×

นายกฯ เผยอบอุ่นใจที่ได้ลงพื้นที่ชัยภูมิ เป็นห่วงและติดตามน้ำท่วมพื้นที่อื่นอย่างใกล้ชิด ชี้รับมือได้ ไม่วิกฤตเหมือนในอดีต

โดย THE STANDARD TEAM
30.09.2021
  • LOADING...
Prayut Chan-o-cha

วันนี้ (30 กันยายน) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า เมื่อผมได้รับรายงานว่าจังหวัดชัยภูมิ เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ผมจึงไม่รอช้าที่จะเดินทางลงพื้นที่ไปติดตามสถานการณ์เมื่อวานนี้ (29 กันยายน) เพื่อให้กำลังใจพี่น้องประชาชนชาวชัยภูมิ รวมถึงมอบนโยบายให้ทางจังหวัดเร่งรัดแก้ไขสถานการณ์อย่างเต็มที่ แม้ว่าผมจะใช้เวลาไม่นานนัก แต่ส่วนตัวก็มีความรู้สึกอบอุ่นทุกครั้งที่ได้กลับมาที่ชัยภูมิ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคุณแม่ของผม ผมจึงเดินทางมาด้วยความห่วงใย ได้มาเห็นปัญหาที่ยังมีอีกมาก และต้องเร่งแก้ไขให้สำเร็จ ทั้งเรื่องปัญหาน้ำท่วม รวมไปถึงการพัฒนาจังหวัดหลังจากน้ำท่วมคลี่คลายลงแล้วด้วย

 

สิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกได้จากทุกๆ ครั้งที่ลงพื้นที่ นั่นคือการได้เห็นพี่น้องคนไทยจำนวนมากที่ประสบภัย แต่สามารถปรับตัวตามสถานการณ์ได้ ทุกคนยังมีรอยยิ้ม ซึ่งเป็นรอยยิ้มของนักสู้ ที่สร้างกำลังใจให้แก่กัน ทั้งๆ ที่เจตนาแรกเริ่มของผมคือการเดินทางไปปลอบขวัญผู้ประสบภัยถึงพื้นที่ แต่ผมเองกลับได้รับกำลังใจกลับคืนมาทุกครั้ง ผมจึงขอส่งต่อกำลังใจและสิ่งดีๆ เหล่านั้น ไปสู่เจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย และอาสาสมัครทุกคนในพื้นที่ โดยเฉพาะบุคลากรทางการแพทย์ที่ถือว่าต้องแบกรับภาระเพิ่มเป็นสองเท่า ทั้งโควิด ทั้งน้ำท่วม

 

ใจจริงแล้วผมอยากจะลงพื้นที่ไปช่วยเหลือพี่น้องประชาชนให้ได้มากที่สุด เพราะผมทราบดีว่าทุกวินาทีคือความทุกข์ยากของพี่น้องร่วมชาติ แม้ว่าในบางพื้นที่ผมอาจจะยังไม่ได้ลงไป แต่ก็มีความห่วงใยอยู่เสมอ และได้ติดตามวิกฤตน้ำท่วมอย่างใกล้ชิด ผมได้สั่งการให้รายงานสถานการณ์มายังผมอย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะได้สั่งการผ่านกลไกในระดับรัฐบาล ลงไปยังระดับท้องถิ่น สนับสนุนการแก้ปัญหาของแต่ละพื้นที่ ให้ดูแลพี่น้องผู้ประสบภัยอย่างทั่วถึงจนกว่าน้ำจะลด แล้วเข้าสู่การเยียวยาและฟื้นฟูต่อไป

 

จากการที่ผมได้ลงไปติดตามสถานการณ์ในหลายๆ พื้นที่ พบว่าโดยภาพรวมแล้วยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรับมือได้ ปัจจัยหนึ่งเป็นเพราะแต่ละจังหวัดได้มีการดำเนินการตามแผนรับมืออุทกภัยระดับประเทศ ที่ ครม. ได้กำหนดไว้เมื่อเดือนมิถุนายน สำหรับหน้าฝนปีนี้ ซึ่งมี 10 มาตรการคือ

 

  1. คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนทิ้งช่วง โดยจะมีการประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ เพื่อเตรียมแผนในเชิงป้องกันล่วงหน้า

 

  1. การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก รวมทั้งการจัดทำแผนการชดเชยให้แก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการผันน้ำเข้าทุ่ง

 

  1. ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลาง และเขื่อนระบายน้ำ โดยติดตามสถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลาง เพื่อเฝ้าระวังและควบคุมการบริหารจัดการน้ำรวม และจัดทำแผนการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดใหญ่-กลางในช่วงภาวะวิกฤต

 

  1. ซ่อมแซมปรับปรุงอาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำสถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน โดยตรวจสอบสภาพความมั่นคง และซ่อมแซมอ่างเก็บน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำ รวมทั้งระบบระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง

 

  1. ปรับปรุงแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ สำรวจ และดำเนินการกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำที่เกิดจากการก่อสร้างและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการปรับปรุงคูคลอง เพื่อเพิ่มพื้นที่รับน้ำ และระบายน้ำได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

 

  1. ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา กำจัดวัชพืชในแม่น้ำและคูคลองทั่วประเทศ ด้วยการบูรณาการเครื่องจักรเครื่องมือในการกำจัดผักตบชวาและวัชพืชของทุกหน่วยงาน

 

  1. เตรียมพร้อมและวางแผนเครื่องจักรเครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนน้อยกว่าค่าปกติ เตรียมพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน และเข้าช่วยเหลือได้ทันสถานการณ์ ตลอด 24 ชั่วโมง

 

  1. เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ วางแผนการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ

 

  1. การสร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์

 

  1. ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์

 

ดังนั้นผมจึงขอให้ทุกพื้นที่ ดำเนินการตาม 10 มาตรการนี้ให้ได้มากที่สุด เพื่อเตรียมการและลดความเสี่ยงจากอุทกภัย ทั้งในปีนี้และปีต่อๆ ไปด้วยนะครับ

 

จากการประเมินสถานการณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากไม่มีพายุเข้ามาอีก น้ำท่วมขังจะค่อยๆ ลดลงจนหมดภายใน 10-15 วัน ผมได้สั่งการย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ว่าการทุกจังหวัดที่ประสบเหตุ ได้เร่งระบายน้ำอย่างเต็มที่ รวมทั้งการเข้าไปดูแลประชาชนที่ประสบภัยให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ เรายังได้ทำการประเมินความเสี่ยง เพื่อวางแผนรับมือสำหรับจังหวัดในเขตพื้นที่ตอนล่าง รวมถึงกรุงเทพฯ และปริมณฑลไว้ด้วย ซึ่งจากแผนเผชิญเหตุและการเตรียมพร้อมล่วงหน้าของเราในปีนี้ ผมจึงเชื่อว่าสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ จะไม่เหมือนกับวิกฤตในอดีตที่ผ่านมา

 

สุดท้ายนี้ ผมขอแนะนำ 4 แอปพลิเคชันที่รัฐบาลได้จัดทำขึ้น สำหรับแจ้งเตือน ให้คำแนะนำ และรับแจ้งเหตุ จากเฟซบุ๊ก ‘ศูนย์ปฏิบัติการนายกรัฐมนตรี’ เพื่อติดตามสถานการณ์ด้วยตนเองอีกทางหนึ่งครับ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X