×

ทบทวนคาแรกเตอร์ ‘กองทุนรวมตราสารหนี้’ ก่อนวางแผนออมเงินหรือจัดทัพลงทุน

01.01.2022
  • LOADING...
กองทุนรวมตราสารหนี้

เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ประกาศปรับลดการคุ้มครองเงินฝากที่ผู้ฝากแต่ละรายมีอยู่ในสถาบันการเงินแต่ละแห่งเหลือ 1 ล้านบาท จากเดิมที่คุ้มครองอยู่ที่ 5 ล้านบาท ทำให้ผู้มีเงินฝากเกิน 1 ล้านบาทเริ่มมองหาวิธีการออมและที่พักเงินใหม่ที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับการฝากเงินในธนาคารพาณิชย์ 

 

แม้การกระจายเงินฝากไปในหลายๆ บัญชีธนาคาร โดยเฉพาะธนาคารรัฐ ด้วยความเชื่อใจในการที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นรัฐบาลจะเป็นทางเลือกแรกๆ ที่ผู้ฝากเงินนึกถึง แต่ด้วยความที่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการลดคุ้มครองเงินฝาก ดังนั้นการกระจายบัญชีจึงไม่ตอบโจทย์ของผู้มีเงินฝากจำนวนมาก

 

ผู้เชี่ยวชาญในตลาดทุนเห็นตรงกันว่า ‘กองทุนรวมตราสารหนี้’ น่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ให้ความสนใจ ด้วยเพราะมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับการฝากเงินในธนาคาร

 

THE STANDARD WEALTH จึงชวนมาทบทวนคาแรกเตอร์ของเงินฝากและกองทุนรวมตราสารหนี้กันอีกครั้ง ก่อนการวางแผนการออมหรือจัดกลยุทธ์การลงทุนเพื่อเพิ่มพูนความมั่งคั่ง

 

มุมที่ 1 สภาพคล่อง

สำหรับเงินฝากออมทรัพย์ จะมีสภาพคล่องค่อนข้างสูง เนื่องจากสามารถถอนเงินสดออกมาได้ในทันทีที่ต้องการ 

 

แต่กองทุนรวมตราสารหนี้นั้นมีสภาพคล่องต่ำกว่าเมื่อเทียบกับเงินฝากออมทรัพย์ เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลาการทำการซื้อ/ขายคืน รวมถึงระยะเวลาในการได้รับเงินเมื่อขายคืนกองทุน โดยกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นส่วนใหญ่ได้เงินคืนในวันที่ T+1 (1 วันทำการนับจากวันทำรายการขายคืนหน่วยลงทุน) ส่วนกองทุนตราสารหนี้ระยะปานกลาง ส่วนใหญ่จะได้รับเงินค่าขายคืนในวันที่ T+2 (2 วันทำการนับจากวันทำรายการขายคืนหน่วยลงทุน) รายละเอียดเหล่านี้ผู้ลงทุนสามารถศึกษาได้จากหนังสือชี้ชวนเสนอขายกองทุน

 

มุมที่ 2 ความเสี่ยง

เงินฝากออมทรัพย์เป็นหนึ่งในการออมเงินที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุด เนื่องจากได้รับการคุ้มครองจากธนาคารหรือสถาบันการเงินที่เราดำเนินการฝากเงินเอาไว้ภายใต้ผลตอบแทนที่อยู่ในเงื่อนไข มีโอกาสได้รับเงินต้นคืนในเวลาต้องการ

 

ส่วนกองทุนรวมตราสารหนี้ คืออ้างอิงจากหนังสือชี้ชวนของกองทุนตราสารหนี้ต่างๆ ส่วนใหญ่จะระบุว่ากองทุนรวมตราสารหนี้มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ แต่หากผู้ออกตราสารหนี้ผิดนัดชำระหนี้ก็จะทำให้กองทุนไม่ได้รับดอกเบี้ยหรือสูญเสียเงินต้นได้ และผู้ลงทุนอาจเผชิญกับความผันผวนของราคาจากอัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจทำให้กองทุนมีมูลค่าลดลง หากดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้น

 

มุมที่ 3 ผลตอบแทน

เงินฝากออมทรัพย์จะมีผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ปัจจุบันมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยราว 0.25% ต่อปี โดยอาจมีการปรับขึ้น-ลง ขึ้นอยู่กับนโยบายของธนาคาร

 

ขณะที่กองทุนรวมตราสารหนี้จะได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของส่วนต่างราคาหน่วยลงทุน ซึ่งราคาหน่วยลงทุนของกองทุนประเภทนี้จะเปลี่ยนแปลงจาก 3 ปัจจัย ได้แก่

 

  • ดอกเบี้ยหน้าตั๋ว จากตราสารหนี้ที่กองทุนเข้าไปลงทุน ซึ่งส่วนนี้จะทำให้ราคาหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้น

 

  • การเปลี่ยนแปลงราคาตราสารหนี้ที่ลงทุน หากดอกเบี้ยในท้องตลาดปรับตัวขึ้น ราคาตราสารหนี้ที่กองทุนถือก็จะมีมูลค่าลดลง ในทางกลับกัน หากดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวลดลง ราคาตราสารหนี้ที่กองทุนถืออยู่จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น

 

  • ค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการกองทุน ส่วนนี้จะทำให้ราคาหน่วยลงทุนลดลง

 

มุมที่ 4 ภาษี

ตามปกติแล้วเงินฝากธนาคารจะมีการเสียภาษี ‘ดอกเบี้ย’ เงินฝากออมทรัพย์ อัตรา 15% สำหรับผู้ที่มีเงินฝากในบัญชีทุกบัญชีรวมกันเกิน 20,000 บาท

 

ส่วนกองทุนรวมตราสารหนี้ก็จะต้องเสียภาษีดอกเบี้ยที่ได้รับจากการลงทุนในตราสารหนี้ 15% เช่นกัน โดยกองทุนจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายก่อนได้รับผลตอบแทน ดังนั้นผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนได้รับจึงไม่ถูกหักภาษีอีก

 

กล่าวโดยสรุป จากการเทียบคาแรกเตอร์ 4 มุมเด่นๆ แล้ว เงินฝากมีความมั่นคงกว่า และมีความเสี่ยงต่ำกว่า ขณะที่กองทุนรวมตราสารหนี้อาจจะมีความผันผวนในบางขณะ ซึ่งก็มีแนวโน้มที่จะได้รับผลตอบแทนสูงกว่าเงินฝากด้วยนั่นเอง 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising