์อุทกภัยจะไม่ซ้ำรอยปี 2554 นัทรียากล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องฟ้าฝน โดยน้ำจะเดินทางถึงจังหวัดสุโขทัยและนครสวรรค์ จากนั้นจะแยกไปทางซ้ายและขวา
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้เหลืองบกลางเท่าไรสำหรับสถานการณ์น้ำ นัทรียากล่าวว่า ตนไม่ทราบจำนวนงบประมาณ แต่ขอยืนยันว่าจัดสรรงบกลางเพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่