ภายหลังจากกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศฉบับที่ 6 พายุเตี้ยนหมู่เคลื่อนเข้าไทยเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องจนประชาชนใน 31 จังหวัด ยังคงได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลาก และทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแม่น้ำหลายแห่งในหลายภูมิภาคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องติดต่อกันหลายวันจนถึงปัจจุบัน
น้ำท่วมปี 64 มีอะไรที่เราต้องรู้ THE STANDARD สรุปภาพรวมน้ำท่วมในครั้งนี้ เพื่อหาวิธีรับมือเหตุการณ์ต่างๆ ที่ประชาชนหลายคนกำลังเผชิญหรืออาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้
น้ำท่วมเพราะอะไร?
พายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ซึ่งเป็นพายุดีเปรสชัน เดิมมีศูนย์กลางอยู่บริเวณตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองดานัง ประเทศเวียดนาม โดยกำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือและเคลื่อนตามแนวร่องมรสุมเข้าปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง ส่งผลทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีฝน บางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีฝนตกหนักถึงหนักมาก โดยกรมอุตุนิยมวิทยาได้เตือนด้วยว่าให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระวังผลกระทบจากฝนตกหนักและฝนที่ตกสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากด้วย
และไม่เพียงฝนจากพายุเตี้ยนหมู่เท่านั้นที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายๆ พื้นที่ แต่ยังมีมวลน้ำก้อนใหญ่ที่กำลังไหลบ่าลงมาจากจังหวัดด้านบน เช่น สุโขทัย ลงสู่จังหวัดด้านล่างด้วย โดยเฉพาะจังหวัดอ่างทองและนครราชสีมา ทำให้ประชาชนหลายคนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก
น้ำท่วมครั้งนี้จะซ้ำรอยปี 54 หรือไม่?
หากยังจำกันได้ เหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปี 54 นับเป็นอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ มีพายุเข้ามา 5 ลูก ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี ได้แก่ พายุโซนร้อนไหหม่า นกเตน ไห่ถาง เนสาด และนาลแก นอกจากนี้ยังมีปรากฏการณ์ลานีญาที่ทำให้ฝนมาเร็วกว่าปกติตั้งแต่เดือนมีนาคม
อย่างไรก็ตาม หากเทียบปัจจัยชี้วัดสถานการณ์น้ำเมื่อปี 54 กับปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 29 ก.ย. 64) จะพบว่า ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล มีปริมาณน้ำ 49% เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำ 43% เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน มีปริมาณน้ำ 87% และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำ 99% รวมปริมาณน้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำรวม 50% ของความจุรวม 12,320 ลบ.ม.
ขณะที่สถานการณ์แม่น้ำเจ้าพระยา (30 ก.ย. 64) วัดจากสถานี C.2 มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 2,683 ลบ.ม./วินาที ต่ำกว่าตลิ่ง 1.79 เมตร เทียบกับปี 54 ที่สถานีเดียวกัน มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 4,686 ลบ.ม./วินาที
ส่วนการปล่อยน้ำเขื่อนเจ้าพระยา (30 ก.ย. 64) ปริมาณน้ําไหลผ่าน 2,775 ลบ.ม./วินาที เทียบกับปี 54 ปริมาณน้ําไหลผ่าน 3,721 ลบ.ม./วินาที
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาเผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ระบุว่า จากสถานการณ์อุทกภัยรุนแรงที่หลายจังหวัดกำลังประสบอยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางนั้น หลายคนมีความกังวลว่าจะมีน้ำท่วมหนักเหมือนปี 54 หรือไม่
กรมอุตุนิยมวิทยาขอยืนยันว่า สถานการณ์อุทกภัยดังกล่าวมีความแตกต่างจากปี 54 ซึ่งหากวิเคราะห์จากสถิติข้อมูลอุตุนิยมวิทยาพบว่า ภาพรวมของการเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 54 กับปี 64 จะมีความแตกต่างกัน ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบปริมาณฝนที่ตกระหว่างเดือน ม.ค. – ก.ย. พบว่า ในปี 54 ปริมาณฝนเกือบทุกภาคสูงกว่าปี 64 ยกเว้นภาคตะวันออกที่ปี 64 สูงกว่าปี 54 เล็กน้อย และในภาพรวมทั้งประเทศพบว่า ปี 54 มีฝนมากกว่าปี 64 ถึง 20%
ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบพื้นที่และการกระจายของฝนตั้งแต่ช่วงก่อนและเข้าสู่ฤดูฝน พบว่า ในปี 54 พื้นที่ที่มีฝนตกและตกต่อเนื่อง ได้แก่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมเป็นจำนวนมากในลุ่มน้ำสายหลัก รวมทั้งเขื่อนและอ่างเก็บน้ำต่างๆ เต็มความจุตั้งแต่ต้นปี และในช่วงกลางฤดูฝนถึงปลายฤดูฝน การระบายน้ำสามารถทำได้น้อย เนื่องจากมีฝนตกต่อเนื่องทั้งเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อน ขณะที่ในปี 64 ช่วงก่อนเข้าสู่ฤดูฝน (เดือน เม.ย. – ต้นเดือน พ.ค.) การกระจายฝนดี แต่เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนพบว่า ปริมาณฝนที่ตกน้อยลง โดยเฉพาะช่วงปลายเดือน พ.ค. – มิ.ย. มีปริมาณฝนน้อย และบางพื้นที่มีฝนทิ้งช่วงหลายสัปดาห์
และหากเปรียบเทียบอิทธิพลจากพายุหมุนเขตร้อน พบว่า ในปี 54 เดือน มิ.ย. ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมที่พาดผ่านประเทศไทยตอนบน และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทย และในช่วงปลายเดือน มิ.ย. 54 ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากดีเปรสชัน ‘ไหหม่า’ ในประเทศลาว ทำให้มีฝนตกหนักหลายพื้นที่ ต่อมาในเดือน ก.ค. 54 ฝนตกหนักจากอิทธิพลของดีเปรสชัน ‘นกเตน’ ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทยบริเวณจังหวัดน่าน นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับอิทธิพลทางอ้อมจากพายุอีก 3 ลูก ได้แก่ ไห่ถาง เนสาด และนาลแก ขณะที่ในปี 64 ช่วงปลายฤดูฝน เดือน ก.ย. มีพายุที่เข้าสู่ประเทศไทยเพียงลูกเดียวคือ ดีเปรสชัน ‘เตี้ยนหมู่’ ดังนั้นจึงมีโอกาสน้อยมากที่กรุงเทพฯ และจังหวัดใกล้เคียงจะเกิดน้ำท่วมแบบปี 54 ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและการระบายน้ำเป็นสำคัญ
สถานการณ์น้ำท่วมปี 64 ในปัจจุบันเป็นอย่างไร?
วันนี้ (30 ก.ย.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขอรายงานสถานการณ์สาธารณภัยประจำวัน ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย. 64 ถึงปัจจุบัน มีน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ 31 จังหวัด (เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, ตาก, สุโขทัย, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, พิจิตร, กำแพงเพชร, เลย, ขอนแก่น, ชัยภูมิ, ยโสธร, นครราชสีมา, บุรีรัมย์, สุรินทร์, ศรีสะเกษ, อุบลราชธานี, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, จันทบุรี, นครสวรรค์, อุทัยธานี, ชัยนาท, ลพบุรี, สระบุรี, สุพรรณบุรี, สิงห์บุรี, อ่างทอง, พระนครศรีอยุธยา, นครปฐม) 190 อำเภอ, 956 ตำบล, 6,335 หมู่บ้าน, 1 เขตเทศบาล ประชาชนได้รับผลกระทบ 227,470 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 7 ราย (จ.ลพบุรี ชาย 6 ราย, จ.เพชรบูรณ์ ชาย 1 ราย) มีผู้สูญหาย 1 ราย (จ.เพชรบูรณ์ หญิง 1 ราย)
ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 13 จังหวัด (เชียงใหม่, ลำพูน, ลำปาง, ตาก, บุรีรัมย์, นครปฐม, ยโสธร, สุรินทร์, เลย, ศรีสะเกษ, สระแก้ว, จันทบุรี, ปราจีนบุรี) ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 18 จังหวัด ได้แก่
- สุโขทัย ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ (ศรีสำโรง, คีรีมาศ เมืองสุโขทัย) ระดับน้ำลดลง อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ (จุดอพยพวัดกระชงคาราม อ.เมืองสุโขทัย ยังไม่มีผู้พักพิง)
- พิษณุโลก เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ (วังทอง, พรหมพิราม, บางระกำ) ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- เพชรบูรณ์ เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 6 อำเภอ (หนองไผ่, วิเชียรบุรี, ศรีเทพ, เมืองเพชรบูรณ์, น้ำหนาว, บึงสามพัน) ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- พิจิตร เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 อำเภอ (บึงนาราง, โพธิ์ประทับช้าง, โพทะเล, สามง่าม) ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร ระดับน้ำทรงตัว อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ
- กำแพงเพชร ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ (ขาณุวรลักษบุรี, คลองขลุง) ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- ขอนแก่น เกิดฝนตกหนักและน้ำท่วมขังในพื้นที่ 9 อำเภอ (ภูผาม่าน, ชุมแพ, หนองเรือ, แวงน้อย, แวงใหญ่, โคกโพธิ์ชัย, ชนบท, มัญจาคีรี, โนนศิลา) ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำ ระดับน้ำเพิ่มขึ้น อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ
- ชัยภูมิ ยังคงเหลือ 5 อำเภอ (เมืองชัยภูมิ, ภูเขียว, บ้านเขว้า, จัตุรัส, คอนสวรรค์) ระดับน้ำเพิ่มขึ้น อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ จุดอพยพ 1 จุด ยังไม่มีผู้พักพิง
- นครราชสีมา ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 13 อำเภอ (ด่านขุนทด, สูงเนิน, โนนสูง, เมืองนครราชสีมา, พิมาย, ปักธงชัย, โนนไทย, คง, พระทองคำ, จักราช, สีดา, ขามสะแกแสง, บ้านเหลื่อม) ระดับน้ำเพิ่มขึ้น อยู่ระหว่างการเร่งระบายน้ำ ซึ่งไหลมาจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร
- อุบลราชธานี ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่อำเภอเมืองอุบลราชธานี ระดับน้ำเพิ่มขึ้น มีจุดอพยพ 9 จุด 101 ครัวเรือน
- นครสวรรค์ ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 2 อำเภอ (ลาดยาว, ท่าตะโก) ระดับน้ำลดลง อยู่ระหว่างการเร่ง ระบายน้ำ
- อุทัยธานี ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่ 3 อำเภอ (เมืองอุทัยธานี, ทัพทัน, สว่างอารมณ์) ระดับน้ำลดลง
- ชัยนาท เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 8 อำเภอ (มโนรมย์, วัดสิงห์, เนินขาม, หันคา, สรรคบุรี, สรรพยา, เมืองชัยนาท, หนองมะโมง) ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- ลพบุรียังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 4 อำเภอ (เมืองลพบุรี, ชัยบาดาล, บ้านหมี่, โคกสำโรง) ระดับน้ำลดลง
- สระบุรี เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 9 อำเภอ (วังม่วง, แก่งคอย, เสาไห้, บ้านหมอ, หนองโดน, วิหารแดง, พระพุทธบาท, เมืองสระบุรี, มวกเหล็ก) ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- สุพรรณบุรี ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ 2 อำเภอ (บางปลาม้า, สองพี่น้อง) ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- สิงห์บุรี เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 3 อำเภอ (อินทร์บุรี, เมืองสิงห์บุรี, ค่ายบางระจัน) ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- อ่างทอง เกิดสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 4 อำเภอ (เมืองอ่างทอง, วิเศษชัยชาญ, ไชโย, ป่าโมก) ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น จากเหตุแม่น้ำเจ้าพระยาล้นพนังกั้นน้ำ บริเวณหมู่ที่ 5 ตำบลบางปลากด อำเภอป่าโมก
- พระนครศรีอยุธยา เกิดน้ำเจ้าพระยาเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ (ผักไห่, เสนา, บางบาล, พระนครศรีอยุธยา, บางไทร) ปัจจุบันมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำน้อย และคลองโผงเผง ซึ่งอยู่นอกคันกั้นน้ำระดับน้ำเพิ่มขึ้น ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่เพื่อเร่งระบายน้ำแล้ว
ทั้งนี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการให้คณะรัฐมนตรีสลับกันลงพื้นที่เพื่อให้กำลังใจและให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบในจังหวัดต่างๆ และแนะนำให้ประชาชนรู้จักเรียนรู้และปรับตัวในการรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ด้วย
มวลน้ำท่วมจะไหลไปไหนบ้าง?
ศูนย์พัฒนาการสื่อสารด้านภัยพิบัติ อ้างอิงข้อมูลจากสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ ระบุว่า มวลน้ำที่ท่วมอยู่ในปัจจุบันแบ่งออกเป็น 5 มวลใหญ่ๆ และมีเส้นทางการระบาย ดังนี้
1. ชัยภูมิ-นครราชสีมา
น้ำที่ท่วมชัยภูมิจะไหลลงแม่น้ำชี ส่วนที่นครราชสีมา เช่น อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร จะไหลลงแม่น้ำมูล ซึ่งแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลไหลมาเจอกันที่ อ.วาริณชำราบ อุบลราชธานี ก่อนไหลลงแม่น้ำโขง
2. เพชรบูรณ์-ลพบุรี
น้ำจาก อ.ลำสนธิ เพชรบูรณ์ และ อ.ชัยบาดาล ลพบุรี จะไหลลงสู่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่ปัจจุบันมีปริมาตรน้ำในอ่างแล้วถึง 99%
3. ลพบุรี-นครสวรรค์
น้ำจาก อ.เมือง และ อ.บ้านหมี่ ลพบุรี มีทุ่งลพบุรีคอยรับน้ำ ส่วนน้ำจาก อ.ไพศาลี นครสวรรค์ จะไหลลงสู่บึงบอระเพ็ด
4. สุโขทัย
น้ำจากสุโขทัย มีทุ่งบางระกำ พิษณุโลก รองรับ
5. กำแพงเพชร-อุทัยธานี
น้ำจากกำแพงเพชรและอุทัยธานี ไหลลงแม่น้ำสะแกกรัง ผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ชัยนาท
พื้นที่ไหนต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ?
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เผยแพร่ประกาศฉบับที่ 16/64 เรื่อง เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา วานนี้ (29 ก.ย.) เตือน 9 จังหวัดเตรียมรับมือกับน้ำท่วมในวันที่ 1-5 ต.ค. นี้ เนื่องจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์และเขื่อนเจ้าพระยาจำเป็นต้องเพิ่มอัตราการระบายน้ำ เพราะมีมวลน้ำสะสม โดยพื้นที่ที่ได้รับคำเตือน ได้แก่
- จ.ชัยนาท แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณ ต.โพนางดำออก และ ต.โพนางดำตก อ.สรรพยา
- จ.สิงห์บุรี แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดเสือข้าม วัดสิงห์ อ.อินทร์บุรี, อ.เมืองสิงห์บุรี และ อ.พรหมบุรี
- จ.อ่างทอง คลองโผงเผง และแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณวัดไชโย อ.ไชโย และ อ.ป่าโมก
- จ.ลพบุรี ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสักบริเวณ อ.พัฒนานิคม
- จ.พระนครศรีอยุธยา บริเวณคลองบางบาลและริมแม่น้ำน้อย บริเวณ ต.หัวเวียง อ.เสนา, ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ และริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก อ.ท่าเรือ และ อ.นครหลวง อ.พระนครศรีอยุธยา จรดแม่น้ำเจ้าพระยา
- จ.สระบุรี ริมสองฝั่งแม่น้ำป่าสัก อ.วังม่วง, อ.แก่งคอย, อ.เมืองสระบุรี, อ.เสาไห้ และ อ.บ้านหมอ
- จ.ปทุมธานี บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
- นนทบุรี บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกแนวคันกั้นน้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
- กรุงเทพมหานคร แนวคันกั้นน้ำบริเวณพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา
น้ำท่วม 64 จะคลี่คลายทั้งหมดเมื่อไร?
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กอนช.) แถลงถึงสถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดในวันนี้ (30 ก.ย.) ระบุว่า จากการติดตามข้อมูลสถานการณ์พายุจากกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุที่ขนาบอยู่ทั้งสองฝั่งของประเทศไทยในปัจจุบันไม่ส่งผลกระทบในระยะนี้ แต่จะยังคงมีอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเกิดฝนตก และต้องมีการเฝ้าระวังต่อเนื่องในช่วงต้นเดือน ต.ค. นี้ โดยระยะเวลาประมาณ 10 วันต่อจากนี้ จะเป็นช่วงมีฝนตกในพื้นที่ภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นช่วงที่จะมีการเร่งระบายน้ำโดยเร็ว
ซึ่งแผนการระบายน้ำหลังจากนี้คือ จะเร่งระบายน้ำถึงวันที่ 1 ต.ค. และเว้นระยะในวันที่ 2-3 ต.ค. ซึ่งคาดว่าจะมีน้ำทะเลหนุนสูง ก่อนจะเร่งระบายอีกครั้งในระหว่างวันที่ 4-8 ต.ค. ก่อนจะเข้าสู่ช่วงที่คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกชุกในวันที่ 9-12 ต.ค. และจะเร่งรัดการระบายน้ำให้คลี่คลายภายใน 20 วัน
น้ำท่วมกระทบเศรษฐกิจอย่างไร?
บุรินทร์ อดุลวัฒนะ Chief Economist ธนาคารกรุงเทพ ประเมินว่าผลกระทบต่อเศรษฐกิจของน้ำท่วมครั้งนี้มีจำกัด และไม่น่าจะรุนแรงเท่ากับในปี 54 เพราะลักษณะของการท่วมในครั้งนี้ไม่ได้ท่วมขังนานหรือสร้างความเสียหายให้กับภาคอุตสาหกรรมเหมือนในช่วงปี 54 แต่ทั้งนี้ก็ยังต้องติดตามดูสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ในสภาวะที่เศรษฐกิจยังทรุดตัวจากภาวะโควิดเช่นนี้ การที่ร้านค้าหลายร้านต้องปิดกิจการชั่วคราวเนื่องมาจากน้ำท่วมก็ทำให้ส่งผลกระทบต่อการเงินและความเป็นอยู่ของประชาชนโดยตรง เนื่องจากหลายร้านข้าวของเสียหายเพราะยกขึ้นที่สูงไม่ทัน ตลอดจนไร่นาของเกษตรกรหลายรายที่อยู่ในช่วงปลูกข้าวเตรียมขาย ขณะเดียวกันก็ยังต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมบ้านเรือนหลังจากน้ำลดลงแล้วด้วย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการประเมินความเสียหายเป็นตัวเลขออกมาอย่างชัดเจน
ภาพประกอบ: พุทธิพงศ์ โรจน์ศตพงค์