×

Fitch หั่นเรตติ้งสหรัฐฯ ไม่ได้หั่นโอกาสการลงทุนหุ้นโลก

13.08.2023
  • LOADING...
Fitch

Fitch Ratings ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ลงแบบไม่คาดคิด เมื่อ ‘ความไม่แน่นอน’ ขยันมาสร้างเซอร์ไพรส์ให้นักลงทุนไม่เว้นแต่ละวัน ได้เวลาออกเดินทางเพื่อหาโอกาสในการลงทุนและปรับพอร์ตให้สอดรับไปกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะไม่ว่าตลาดจะอยู่ในภาวะไหน ความเสี่ยงจะเพิ่มขึ้นอย่างไร นักลงทุนสาย VI อย่างเรายังต้องลงทุนกันต่อไปนะครับ ‘เพราะการไม่ลงทุนเป็นความเสี่ยงยิ่งกว่า’

 

เมื่อสหรัฐฯ ถูกดาวน์เกรด

เศรษฐกิจยักษ์ใหญ่อันดับ 1 ของโลกเริ่มต้นเดือนใหม่ด้วยความไม่สดใสนัก เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา Fitch Ratings ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของตราสารหนี้ระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Foreign Currency Long-Term Issuer Default Rating: IDR) ของสหรัฐฯ ลงมาอยู่ที่ AA+ จาก AAA ด้วยเหตุผลที่ว่าสถานะการคลังของสหรัฐฯ มีแนวโน้มถดถอยลงในช่วง 3 ปีข้างหน้า ขณะที่ภาระหนี้ภาครัฐก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งมาจากทั้งจำนวนหนี้ที่เพิ่มขึ้นและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น

 

Fitch ได้ย้ำถึงความกังวลต่อสถานะการคลังของสหรัฐฯ ที่ถดถอยลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2007 หนี้สินรวมของรัฐบาลยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 60% ของ GDP แต่ตอนนี้ขึ้นไปสูงถึง 113% นอกจากนี้ Fitch ยังแสดงความกังวลถึงการขาดดุลการคลังของสหรัฐฯ ที่ขยับขึ้นมาเป็น 6.3% ต่อ GDP ในปีนี้ จาก 3.7% ในปีที่แล้ว และคาดการณ์ว่ายอดขาดดุลงบประมาณจะพุ่งขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า

 

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ Fitch ได้ฟาดแรงถึงความเสื่อมถอยด้าน ‘ธรรมาภิบาล’ ของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยมองว่ามาตรฐานธรรมาภิบาลของสหรัฐฯ เสื่อมลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสะท้อนมาถึงสถานะการคลังและภาระหนี้ภาครัฐที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ โดยความขัดแย้งทางการเมืองถือเป็นปัจจัยหลักที่บั่นทอน Good Governance ของรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากประเด็นเพดานหนี้ที่เป็นปัญหายืดเยื้อ ซ้ำซาก และได้รับการแก้ไขในนาทีสุดท้ายเสมอ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการจัดการด้านการคลังของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง

 

และครั้งล่าสุดก็เช่นกัน ซึ่งคองเกรสเพิ่งผ่านร่างกฎหมายเพดานหนี้ภาครัฐไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลังการหารือที่ยืดเยื้อมานานหลายเดือน อย่างไรก็ตาม การที่ Fitch ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ลง แม้ว่ารัฐบาลได้เคลียร์ปัญหาเพดานหนี้ได้เรียบร้อยแล้ว ก็ทำให้ Fitch ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่ม แต่คนที่หัวร้อนที่สุดน่าจะเป็น เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่แสดงความไม่เห็นด้วยกับการถูกลดเรตติ้งในครั้งนี้ ทั้งยังติติง Fitch ว่าเป็นการตัดสินอย่างไร้เหตุผลและอ้างอิงจากข้อมูลที่ล้าสมัย

 

การลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 10 ปี โดยในปี 2011 S&P Global Ratings ได้ปรับลดความน่าเชื่อถือจาก AAA มาอยู่ที่ AA+  ทำให้ตอนนี้ในบรรดาบริษัทจัดอันดับเครดิตระดับโลก 3 บริษัท เหลือเพียง Moody’s เจ้าเดียวที่ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ในระดับสูงสุด

 

Everything Sale

กระแสข่าวการปรับลดเครดิตเรตติ้งของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบต่อราคาสินทรัพย์ต่างๆ ทั่วโลกในชั่วข้ามคืน จนหลายคนมองว่าเป็นปรากฏการณ์ ‘Everything Sale’ กันเลยทีเดียว และแน่นอนครับ สินทรัพย์ที่มีความอ่อนไหวมากที่สุดคงหนีไม่พ้นหุ้น ซึ่งตลาดหุ้นทั่วโลกพากันปรับตัวลดลงเพราะปัจจัยด้าน Sentiment เป็นหลัก นำโดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี Dow Jones ลดลง 0.98% ดัชนี S&P 500 ลดลง 1.38% ขณะที่ดัชนี Nasdaq ลดลงถึง 2.17% จากแรงเทขายหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีออกมาอย่างหนัก แม้ว่าผลประกอบการธุรกิจเทคฟื้นตัวได้ดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 ที่ผ่านมา ทางด้านพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ถูกเทขายออกมาเช่นกัน ทำให้ราคาปรับตัวลดลงและอัตราผลตอบแทน (Yield) พันธบัตรอายุ 10 ปี ปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.95% มาเป็น 4.09% 

 

ในส่วนของตลาดหุ้นเอเชียก็ปรับตัวลงเช่นกัน นำโดยดัชนี Nikkei ของญี่ปุ่นที่ทรุดตัวลง 2.3% เพราะญี่ปุ่นเป็น 1 ใน 4 ของประเทศที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มากที่สุด ขณะที่ตลาดหุ้นฮ่องกง (HSI) -2.3% ตลาดหุ้นอินเดีย (Sensex) -1.1% ตลาดหุ้นจีน (SHCOMP) -0.9% ส่วนตลาดหุ้นไทย (SET) สามารถปรับตัวบวกเล็กน้อย +0.1% นอกจากนี้ราคาสินทรัพย์อื่นๆ ก็ปรับตัวลดลง ไม่ว่าจะเป็นราคาทองคำหรือราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์สหรัฐยังสามารถทรงตัวอยู่ได้เมื่อเทียบกับสกุลหลักอื่นๆ

 

ในภาวะที่นักลงทุนทั่วโลกตื่นตกใจกับการดาวน์เกรดสหรัฐฯ แต่จะมีอยู่คนหนึ่งที่ภาวะตลาดไม่สามารถทำอะไรเขาได้ และเขาพร้อมสู้กลับโดยมองหาโอกาสลงทุนในทุกวิกฤตอยู่เสมอ

 

ใช่แล้วครับ… คุณปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ ของเรานั่นเอง โดยปู่บัฟเฟตต์ไม่ได้กังวลกับกรณีที่สหรัฐฯ ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือ แถมยังมองว่าอยู่บนพื้นฐานที่สมเหตุสมผลอีกด้วย เพราะปู่เองก็ไม่ได้เห็นด้วยกับแนวทางของรัฐบาลสหรัฐฯ ทุกอย่าง และเหตุการณ์นี้ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของกองทุน Berkshire Hathaway ที่ปู่บัฟเฟตต์บริหารแต่อย่างใด

 

ในทางกลับกัน ปู่บัฟเฟตต์ยังยืนยันจะรักษาการลงทุนในพันธบัตรและเงินดอลลาร์สหรัฐต่อไป ซึ่งคำพูดของคุณปู่ไม่ใช่แค่คำพูดลอยๆ อย่างแน่นอนครับ เพราะกองทุน Berkshire Hathaway ทำให้เห็นกันจริงๆ ด้วยการเข้าซื้อตั๋วเงินคลังของสหรัฐฯ เป็นมูลค่าถึง 10,000 ล้านดอลลาร์ หลังจากที่ตลาดได้เทขายออกมา เท่านั้นยังไม่พอ ปู่บัฟเฟตต์ยังมีแผนที่จะเข้าซื้อตั๋วเงินคลังอายุ 3 เดือน และ 6 เดือน เพิ่มเติมอีก 10,000 ดอลลาร์ เรียกได้ว่าปู่บัฟเฟตต์ของเราเป็น ‘ชาวสวน’ ตัวจริงเลยครับ

 

สำหรับนักลงทุนอย่างเราๆ ที่จิตไม่แข็งเท่าคุณปู่วอร์เรน บัฟเฟตต์ จะรู้สึกตกใจกับการดาวน์เกรดที่เกิดขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ เพราะความเสี่ยงอยู่รอบตัวเราเสมอ แต่หากเราเลือกที่จะ ‘บริหารความเสี่ยง’ แม้อาจยังไม่เห็นโอกาสลงทุนเท่ากับที่คุณปู่เห็น แต่จะช่วยลดความเสี่ยงให้กับพอร์ตลงทุนของเราได้อย่างแน่นอนครับ

 

สูตรกระจายความเสี่ยง MPT

การบริหารความเสี่ยงถือเป็นศาสตร์ขั้นพื้นฐานของการลงทุน ซึ่งมีหลายสูตรให้นักลงทุนนำไปปรับใช้ตามระดับความเสี่ยงที่แต่ละคนยอมรับได้ วันนี้ผมอยากนำแนวคิดการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนระดับรางวัลโนเบลมาแบ่งปันกันครับ นั่นคือ ทฤษฎี Modern Portfolio Theory (MPT) ซึ่งเป็นงานวิจัยของ แฮร์รี มาร์โควิตซ์ (Harry Markowitz) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน เป็นหลักการเกี่ยวกับการจัดสรรพอร์ตลงทุน (Portfolio Selection) สมัยใหม่ ที่ได้นำเสนอไว้เมื่อปี 1952 และได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์จากงานวิจัยนี้ในปี 1990

 

ทฤษฎีของมาร์โควิตซ์ช่วยให้นักลงทุนสร้างสมดุลระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทนของพอร์ตลงทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งโดยส่วนตัวของมาร์โควิตซ์เองมีกลยุทธ์การลงทุนแบบง่ายๆ ด้วยการแบ่งเงินลงทุนออกเป็น 2 ส่วนเท่าๆ กัน โดย 50% ลงทุนในหุ้น และอีก 50% ลงทุนในตราสารหนี้ เหตุผลที่เลือกใช้กลยุทธ์ลงทุนแบบนี้เพราะมาร์โควิตซ์ ‘พยายามลดความเสียใจ’ จากการลงทุนให้น้อยที่สุด เพราะหากเขาเลือกลงทุนแค่หุ้นเพียงอย่างเดียว หรือเลือกลงทุนเฉพาะตราสารหนี้ แล้วสินทรัพย์ที่ไม่ได้ลงทุนให้ตอบแทนที่ดีขึ้นมา เขาจะรู้สึกเสียใจ มาร์โควิตซ์จึงเลือกลงทุนทั้ง 2 สินทรัพย์ในพอร์ตเดียวกัน

 

อย่าว่าแต่นักเศรษฐศาสตร์ระดับรางวัลโนเบลเลยนะครับ นักลงทุนอย่างเราๆ ก็คงเสียใจเหมือนกันหากพลาดการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดี ดังนั้นทฤษฎี Modern Portfolio Theory จึงได้อธิบายถึงการลงทุนในสินทรัพย์หลายประเภทที่ราคาไม่ได้เคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกัน จึงช่วยบริหารความเสี่ยงของพอร์ตลงทุนให้มีความผันผวนน้อยลง โดยนักลงทุนทั่วไปก็สามารถนำไปปรับใช้ได้ ซึ่งผมขอสรุปแนวคิดง่ายๆ ของทฤษฎีดังกล่าว ให้เห็นถึงหลักการกระจายความเสี่ยง 2 แนวทางดังนี้ครับ

 

  1. การจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) คือการคัดเลือกสินทรัพย์ลงทุนที่มีหลากหลายและราคาไม่ค่อยมีความสัมพันธ์กัน เพราะเมื่อสินทรัพย์หนึ่งราคาลดลง อีกสินทรัพย์หนึ่งราคาอาจเพิ่มขึ้น จะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตลงทุนโดยรวม

 

  1. การกระจายความเสี่ยง (Risk Diversification) คือเมื่อคุณเลือกสินทรัพย์ลงทุนแต่ละประเภทได้แล้ว ควรกระจายน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์นั้นๆ อย่างเหมาะสมด้วย เช่น หากลงทุนในหุ้น ก็ควรจะประกอบไปด้วยหุ้นในหลากหลายอุตสาหกรรม หลากหลายประเทศ อาจกระจายไปทั้งประเทศพัฒนาแล้ว กำลังพัฒนา และตลาดเกิดใหม่ เป็นต้น

 

ด้วยแนวคิดของ Modern Portfolio Theory ที่เปลี่ยนจากการวิเคราะห์การลงทุนแบบรายตัวมาเป็นการวิเคราะห์พอร์ตลงทุนโดยรวม

 

หากถามว่าแล้วมีเครื่องมืออะไรบ้างที่เปิดโอกาสให้เราลงทุนได้ตามแนวทางของทฤษฎีนี้

 

ส่วนตัวผมมองว่า ETF (Exchange Traded Fund) ซึ่งเป็นกองทุนรวมดัชนี (Index Fund) ถือเป็นเครื่องมือลงทุนที่ตอบโจทย์ได้ตรงจุดที่สุด เพราะ ETF เป็นรูปแบบการลงทุนที่หลากหลายตามดัชนีต่างๆ เช่น ตลาดหุ้น ตราสารหนี้ สินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น เพื่อสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวของดัชนีอ้างอิงมากที่สุด และสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนในตลาดได้เหมือนหุ้น

 

ETF มีเยอะก็เลือกได้ ไม่ต้องงง

ในโลกของการลงทุนมีดัชนีอ้างอิงเยอะแยะไปหมดเลยครับ แล้วเราจะเลือกลงทุนใน ETF อย่างไรดี ขั้นแรกต้องนั่งคุยกับตัวเองให้ชัดเจนก่อนว่าคุณสนใจลงทุนในสินทรัพย์ประเภทไหน แล้วปักหมุดไปสู่ดัชนีอ้างอิงประเภทนั้น เมื่อเลือกดัชนีได้แล้วก็ค่อยทำการคัดแยกในรายละเอียดอีกทีว่าดัชนีนั้นๆ มีนโยบายการลงทุนอย่างไร มีโอกาสเติบโตแค่ไหน ที่สำคัญมีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน และอยู่ในระดับที่เรายอมรับได้หรือไม่

 

ต่อมาก็ศึกษาผลการดำเนินงานย้อนหลังของ ETF ที่เราเลือกกันเสียหน่อย แต่ต้องปรับมุมมองนิดหนึ่งนะครับ เพราะการเช็กผลงานของ ETF ไม่ได้มองที่อัตราผลตอบแทนสูงสุดเป็นหลัก แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่ ‘ผลตอบแทนใกล้เคียงดัชนีอ้างอิงมากที่สุด’ เพราะเรากำลังให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง และลดความผันผวนของพอร์ตลงทุนเป็นหลัก

 

ประเด็นที่ควรพิจารณาต่อมาก็คือสภาพคล่องของ ETF กองนั้นๆ ซึ่งดูได้จากขนาดของกองทุน หรือมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (Asset Under Management: AUM) หากไซส์ของ AUM มีขนาดใหญ่ ก็เป็นเครื่องรับประกันได้ในระดับหนึ่งว่ากองทุนนั้นๆ เป็นที่สนใจของนักลงทุน และอาจมีผลถึงสภาพคล่องในการซื้อขายด้วย เพราะกองทุนที่มีสภาพคล่องสูงจะช่วยให้คุณสามารถบริหารพอร์ตได้ง่ายขึ้น ประมาณว่า ‘ซื้อง่ายขายคล่อง’ นั่นแหละครับ

 

ความน่าเชื่อถือและประสบการณ์ของผู้บริหารกองทุนก็เป็นอีกปัจจัยที่ควรนำมาประกอบการพิจารณาเช่นกันครับ โดยเฉพาะในยุคที่การทุจริตทางการเงินมีความเสี่ยงสูงขึ้น ยิ่ง ETF ที่มีประวัติการบริหารมาอย่างยาวนาน ยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับผู้ลงทุน โดยเฉพาะกองทุนที่นำพาผู้ลงทุนให้ผ่านพ้นวิกฤตในแต่ละช่วงมาได้ ก็ยิ่งตอกย้ำความน่าเชื่อถือได้ดียิ่งขึ้น ยกตัวอย่าง ETF กองแรกของโลกอย่าง SPY ที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ตั้งแต่เมื่อปี 1993 ยังได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน การันตีด้วย AUM ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก

 

หมั่นปรับพอร์ตให้อินเทรนด์

เมื่อเลือก ETF ได้ตรงตามไลฟ์สไตล์ที่ต้องการแล้ว ก็ควรหมั่นปรับพอร์ตลงทุนอย่างสม่ำเสมอด้วยนะครับ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะการปรับพอร์ตถือเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารความเสี่ยง ที่สำคัญทั้งการจัดสรรพอร์ตลงทุน การกระจายความเสี่ยง รวมไปถึงการปรับพอร์ต ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของ ‘วินัยทางการเงิน’ ด้วยนะครับ เพื่อให้พอร์ตลงทุนของคุณบรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้

 

หรือถ้าใครจะใช้หลักการลงทุนเชิงรับในแบบฉบับของ เบนจามิน เกรแฮม (Benjamin Graham) บิดาแห่งการลงทุนแบบเน้นคุณค่า มาเป็นตัวกระตุก ‘วินัยการลงทุน’ ก็น่าจะได้ผลดีไม่น้อยนะครับ โดยเบนจามินมีแนวคิดว่าเมื่อใดก็ตามที่สัดส่วนของสินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งทำผลตอบแทนได้สูง จนทำให้สัดส่วนการลงทุนเปลี่ยนไปจากแผนที่วางไว้ คุณต้องมีวินัยในการปรับพอร์ตลงทุน โดยการขายสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนสูงกว่าแผนลงทุนเดิมออกไป และนำเงินที่ได้มาลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์ที่มีสัดส่วนต่ำกว่าแผนลงทุนเดิม

 

ยกตัวอย่างเช่น หากแผนลงทุนที่คุณเลือกมีการลงทุนในหุ้น 50% และตราสารหนี้ 50% ของมูลค่าพอร์ตลงทุน แต่สภาวะตลาดขณะนั้นทำให้สัดส่วนของหุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 55% และลดสัดส่วนตราสารหนี้ลงเหลือ 45% สิ่งที่คุณควรทำคือขายหุ้นออกมาบางส่วนแล้วนำเงินไปซื้อตราสารหนี้เพิ่ม เพื่อปรับสัดส่วนการลงทุนในพอร์ตให้กลับไปที่ 50:50 เหมือนเดิม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องใช้วินัยและต้องจัดการกับอารมณ์ส่วนตัวของคุณด้วย

 

เช่นเดียวกับ Global ETF ของ Jitta Wealth ที่นำทั้งทฤษฎี Modern Portfolio Theory และหลักในการรักษาวินัยการลงทุนมาประยุกต์ใช้ เพื่อบริหารพอร์ตลงทุนให้มีความเสี่ยงน้อยที่สุดและโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีที่สุด โดยแบ่งสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ 2 ประเภท คือ หุ้นและตราสารหนี้ จัดความเสี่ยงออกเป็น 3 ระดับให้เลือกตามที่คุณยอมรับได้ ทั้งยังมีเครื่องมือช่วยให้คุณรักษาวินัยการลงทุนได้อย่างเคร่งครัด หากหลุดจากกรอบที่วางไว้ ระบบจะปรับสัดส่วนการลงทุนให้โดยอัตโนมัติ คุณจึงมั่นใจได้ว่าจะไม่มีการใช้อารมณ์ในการตัดสินใจลงทุนอย่างแน่นอน

 

โลกทุกวันนี้หมุนอยู่บนความเสี่ยงที่สูงขึ้น เราไม่อาจรู้ได้เลยว่าคนแปลกหน้าที่ชื่อ ‘ความไม่แน่นอน’ จะมาสร้างเซอร์ไพรส์ให้เราวันไหน การ ‘บริหารความเสี่ยง’ และการรักษา ‘วินัยการลงทุน’ จึงเป็นเกราะป้องกันอานุภาพสูง… ที่จะช่วยดูแลเราให้นอนหลับได้สนิทหลังจากลงทุนไปแล้ว

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising