×

จากน้ำท่วมใหญ่ปี 54 สู่น้ำท่วมปี 64 สิบปีผ่านไป วิกฤตจะซ้ำรอยหรือไม่

28.09.2021
  • LOADING...

สืบเนื่องมาจากผลกระทบของพายุเตี้ยนหมู่ ทำให้หลายพื้นที่ในหลายจังหวัดได้รับผลกระทบอย่างหนัก หลายพื้นที่มีฝนตกหนักถึงหนักมาก และเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมแทบจะทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ทางภาคกลางตอนเหนือกับภาคอีสาน เช่น จังหวัดนครราชสีมา, ชัยภูมิ, เพชรบูรณ์ หรือจังหวัดนครสวรรค์ ที่มีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นสูงอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชาชนหลายรายได้รับความเดือดร้อนและความเสียหายอย่างหนัก 

 

หลายคนตั้งคำถามว่า น้ำท่วมในปี 2564 จะหนักหนาและร้ายแรงเท่าน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 หรือไม่

 

THE STANDARD NOW หาคำตอบจาก สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) และ ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตประธานคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

 

ภาพรวมน้ำท่วม 2564

  • สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า เวลานี้ฝนที่มากับพายุเตี้ยนหมู่มีแนวโน้มว่าจะลดลง ฉะนั้นสถานการณ์จึงทรงตัว ไม่ถูกซ้ำเติม และพื้นที่ที่ท่วมอยู่แล้วก็สามารถเริ่มระบายน้ำได้ เชื่อว่าสักพักสถานการณ์จะดีขึ้น โดยก่อนหน้านี้ที่หลายพื้นที่ได้รับผลกระทบหนักนั้นเป็นเพราะมีพายุเข้าและลมมรสุมก็รุนแรง อย่างไรก็ตาม นับจากนี้สถานการณ์ฝนน่าจะดีขึ้น แต่สถานการณ์น้ำท่วมนั้นคงต้องใช้เวลาสักพักจึงจะคลี่คลายได้ หากฝนหยุดตก การระบายน้ำก็จะทำได้ดีขึ้นตามลำดับ

 

  • “เบื้องต้นฝนจะอยู่กับเราไปจนถึงเดือนตุลาคม โดยคาดว่าช่วงสัปดาห์แรกๆ ของเดือน น่าจะมีพายุเข้ามาอีกหนึ่งลูกทางจังหวัดเลยและจังหวัดน่าน แต่ก็ยังมีโอกาสที่เส้นทางของพายุจะแกว่งได้ ทั้งนี้ ร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนไปยังภาคใต้ ทำให้จากนี้ภาคใต้จะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นถึงเดือนพฤศจิกายน และมีโอกาสเกิดอุทกภัยแบบในภาคกลางและภาคเหนือ” สุทัศน์กล่าว

 

  • นอกจากนี้กรณีอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรที่จังหวัดนครราชสีมาชำรุดนั้น ย้ำว่าเป็นเพียงการชำรุด ไม่ได้แตกหรือพังทลายแต่อย่างใด เพราะเป็นช่วงที่อ่างเก็บน้ำกำลังซ่อมแซมอยู่ โดยการที่อ่างเก็บน้ำชำรุดนั้นจะส่งผลกระทบต่อจังหวัดนครราชสีมาด้วย โดยเตือนไปยังจังหวัดใกล้เคียง เช่น จังหวัดชัยภูมิ, สุรินทร์, ศรีสะเกษ ที่อาจต้องเตรียมการรับมือหากว่าจะมีน้ำไหลบ่าเข้ามา ส่วนทางภาคกลางคือจังหวัดลพบุรีกับสุโขทัย ในเวลานี้ก็มีน้ำเยอะ โดยเป็นน้ำที่มาจากพายุและน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่มอกด้วย

 

 น้ำจะท่วม กทม. หรือไม่? 

  • “สำหรับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ กทม. แนะว่าควรเตรียมตัวรับมืออย่างปกติคือ รับมือกับฝนที่ตกเป็นจุดๆ ซึ่งใช้เวลาในการระบายออกไม่นาน ส่วนปัญหาน้ำล้นจากแม่น้ำเจ้าพระยานั้น ทาง กทม. ก็มีการป้องกันไว้อย่างดี โดยมีคันกั้นน้ำที่สูงขึ้นจากปี 2554 ด้วย เพราะน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 มีสาเหตุมาจากคันกั้นน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาแตก ทำให้ท่วมมาถึง กทม. แต่ในปีนี้มีการดูแลคันกั้นน้ำเป็นอย่างดี ปัจจุบันก็ยังไม่มีคันกั้นน้ำแตกแต่อย่างใด ยืนยันว่าไม่ซ้ำรอยปี 2554 อย่างแน่นอน” 

 

  • สุทัศน์กล่าวว่า หากจะดูปริมาณน้ำที่จะส่งผลกระทบต่อคนในกรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียง ให้ดูปริมาณน้ำจากเขื่อนภูมิพล, สิริกิติ์, แควน้อย, ป่าสัก และเจ้าพระยา ทั้งนี้ พื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นในนั้นอยู่ใกล้คันกั้นน้ำ จึงต้องระวังแต่ปริมาณน้ำฝนที่อาจจะมีมากขึ้นเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องระวังเรื่องอื่น หากกังวลสามารถตรวจสอบในแอปพลิเคชัน thaiwater.net เพื่อตรวจดูความเคลื่อนไหวและข่าวสารของน้ำได้

 

ถอดบทเรียนน้ำท่วม 2554

  • ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตประธานคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กล่าวว่า ปี 2554 เป็นปีที่น้ำมากที่สุดในรอบ 100 ปี โดยค่าเฉลี่ยอัตราน้ำฝนประเทศไทยอยู่ที่ 1,300 มม. แต่ปี 2554 นั้นมีปริมาณน้ำฝนถึง 1,800 มม. มากกว่าที่เคย 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังมีพายุเข้ามา 4 ลูก ขณะที่ปีนี้มีพายุเข้ามาลูกเดียวและเข้ามาในร่องความกดอากาศ ทำให้ร่องส่งพายุออกไปยังที่อื่นได้อย่างรวดเร็ว พายุเตี้ยนหมู่จึงอยู่ในไทยไม่นาน

 

  • “ยืนยันว่า ถึงอย่างไรปีนี้ก็ไม่มีทางเท่าปี 2554 เพราะปริมาณน้ำในเขื่อนทุกเขื่อนน้อยกว่าเป็นเท่าตัว และพายุน้อยกว่า 1 ใน 4 ขณะที่ปี 2554 มีพายุเข้ามาถึง 4 ลูก และเป็นปีที่มีปริมาณน้ำมากที่สุด แปลว่าหากจะให้สถานการณ์เป็นแบบปี 2554 อีก เท่ากับว่าจากนี้ไปฝนต้องตกทุกวินาทีเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำ จึงย้ำว่า ไม่มีทางที่ปีนี้จะเผชิญหน้ากับสถานการณ์เดียวกับเมื่อสิบปีก่อนอย่างแน่นอน อีกทั้งตอนนั้นไม่มีเครื่องมือใดๆ สำหรับการจัดการ กรมบรรเทาสาธารณภัยต่างๆ ก็เพิ่งเกิดขึ้น และมีกรมชลประทานเป็นเจ้าภาพเพียงกรมเดียว” ปลอดประสพกล่าว

 

  • นอกจากนี้ปลอดประสพยังชี้ว่า เวลานี้ประเทศไทยเพิ่งมามีระบบระบายน้ำที่กรุงเทพฯ ขณะที่จังหวัดอื่นๆ ยังไม่มี จึงเสนอให้มีการทำคลองหรือแม่น้ำใหม่ เพื่อสร้างช่องทางและสร้างแรงดันของน้ำ และศึกษาว่าอะไรทำให้ฝนไม่ตกตามฤดูกาล เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเป็นปัญหาจากภาวะโลกร้อนหรืออุณหภูมิโลกเปลี่ยนแปลง หากเป็นเช่นนั้นจริงก็อยากชวนกันคิดว่าแล้วจะแก้ไขกันอย่างไร

 

  • อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดยังน่าเป็นห่วงอย่างมาก โดยหลายจังหวัด เช่น ลพบุรี มีการสั่งอพยพคนออกจากพื้นที่แล้ว เนื่องจากน้ำไหลบ่าเข้าไปยังตัวหมู่บ้าน จนบ้านบางหลังมีระดับน้ำจมสูงกว่า 2 เมตร ขณะที่จังหวัดนครสวรรค์ก็มีประชาชนในพื้นที่จำนวนมากได้รับผลกระทบจากน้ำหลากแล้วเช่นกัน
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising