×

Fitch คงอันดับความน่าเชื่อถือ ‘ไทย’ ที่ BBB+ มองนโยบายเศรษฐกิจ-การคลังระยะสั้นคลุมเครือ เหตุการเมืองไม่นิ่ง พร้อมเตือนหนี้ครัวเรือนสูงกระทบภาคการเงิน

11.07.2023
  • LOADING...
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์

Fitch Ratings มองนโยบายเศรษฐกิจ-การคลังระยะสั้นไทยคลุมเครือ เหตุความไม่แน่นอนทางการเมือง ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือ ‘ไทย’ ที่ BBB+ เตือนอัตราส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูงอาจก่อให้เกิดความเปราะบางในภาคการเงินได้

 

วันนี้ (10 กรกฎาคม) Fitch Ratings บริษัทจัดอันดับเครดิตระดับโลก คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Outlook) อยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

 

โดย Fitch Ratings คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตอย่างต่อเนื่องจาก 2.6% ในปี 2022 เป็น 3.7% และ 3.8% ในปี 2023 และปี 2024 ตามลำดับ โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าปี 2566 นักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 29 ล้านคน จาก 11.2 ล้านคนในปี 2022 ประกอบกับการบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง ไปจนถึงการฟื้นตัวของตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่องภายใต้มาตรการสนับสนุนต่างๆ แม้ว่าการส่งออกสินค้าคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์และเศรษฐกิจโลก และการใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัวของประเทศที่พัฒนาแล้ว (Advanced Economies) 

 

Fitch Ratings ยังมองว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจดำเนินต่อไป โดยระบุว่า “แนวโน้มนโยบายเศรษฐกิจและการคลังในระยะสั้นของไทยค่อนข้างคลุมเครือ เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยังคงอยู่ หลังการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม แม้ในวันที่ 13 กรกฎาคมจะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไป แต่ระยะเวลาที่รัฐบาลใหม่จะเข้ารับตำแหน่งเมื่อใดนั้นยังไม่แน่นอน ดังนั้นการกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพอาจถูกจำกัด หากการจัดตั้งรัฐบาลยืดเยื้อนานหลายเดือน ถึงกระนั้น Fitch Ratings ยังเชื่อว่า ผลลัพธ์ดังกล่าวไม่น่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจที่สำคัญของรัฐบาล”

 

นอกจากนี้ Fitch Ratings กล่าวอีกว่า “ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อมากขึ้นอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางสังคม และนำไปสู่การหยุดชะงักในการเบิกจ่ายงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ ที่จะสิ้นสุดในเดือนกันยายน 2024 ด้วย” แต่ย้ำว่าสถานการณ์ดังกล่าวไม่ใช่สมมติฐานพื้นฐานของเรา

 

Fitch เชื่อการคลังไทยค่อยๆ เข้าสู่สมดุล 

ในภาคการคลังสาธารณะ (Public Finance) Fitch Ratings คาดว่าการขาดดุลการคลังของไทยจะลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 4.4% ในปี 2022 เป็น 3.4% ในปี 2023 และคาดว่าปี 2024 จะขาดดุลที่ 3.2% ซึ่งการขาดดุลที่ลดลงสะท้อนถึงรายได้ภาษีที่แข็งแกร่งขึ้น และการสิ้นสุดของมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

 

อย่างไรก็ดี ภายในปี 2567 คาดว่าสัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อ GDP (General Government Debt to GDP) จะเพิ่มขึ้นเป็น 55.9% ในปี 2025 แต่ยังคงอยู่ในระดับเดียวกับกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกัน (BBB Peers) และจะทยอยลดลง เนื่องจากมีการปรับภาวะทางการคลังให้เข้าสู่สมดุล (Fiscal Consolidation) นอกจากนี้ รัฐบาลไทยยังคงสามารถระดมทุนในประเทศได้เป็นอย่างดีในทุกสถานการณ์ ส่งผลให้หนี้สาธารณะคงค้างส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินบาท และมีอายุคงเหลือที่ค่อนข้างยาว จึงช่วยลดความเสี่ยงด้านการคลัง  

 

Fitch Ratings คาดการณ์ว่า ไทยจะรักษาตำแหน่งประเทศที่มีทุนสำรองระหว่างประเทศเพียงพอได้ต่อไป โดยปัจจุบัน ทุนสำรองฯ ของไทยอยู่ที่ 7.3 เดือน ขณะที่ประเทศที่อยู่อันเดียวกัน หรือ BBB Peers และ A Peers จะมีค่ากลางอยู่ที่ 4.2 เดือน

 

Fitch จับตาความเปราะบางในภาคการเงิน เหตุหนี้ครัวเรือนไทยพุ่ง

Fitch Ratings ยังคาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 25 bps สู่ 2.25% ก่อนที่จะหยุดยาว เนื่องจากให้ความสำคัญไปที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อ ที่อาจมาจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและการบริโภคอย่างต่อเนื่อง

 

ขณะที่อัตราส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยลดลงเหลือ 90.6% ในไตรมาส 1 ในปีนี้ จากสูงสุดที่ 95.5% ในไตรมาส 1 ของปี 2021 แต่อัตราส่วนดังกล่าวยังคงสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคส่วนใหญ่ ดังนั้นความถดถอยด้านความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจที่เป็นหนี้สูงจึงอาจก่อให้เกิดความเปราะบางของภาคการเงินได้

 

แม้ว่าภาคธนาคารจะดูฟื้นตัวได้ ท่ามกลางความท้าทายด้านคุณภาพสินทรัพย์ แต่ Fitch Ratings คาดว่า กลุ่มธนาคารจะยังคงรักษาแนวรับที่มั่นคงต่อความเสี่ยงขาลง ซึ่งสนับสนุนแนวโน้มที่เป็นกลางสำหรับภาคส่วนนี้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising