×

“เราคือสตาร์ทอัพไทย ไม่ใช่จีน” คำประกาศกร้าว ‘คมสันต์ ลี’ ซีอีโอแห่ง Flash Express พร้อมเผยเคล็ดลับระดมทุนสู่ยูนิคอร์น

31.05.2021
  • LOADING...
Flash Express

ในเร็วๆ นี้ ‘Flash Express’ กำลังจะประกาศข่าวสำคัญที่จะทำให้มูลค่าบริษัทของพวกเขาทะยานสู่การเป็น ‘ยูนิคอร์นสตาร์ทอัพของไทย’ หรือมีมูลค่าบริษัทมากกว่า 3 หมื่นล้านบาท ตามที่ให้สัมภาษณ์ไว้กับรายการ THE SECRET SAUCE (รับชมได้ที่นี่)

 

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในคำถามที่หลายคนเกิดข้อสงสัย คลางแคลงใจในตัวของ Flash มากที่สุด จนเกิดกลายเป็นความเข้าใจที่ผิดๆ นั่นก็คือ พวกเขาเป็น ‘ทุนจีน’ ที่ได้รับการสนับสนุนเม็ดเงินในการทำธุรกิจโดยกลุ่มนักธุรกิจจากจีนจริงหรือไม่?

 

ในการให้สัมภาษณ์กับ THE SECRET SAUCE คมสันต์ แซ่ลี ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Flash Express ยืนยันกับเราว่า พวกเขาเป็นสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่ก่อตั้งและดำเนินธุรกิจโดยคนไทยล้วนๆ เพียงแต่ภาพลักษณ์ก่อนหน้านี้ที่ได้รับการระดมทุนใน Series A-C โดยกลุ่มทุนจากต่างชาติ จึงอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดๆ ขึ้นได้ (Series D เริ่มเป็นนักลงทุนและบริษัท VC จากไทยเข้ามาลงทุน)

 

“ความเข้าใจที่ว่า Flash Express ของเราเป็นธุรกิจสัญชาติจีน เป็นจีนแดง เป็นนอมินี ‘ไม่ใช่ไทย’ คือความเข้าใจที่ผิด ซึ่งมันอาจจะเป็นเพราะว่าตัวผมเองไม่ชอบออกสื่อ ไม่ชอบพีอาร์โปรโมต จึงทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดๆ เกี่ยวกับเรา แต่จริงๆ แล้วเราคือธุรกิจสัญชาติไทย” คมสันต์ กล่าว

 

สำหรับในการระดมทุนรอบล่าสุด หรือ Series D (ข้อมูลจนถึงวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม) ถือเป็นครั้งแรกที่ Flash Express เปิดระดมทุนจากนักลงทุนและบริษัทในไทยเข้ามา โดยได้ทั้ง OR (PTT), Durbell (บริษัทในกลุ่มธุรกิจ TCP) และ Krungsri เข้ามาร่วมลงทุนด้วย ซึ่งผู้เข้าร่วมลงทุนแต่ละรายก็จะกลายเป็นผู้ถือหุ้นของ Flash Express 

 

ขณะที่ฝั่ง Flash Express เองก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากผู้ลงทุนเหล่านั้นได้ในการขยายการเติบโตของธุรกิจ เช่น ในรายของ OR ที่ Flash Express สามารถเข้าไปจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าในปั๊มน้ำมันหรือได้รับสิทธิพิเศษการเติมน้ำมันในราคาที่ถูกลง (ช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิงฟลีทขนส่งบริษัท)

 

ทั้งนี้ 5 เคล็ดลับที่คมสันต์เชื่อว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ สามารถมัดใจนักลงทุน หรือ กลุ่ม VC ได้อยู่หมัดนั้น ประกอบไปด้วย

 

1. เตรียม ‘Presentation’ ไว้ 3 แบบ – หาทางหนีทีไล่ไว้ให้ทัน เพราะไม่ใช่นักลงทุนทุกคนจะมีเวลาให้เรามากพอ ดังนั้นจึงต้องเตรียมแผนสำรอง หาทางหนีทีไล่ไว้เสมอ โดยรูปแบบความยาวพรีเซนต์ที่คมสันต์แนะนำคือ 3-5 นาที, 10-15 นาที และแบบจบภายใน 1 ชั่วโมง

 

2. ทำการบ้าน ‘นักลงทุน’ ให้ดี – ต้องดูให้ออกว่าเขาเป็นคนแบบไหน มีลักษณะอุปนิสัยอย่างไร สนใจเรื่องใดเป็นพิเศษ ลงทุนบริษัทอะไรไปแล้วบ้าง อยู่ในอุตสาหกรรมใด มีเงินในสต๊อกเท่าไร

 

3. อย่ามองแค่ว่า ‘เขาให้เงินเราเท่าไร’ แต่มองว่า ‘เขาช่วยอะไรเราได้บ้าง’ – มองให้เห็นว่านักลงทุนเหล่านั้นช่วยอะไรเราได้บ้าง สนับสนุนความฝันเรามากน้อยแค่ไหน เพราะหากได้นักลงทุนที่ไม่ได้สนับสนุนจริงๆ พยายามเข้ามายุ่งย่ามเกินขอบเขต ก็จะทำให้องค์กรเละเทะ

 

4. โม้เฉพาะสิ่งที่เป็นไปได้ พูด ‘ความจริง’ ให้มากที่สุด – พูดแต่ข้อเท็จจริงให้มากที่สุด รับปากเขาในสิ่งที่เราคิดว่าทำได้ ไม่มีผู้ถือหุ้นคนไหนอยากถูกหลอก ได้ยินแต่คำโอ้อวด และสุดท้ายแล้วเมื่อชื่อเสียงเราดีพอ ทำให้เขาเห็นได้ นักลงทุนก็จะต่อคิวกันเข้ามาลงทุนเอง

 

5. ตอบให้ได้ว่า ‘ต้องการเงินเท่าไร’ เพื่อให้องค์กรเกิดประสิทธิภาพ อย่ายึดติดผิดจุดกับ ‘มูลค่า’ – เพราะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดว่าบริษัทหรือสตาร์ทอัพคุณ ‘ต้องการเงินเท่าไร’ ในการระดมทุนแต่ละรอบ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน ไม่ใช่แค่ยึดติดกับการเพิ่มมูลค่าสตาร์ทอัพตัวเองเพื่อให้ไปถึงการเป็นยูนิคอร์น

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising