วิเคราะห์ท่าทีบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำ 3 แห่ง (Big Three) ได้แก่ S&P Global Ratings (S&P), Moody’s และ Fitch Ratings มีท่าทีอย่างไรต่อ ‘จีน’ หลัง Moody’s หั่นแนวโน้มอันดับเครดิตประเทศ (Outlook) จีนจากระดับ ‘คงที่’ (Stable) ไปสู่ระดับ ‘ติดลบ’ (Negative) เนื่องจากกังวลว่าปริมาณหนี้มหาศาลในรัฐบาลท้องถิ่นจีนและวิกฤตในตลาดอสังหาริมทรัพย์จะส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในระยะกลางและระยะยาว
ตามการรวบรวมข้อมูลของ THE STANDARD WEALTH พบว่า ณ วันที่ 6 ธันวาคม บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำ 3 แห่ง จัดอันดับเครดิตประเทศจีนอยู่ที่ระดับลง (Investment Grade) ดังนี้
- Moody’s Investors Service จัดอันดับเครดิตประเทศจีนอยู่ที่ A1 ปรับแนวโน้มเป็น Negative ณ วันที่ 5 ธันวาคม 2023
- S&P จัดอันดับเครดิตประเทศจีนอยู่ที่ A+ โดยมีแนวโน้ม Stable ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2017
- Fitch Ratings จัดอันดับเครดิตประเทศจีนอยู่ที่ A+ โดยมีแนวโน้ม Stable ตั้งแต่ 5 พฤศจิกายน 2007
S&P ยืนยันคงอันดับเครดิตจีน เตือน GDP อาจโตต่ำกว่า 3% หากวิกฤตอสังหาขยายตัว
วันนี้ (6 ธันวาคม) S&P Global Ratings ยืนยันว่า อันดับเครดิตประเทศจีนยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง อยู่ที่ระดับ A+ ส่วนแนวโน้มอยู่ที่ ‘คงที่’
“เรายืนยันว่าอันดับเครดิตระยะยาวของจีนอยู่ที่ A+ ตามการประกาศครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายนด้วยแนวโน้มที่คงที่ และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในเรื่องนี้” S&P กล่าวกับ Reuters
อย่างไรก็ตาม จากรายงานของ S&P Global Ratings เมื่อเดือนตุลาคมกล่าวว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอาจลดลงต่ำกว่า 3% ในปี 2024 หากการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์รุนแรงขึ้น
ใน Downside Scenario ยอดขายอสังหาริมทรัพย์ในปี 2024 อาจลดลงถึง 25% จากปี 2022 เหลือประมาณ 10 ล้านล้านหยวน โดย S&P ประมาณการว่าสิ่งนี้จะทำให้การเติบโตของ Real GDP ของจีนลดลงเหลือ 2.9% ในปี 2024
เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์คิดเป็นประมาณ 13% ของ GDP จีนในทางตรง ส่วนในทางอ้อมคิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% โดยวิกฤตภาคอสังหายังอาจสร้างผลกระทบแบบโดมิโนต่อระบบการเงินและรัฐบาลท้องถิ่นได้ด้วย
Fitch มองปัญหา LGFV จ่อดีขึ้นในปี 2024
นอกจากนี้ Fitch Ratings ยังมองว่า Local Government Financing Vehicles (LGFV) ซึ่งเป็นนิติบุคคลเฉพาะกิจ ที่รัฐบาลท้องถิ่นจีนจัดตั้งขึ้นมาเพื่อลงทุนพัฒนาและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ มีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระ (Default) ลดลงในปี 2024
เนื่องจาก LGFV คาดว่าจะมีขีดความสามารถในการชำระหนี้และจัดหาเงินทุนให้กับโครงการภาครัฐในปี 2567 ‘มากขึ้น’ เนื่องจากรายได้ของรัฐบาลท้องถิ่น และการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางคาดว่าจะดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม Sherry Zhao ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายการคลังระหว่างประเทศจาก Fitch ยังเตือนว่า เศรษฐกิจภูมิภาคที่อ่อนแออาจเผชิญกับการฟื้นตัวที่ชะลอตัวลง รวมไปถึงการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ตึงตัวยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ เพื่อลดความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของ LGFV เมื่อเดือนพฤศจิกายน รัฐบาลท้องถิ่นทั่วประเทศจีนจึงได้ออกพันธบัตรรีไฟแนนซ์พิเศษเพื่อชำระหนี้ มูลค่าทั่วประเทศรวม 5.5 ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของพันธบัตร LGFV ที่มีครบกำหนดภายในสิ้นปี 2024 (ตามการประมาณการของ S&P)
โดยเมืองที่มีหนี้สูง เช่น มองโกเลียในยูนนาน และกุ้ยโจว ได้ออกพันธบัตรรีไฟแนนซ์มากขึ้น เมื่อเทียบกับเมืองอื่นๆ ที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีกว่า เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และกวางตุ้ง ซึ่งยังไม่ได้ประกาศแผนการออกพันธบัตรรีไฟแนนซ์
Fitch จับตาระดับหนี้ภาคธุรกิจและธนาคารของจีน
เมื่อเดือนสิงหาคมผ่านมา James McCormack หัวหน้าฝ่ายอันดับเครดิตประเทศระดับโลก (Global Head of Sovereigns) จาก Fitch Ratings กล่าวว่า อาจพิจารณาทบทวนอันดับเครดิตประเทศของจีน ซึ่งอยู่ที่ระดับ A+ อีกครั้ง
“หากจีนขยายงบดุล (Balance Sheet) เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ เราอาจพิจารณาใหม่อีกครั้ง เนื่องจากอัตราส่วนหนี้สินต่อ GDP อยู่ในระดับสูงเล็กน้อยสำหรับเครดิต A” James McCormack กล่าวกับ Bloomberg TV พร้อมทั้งเตือนอีกว่า การเพิ่มขึ้นของหนี้สินในภาคธุรกิจและการธนาคารอาจถูกโอนเป็นหนี้รัฐบาล อย่างไรก็ตาม McCormack ยังมองว่าจากหลักฐานล่าสุดไม่ได้มีแนวโน้มว่าจะเป็นเช่นนั้น
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/world/china/sp-no-changes-china-credit-rating-outlook-2023-12-06/
- https://www.scmp.com/business/banking-finance/article/3243953/fitch-says-chinas-local-government-financing-vehicles-lower-risk-default-2024
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-08-16/fitch-says-china-credit-rating-may-be-vulnerable-to-a-rethink?sref=CVqPBMVg
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2023-10-24/china-growth-may-fall-to-2-9-if-property-crisis-widens-s-p?sref=CVqPBMVg