×

Fitch Ratings เตือน การหยุดชะงักทางการเมืองใดๆ อาจนำไปสู่การลดอันดับเครดิตเรตติ้งหรือมุมมองได้

20.08.2024
  • LOADING...
Fitch Ratings

Fitch Ratings มอง กรณีเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีและยุบพรรคก้าวไกลมีโอกาสนำไปสู่ความไม่สงบทางการเมืองในระดับ ‘ต่ำ’ ในขณะนี้ อย่างไรก็ตาม ย้ำว่า Fitch Ratings ไม่สามารถตัดทอนความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจเพิ่มขึ้นได้ พร้อมเตือนว่า การหยุดชะงักทางการเมืองใดๆ (Political Disruption) อาจนำไปสู่การลดอันดับเครดิตหรือมุมมองได้ (Negative Rating Action)

 

วันนี้ (20 สิงหาคม) Fitch Ratings ระบุว่า หลังจากที่ แพทองธาร ชินวัตร ได้รับการโหวตเลือกจากสภาผู้แทนราษฎร และรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ของไทย เมื่อวันที่ 18 สิงหาคมที่ผ่านมา น่าจะช่วยรักษาความต่อเนื่องของนโยบายได้ แต่เหตุการณ์ล่าสุดนี้ได้เน้นย้ำถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดความผันผวนของการเมืองไทย ซึ่งมีผลกระทบต่อการกำหนดนโยบายและความเชื่อมั่นของนักลงทุน 

 

Fitch Ratings เชื่อว่า โดยทั่วไปแพทองธารจะยึดมั่นในจุดยืนทางนโยบายของอดีตนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เนื่องจากพรรคเพื่อไทยยังครองเสียงส่วนใหญ่ในฝั่งพรรคร่วมรัฐบาลไว้ได้

 

เตือนว่า การหยุดชะงักทางการเมืองนำไปสู่การลดอันดับเครดิตเรตติ้งหรือมุมมองได้

 

เราเชื่อว่าการแต่งตั้งแพทองธารเป็นนายกรัฐมนตรี และการตอบโต้ของสาธารณชนต่อกรณีการยุบพรรคก้าวไกลที่ค่อนข้างเงียบงัน แสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่สงบทางการเมืองในวงกว้างยังอยู่ในระดับ ‘ต่ำ’ ในขณะนี้

 

อย่างไรก็ตาม Fitch Ratings ไม่สามารถตัดทอนความเสี่ยงทางการเมืองที่อาจเพิ่มขึ้นได้ พร้อมย้ำว่า การหยุดชะงักทางการเมืองใดๆ (Political Disruption) ก็เป็นปัจจัยเพียงพอที่จะทำให้การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและการเติบโตทางเศรษฐกิจอ่อนแอลงได้แล้ว นอกจากนี้ยังอาจนำไปสู่การลดอันดับเครดิตหรือมุมมองได้ (Negative Rating Action)

 

“ความผันผวนทางการเมืองยังเป็นอุปสรรคต่อความพยายามของประเทศไทย ในการเพิ่มความเชื่อมั่นในหมู่นักลงทุนต่างชาติ ธุรกิจในท้องถิ่น และผู้บริโภค” Fitch Ratings ระบุ

 

ประเมินความเสี่ยงงบประมาณปี 68 ล่าช้าอยู่ในระดับต่ำ

 

โดย Fitch Ratings เห็นความเสี่ยงที่จะเกิดความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2568 อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากมีกำหนดจะเข้าวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 4-6 กันยายนแล้ว ก่อนที่จะส่งให้วุฒิสภาและขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายต่อ

 

เชื่อรัฐบาลจะกระตุ้นเศรษฐกิจ จับตาไทยขาดดุลสูงกว่าเพื่อน BBB

 

เนื่องจากแพทองธารระบุว่า รัฐบาลจะศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการดิจิทัลวอลเล็ต Fitch Ratings จึงมองว่าแนวโน้มที่จะเกิดการยกเลิก ปรับเปลี่ยน หรือเกิดความล่าช้าเพิ่มเติม ไม่สามารถตัดออกได้ แต่ Fitch Ratings คาดว่ารัฐบาลจะออกมาตรการกระตุ้นทางการคลังไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง 

 

โดยการคาดการณ์ล่าสุดของ Fitch Ratings รวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต คาดว่าการขาดดุลการคลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 4.3% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2567 และ 4.4% ในปีงบประมาณ 2568 จาก 2.0% ในปีงบประมาณ 2566 เมื่อเทียบกับค่ามัธยฐานสำหรับประเทศ ‘BBB’ ที่ 3.2-3.0%

 

หากรัฐบาลลดขนาดดิจิทัลวอลเล็ตลง Fitch Ratings เชื่อว่ารัฐบาลจะใช้ทรัพยากรทางการคลังที่มี เพื่อใช้เป็นเงินทุนสำหรับมาตรการอื่นๆ

 

นอกจากนี้อาจมีแรงกดดันทางการเมืองเพิ่มเติมให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการการใช้จ่ายขนาดใหญ่เพิ่มเติมนอกเหนือจากปีงบประมาณ 2568 ซึ่งอาจทำให้การรัดเข็มขัดทางการคลัง (Fiscal Consolidation) ในระยะกลางเป็นไปได้ยากขึ้น

 

โดยสิ่งนี้จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการขาดดุลการคลังและหนี้ภาครัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แทนที่จะจัดการกับอุปสรรคในการเติบโตเชิงโครงสร้าง

 

ย้ำหากไทยก่อหนี้เพิ่ม แต่กระตุ้นได้แค่ระยะสั้น เสี่ยงถูกลดเครดิต

 

อย่างไรก็ดี Fitch Ratings เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถเข้าถึงตลาดทุนในประเทศ และโครงสร้างหนี้ที่ดีจะช่วยลดความเสี่ยงบางส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของหนี้ภาครัฐต่อ GDP ได้ กระนั้นภาระหนี้ที่สูงขึ้นอาจจำกัดความสามารถทางการคลังของรัฐบาลในการตอบสนองต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจในอนาคต

 

โดยย้อนกลับไป เมื่อ Fitch Ratings ยืนยันอันดับเครดิตของประเทศไทยที่ BBB+ ด้วยแนวโน้มมีเสถียรภาพ ในเดือนพฤศจิกายน 2566 Fitch Ratings ระบุว่า การที่รัฐบาลไม่สามารถรักษาเสถียรภาพอัตราส่วนหนี้สาธารณะ (Public Debt Ratio) อาจเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดทางเคลื่อนไหวเชิงลบด้านเครดิต (Negative Rating Action)

 

จับตาอันดับธรรมาภิบาลไทย ร่วงทิ้งกลุ่ม BBB

 

โดยความผันผวนทางการเมืองที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในประเทศไทยได้ขัดขวางประสิทธิภาพของการกำหนดนโยบาย เมื่อเวลาผ่านไป ตัวชี้วัดด้านธรรมาภิบาลของไทยก็ดูไม่ดีเท่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม BBB และการพัฒนาล่าสุดก็อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่ออันดับคะแนนของประเทศไทยในตัวชี้วัดด้านธรรมาภิบาลของธนาคารโลก (World Bank Governance Indicators) ที่ Fitch Ratings คาดการณ์ไว้ในการประเมินเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2566 ด้วย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X