×

น้ำท่วมปีนี้จะซ้ำรอยปี 54 หรือไม่? วิเคราะห์ภาพรวมน้ำท่วมจนถึงปัจจุบัน

25.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • เมื่อมองจากภาพรวมของปริมาณน้ำและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบันแล้ว ดร. สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) วิเคราะห์ว่าเหตุการณ์ในปีนี้ไม่น่าจะซ้ำรอยปี 2554 อย่างแน่นอน เพราะปริมาณน้ำภาคเหนือและพื้นที่ท่วมน้อยกว่าหลายเท่า
  • พื้นที่ที่ยังอยู่ในภาวะวิกฤตคือบริเวณเขื่อนอุบลรัตน์ที่รับน้ำเกินความจุของเขื่อนไปแล้ว ปัจจุบันรองรับอยู่ที่ 120% เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องระบายน้ำออกในปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร ยังคงมีน้ำท่วมจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน เพราะมีปริมาณน้ำมาก
  • ในหลายพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก คงต้องทำให้ประชาชนอยู่กับน้ำให้ได้ด้วยการสร้างระบบที่ชัดเจน เช่น การเพาะปลูกก่อนฝนจะมา สร้างถนนและระบบสาธารณูปโภคที่ป้องกันน้ำท่วมได้ สร้างระบบอพยพและเตือนภัยให้ชัดเจน รวมถึงการหมั่นซ้อมจนกลายเป็นนิสัย

 

     สถานการณ์น้ำท่วมยังคงไม่คลี่คลาย ซ้ำร้ายยังเข้าใกล้กรุงเทพมหานครมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อปรากฏภาพน้ำท่วมในจังหวัดใกล้เคียงอย่างนนทบุรีและปทุมธานี

     ภาพน้ำท่วม 2560 คล้ายจะกระตุ้นให้หลายคนนึกย้อนไปถึงความทรงจำอันเลวร้ายในปี 2554 ที่สถานการณ์บีบบังคับให้หลายพื้นที่ต้องอพยพออกจากบ้าน เพราะน้ำท่วมสูงเกินจะรับไหว เมื่อน้ำลด ความเสียหายก็ปรากฏและยังคงหลอกหลอนติดตามาจนถึงทุกวันนี้

     น้ำท่วมปีนี้น่าห่วงแค่ไหน และจะซ้ำรอยปี 2554 หรือไม่ THE STANDARD จะทำหน้าที่ฉายภาพรวมให้คุณได้ประเมินด้วยตัวเอง

 

 

6 จังหวัดท้ายเขื่อนเจ้าพระยายังน่าห่วง

     ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ อธิบดีกรมชลประทาน ระบุถึงภาพรวมของสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ขณะนี้กรมชลประทานยังคงปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาไม่เกิน 2,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะคงอัตรานี้ไปประมาณ 1 สัปดาห์ ทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในบริเวณจังหวัดชัยนาททรงตัว ส่วนตั้งแต่สิงห์บุรีไปจนถึงอ่างทองจะเพิ่มขึ้น 11-12 เซนติเมตร พระนครศรีอยุธยา ระดับน้ำเพิ่มขึ้น 2-7 เซนติเมตร ซึ่งระยะนี้แม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างจะยังคงได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุนสูงไปจนถึงวันที่ 27 ตุลาคม

     ซึ่งกรมชลประทานกำลังเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด โดยได้รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำ 7 ลำ และเรือหลวงมารวิชัย 1 ลำจากกองทัพเรือเพื่อติดตั้งบริเวณท้ายประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ หลังได้รับการสนับสนุนเรือผลักดันน้ำจากกองทัพเรือมาแล้ว 55 ลำ ซึ่งติดตั้งในแม่น้ำท่าจีนก่อนหน้านี้

     ส่วนพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 12 ทุ่งซึ่งทำหน้าที่เป็นพื้นที่แก้มลิงรองรับน้ำ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำเต็มความจุเกือบทุกทุ่งแล้ว คงเหลือทุ่งโพธิ์พระยาที่ยังรับน้ำได้อีก 25 ล้านลูกบาศก์เมตร และทุ่งเจ้าเจ็ด-บางยี่หนยังรับน้ำได้อีก 127 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเมื่อระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองต่างๆ ลดลงกว่าระดับน้ำในทุ่งจึงจะทำการระบายน้ำออก และจะคงเหลือปริมาณน้ำไว้ในระดับที่เหมาะสมเพื่อเตรียมทำนาต่อไป

 

 

ตัวเลขปริมาณน้ำยัน ‘ไม่ซ้ำรอยปี 54’

     เมื่อมองจากภาพรวมของปริมาณน้ำและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบันแล้ว ดร. สุทัศน์ วีสกุล ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) วิเคราะห์ว่าเหตุการณ์ในปีนี้ไม่น่าจะซ้ำรอยปี 2554 อย่างแน่นอน

     เหตุผลแรกคือปริมาณน้ำฝนในปี 2560 ตั้งแต่ 1 มกราคม ถึง 30 กันยายน มีปริมาณใกล้เคียงกับปี 2554 แต่ตัวเลขนี้เป็นฝนเฉลี่ยทุกภาค ขณะที่ในปีนี้มีเหตุการณ์น้ำท่วมภาคใต้ครั้งใหญ่ที่มีปริมาณน้ำฝนเกือบ 100 มิลลิเมตร อีกทั้งยังมีเหตุการณ์น้ำท่วมสกลนครที่ฝนตกประมาณ 200 มิลลิลิตร ดังนั้นจึงทำให้ตัวเลขปริมาณน้ำฝนในปีนี้ค่อนข้างสูง

     หากพิจารณาเป็นรายภาคจะพบว่าปริมาณน้ำฝนของภาคเหนือในปี 2554 มีมากกว่าปีนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งเมื่อปี 2554 น้ำท่วมหนักเกิดจากฝนจากภาคเหนือบวกกับการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพลลงมาสู่ภาคกลาง ทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่

     ในขณะนี้ที่ปีนี้ปริมาณน้ำฝนในภาคกลางค่อนข้างมากอยู่แล้ว จึงเกิดน้ำท่วมบ้าง แต่มวลน้ำจากภาคเหนือตามมาสมทบแค่บางส่วน ซึ่งน้อยกว่าปี 2554 อย่างเห็นได้ชัด อีกทั้งยังไม่มีการระบายน้ำจากเขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนภูมิพล จึงไม่น่าจะซ้ำรอยกับปี 2554 อย่างแน่นอน เพราะไม่มีมวลน้ำจากภาคเหนือมาสมทบ

     อีกหลักฐานที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือในปี 2554 น้ำท่วมภาคกลางกินพื้นที่ 7.2 ล้านไร่ แต่น้ำท่วมในปีนี้กินพื้นที่เพียง 1.2 ล้านไร่ เท่ากับมีความต่างกันถึง 6 เท่า ดังนั้นสถานการณ์จึงไม่น่าเป็นห่วงเท่ากับปี 2554 แต่ปริมาณน้ำฝนในภาคกลางที่พอๆ กับปี 2554 ก็ทำให้น้ำท่วมได้

     สำหรับพื้นที่นนทบุรีและปทุมธานี ซึ่งอยู่ใกล้กับกรุงเทพมหานคร ดร. สุทัศน์มองว่ายังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เพราะจะเกิดน้ำท่วมเป็นระยะๆ ตามปริมาณน้ำขึ้น-ลงของแม่น้ำเจ้าพระยา เที่ยวละ 3-4 ชั่วโมงแล้วก็ลด ไม่ได้ท่วมขังต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าประมาณ 1 สัปดาห์สถานการณ์น่าจะดีขึ้นตามลำดับ

 

 

อีสานท่วมหนักไปจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน

     สำหรับสถานการณ์ในภาคกลาง ดร. สุทัศน์มองว่ายังไม่น่ากังวลเท่ากับสถานการณ์ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำป่าสักบริเวณตัวเมืองเพชรบูรณ์และลพบุรี เนื่องจากปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนป่าสักมีมากและใกล้เต็มแล้ว

     ส่วนอีกพื้นที่ที่ยังอยู่ในภาวะวิกฤตคือบริเวณเขื่อนอุบลรัตน์ที่รับน้ำเกินความจุของเขื่อนไปแล้ว ปัจจุบันรองรับอยู่ที่ 120% เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องระบายน้ำออกในปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร ยังคงมีน้ำท่วมจนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน เพราะมีปริมาณน้ำมาก

     ซึ่งก่อนหน้านี้เขื่อนอุบลรัตน์ได้ทำการระบายน้ำออกวันละ 54 ล้านลูกบาศก์เมตรติดต่อกันมานานถึง 5 วัน ส่งผลให้น้ำจากแม่น้ำพองไหลเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนและพื้นที่ทางการเกษตรในพื้นที่อำเภอน้ำพอง และอำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ขยายวงกว้างไปจนถึงมหาสารคามและร้อยเอ็ดอย่างต่อเนื่อง

     แต่ต่อมามีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนอุบลรัตน์ลดลงจากเดิม 70 ล้านลูกบาศก์เมตร เหลืออยู่ที่ 36 ล้านลูกบาศก์เมตร ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำ จังหวัดขอนแก่น จึงมีมติให้ปรับการระบายน้ำลงแบบขั้นบันไดอยู่ที่วันละ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร จนเหลือการระบายน้ำที่ 45 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน จนกว่าระดับน้ำจะลดลงถึง 183.00 เมตรตามระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์มีความสูงอยู่ที่ 183.33 เมตร

 

เตือนคนกรุงเทพฯ ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด

     แม้เหตุการณ์จะไม่เลวร้ายเท่ากับปี 2554 แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีสิ่งที่รัฐบาลควรจะต้องทำในเวลานี้อีกมาก โดย ดร. สุทัศน์มองว่าหนึ่งในมาตรการจำเป็นคือรัฐบาลต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและดักฝนให้ตกก่อนในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำอยู่

     “การใช้ฝนหลวงแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งเป็นพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 อยู่แล้ว ดังนั้นรัฐบาลควรประสานกับกรมฝนหลวงเพื่อพยายามดักฝนไม่ให้เข้ากรุงเทพฯ คือให้ตกก่อนในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำอยู่ ซึ่งขณะนี้น่าจะกำลังประสานอยู่”

     นอกจากนี้สิ่งที่ควรทำเพิ่มเติมคือ ศูนย์การระบายน้ำ กทม. ควรให้ข้อมูลการพยากรณ์ที่ชัดเจนมากขึ้นเพื่อให้ประชาชนสามารถดูแลและช่วยเหลือตัวเองได้อย่างทันท่วงที ซึ่งปัจจุบันยังขาดการให้ข้อมูลที่ชัดเจนและตรงไปตรงมา

     ส่วนในหลายพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ลุ่มต่ำ เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก คงต้องทำให้ประชาชนอยู่กับน้ำให้ได้ด้วยการสร้างระบบที่ชัดเจน เช่น การเพาะปลูกก่อนฝนจะมา สร้างถนนและระบบสาธารณูปโภคที่ป้องกันน้ำท่วมได้ สร้างระบบอพยพและเตือนภัยให้ชัดเจน รวมถึงหมั่นซ้อมจนกลายเป็นนิสัย

     สำหรับภาพรวมของปริมาณน้ำฝนในเร็ววันนี้ ดร. สุทัศน์มองว่าขณะนี้ร่องความกดอากาศจะถูกผลักลงไป ทำให้ภาคใต้ตอนบนมีฝนตกในช่วง 25-26 ตุลาคมค่อนข้างมาก ส่วน กทม. อาจจะมีฝนบ้าง แต่ไม่ได้เกิดจากร่องความกดอากาศ แต่เป็นเพราะอากาศหนาวเริ่มลงมาปะทะกับอากาศร้อน ทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองขึ้นได้ ดังนั้นคนกรุงเทพฯ ควรติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะฝนมักจะตกช่วงเย็นและช่วงเช้าตรู่

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising