×

Fitch Ratings หั่นเรตติ้งกลุ่ม ‘เอสซีจี’ ลงเป็น A(tha) เหตุเสี่ยงหนี้พุ่งจากธุรกิจเคมิคอลส์-บรรจุภัณฑ์ที่อ่อนแอ ฉุดราคาหุ้นร่วง 2%

29.11.2023
  • LOADING...

Fitch Ratings ปรับลดอันดับเครดิตเรตติ้ง บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC พร้อมบริษัทลูกคือ บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง หรือ SCGP เป็น ‘A(tha)’ จาก ‘A+(tha)’ กดดันให้ราคาหุ้น SCC ปิดการซื้อ-ขายภาคเช้าวันนี้ (29 พฤศจิกายน) อยู่ที่ 292 บาท ลดลง 0.68 บาท ติดลบไป 2% เปรียบเทียบจากราคาปิดวันก่อนหน้า ส่วนราคาหุ้น SCGP ภาคเช้าวันนี้อยู่ที่ 39.50 บาท เพิ่มขึ้น 1.25 บาท บวก 3.27% เปรียบเทียบจากราคาปิดวันก่อนหน้า

 

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ รวมถึงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของโครงการหุ้นกู้ระยะกลาง (Medium-Term Note Program) มูลค่ารวมไม่เกิน 3 แสนล้านบาทของ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย หรือ SCC เป็น ‘A(tha)’ จาก ‘A+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกัน Fitch Ratings ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ที่ ‘F1(tha)’

 

พร้อมทั้งประกาศปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ รวมถึงอันดับเครดิตภายในประเทศของโครงการหุ้นกู้ระยะกลาง มูลค่ารวม 4 หมื่นล้านบาทของ บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง หรือ SCGP เป็น ‘A(tha)’ จาก ‘A+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ เป็นไปตามการปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทแม่ มาจากการปรับลดอันดับเครดิตของ SCC สะท้อนถึงอัตราส่วนหนี้สินที่สูงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากธุรกิจเคมิคอลส์และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ของ SCC ที่อ่อนแอ

 

มองหนี้ใน 3 ปีข้างหน้าเสี่ยงพุ่งสูง-ธุรกิจหลักเผชิญความท้าทาย

 

สำหรับการปรับลดอันดับเครดิตของ SCC สะท้อนถึงการคาดการณ์ของ Fitch Ratings ว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หลังรวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมและหักเงินปันผลจ่ายแก่ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย หรือ EBITDA Net Leverage ของ SCC จะยังคงอยู่ในระดับที่เกินกว่า 3.5 เท่าในช่วงอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นระดับที่สูงเกินกว่าระดับที่สอดคล้องสำหรับอันดับเครดิตที่ ‘A+(tha)’ อัตราส่วนหนี้สินที่สูงนี้เกิดจากการฟื้นตัวของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ช้ากว่าที่ Fitch Ratings คาด เนื่องจากความท้าทายอย่างต่อเนื่องในธุรกิจเคมิคอลส์และธุรกิจบรรจุภัณฑ์ของ SCC

 

โดยอันดับเครดิตของ SCC สะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำตลาดในธุรกิจหลักของบริษัท ได้แก่ กลุ่มสินค้าปูนซีเมนต์ กระเบื้องเซรามิก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย (โพลีโอเลฟินส์และพีวีซี) และกระดาษบรรจุภัณฑ์ ในประเทศไทยและหลายประเทศในอาเซียน สถานะผู้นำตลาดในแต่ละผลิตภัณฑ์และประโยชน์ที่ได้รับจากการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงเฉพาะที่อาจเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง

 

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

 

การลดลงของอัตราส่วนหนี้สินที่ช้า โดย Fitch Ratings คาดว่า EBITDA ของ SCC จะฟื้นตัวไปอยู่ที่ระดับ 3.9 หมื่นล้านบาทในปี 2566 และ 5.8 หมื่นล้านบาทในปี 2567 จากระดับ 3.6 หมื่นล้านบาทในปี 2565 โดย EBITDA Net Leverage จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 5.9 เท่าในปี 2566 ก่อนที่จะลดลงไปอยู่ที่ประมาณ 4.3 เท่าในปี 2567 จากปี 2565 อยู่ที่ 5.7 เท่า โดย Fitch Ratings คาดการณ์ว่าอัตราส่วนหนี้สินดังกล่าวจะลดลงไปอยู่ที่ระดับ 3.5 เท่าในปี 2568 แต่ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงด้านลบ ซึ่งรวมถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีนที่อาจจะช้ากว่าที่คาด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและความต้องการของบรรจุภัณฑ์

 

ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมียังคงอ่อนตัว Fitch Ratings คาดว่าส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจะยังคงอ่อนแอในปี 2567 แม้ว่าจะฟื้นตัวบ้างเล็กน้อยจากในปี 2566 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของกำลังการผลิตใหม่ในอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกำลังการผลิตโพลีโพรพิลีน ประกอบกับในช่วงเวลานี้ความต้องการของผู้บริโภคในภูมิภาคมีแนวโน้มลดลง

 

โดยเฉพาะเมื่อ Fitch Ratings คาดการณ์ว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจีนจะยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาอย่างน้อยจนกระทั่งถึงปี 2569 ด้วยเหตุนี้ Fitch Ratings คาดว่าอัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ หรือ EBITDA Margin ของธุรกิจเคมิคอลส์จะฟื้นตัวไปอยู่ที่ระดับ 3.1% ในปี 2566 และ 7.5% ในปี 2567 เมื่อเทียบกับ EBITDA Margin ของช่วงกลางวัฏจักรก่อนเกิดสถานการณ์โรคระบาดที่ระดับประมาณ 14%

 

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่ง Fitch Ratings คาดว่า EBITDA Margin ของธุรกิจบรรจุภัณฑ์จะยังคงถูกกดดันในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากสภาวะอุปทานส่วนเกินในตลาดอินโดนีเซีย ซึ่งถูกกระทบจากการลดลงอย่างมากของการส่งออกไปยังประเทศจีนตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2565 และส่งผลกระทบต่อราคาขาย ขณะที่ Fitch Ratings เชื่อว่าราคาขายของผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปยังประเทศจีนจะค่อยๆ ฟื้นตัวตามการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศจีน ซึ่งจะทำให้ EBITDA Margin ของธุรกิจบรรจุภัณฑ์ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 2 ปีข้างหน้า

 

นอกจากนี้ Fitch Ratings ยังคาดว่าภาวะเงินเฟ้อที่ลดลงในประเทศไทย และการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัว รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น และการเติบโตของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ จะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวเช่นเดียวกัน

 

อัตราการใช้กำลังการผลิตของ LSP ที่เพิ่มขึ้น

 

โครงการ Long Son Petrochemicals (LSP) ในประเทศเวียดนามเริ่มดำเนินการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย (โพลีโอเลฟินส์) ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2566 และ SCC กำลังเริ่มทดสอบระบบการผลิตปิโตรเคมีขั้นต้น (โอเลฟินส์) ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 และตั้งเป้าที่จะเริ่มดำเนินการผลิตเต็มรูปแบบหลังจากนั้น Fitch Ratings คาดว่า LSP จะเพิ่มอัตราการใช้กำลังการผลิตให้อยู่ที่ระดับร้อยละ 80-90 ภายในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 เนื่องจากความได้เปรียบเชิงต้นทุนของตลาดภายในประเทศเมื่อเทียบกับสินค้าโพลีเมอร์นำเข้า และความยืดหยุ่นของโครงการที่สามารถใช้ได้ทั้งโพรเพนและแนฟทาเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิต ในปัจจุบันประเทศเวียดนามมีการนำเข้าสินค้าโพลีเมอร์เกือบทั้งหมดสำหรับความต้องการใช้ในประเทศ อย่างไรก็ตาม EBITDA จาก LSP น่าจะเพิ่มขึ้นช้ากว่าการเพิ่มขึ้นของปริมาณการขาย เนื่องจากจะถูกลดทอนด้วยส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ยังคงอ่อนแออยู่

 

สิทธิในการขายหุ้น Fajar ในธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง

 

บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง หรือ SCGP ปรับลดเครดิตมาที่ A(tha) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่สำคัญของ SCC มีความเป็นไปได้ที่จะซื้อหุ้นในสัดส่วน 44.48% ของ PT Fajar Surya Wisesa Tbk (Fajar) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ SCGP ในประเทศอินโดนีเซีย ด้วยเงินลงทุนมูลค่าประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท โดย SCGP คาดว่าผู้ถือหุ้น Fajar ที่เป็นพันธมิตรในการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันมีโอกาสสูงที่จะใช้สิทธิในการขายหุ้น (Put Option) ในช่วงกลางปี 2567 ซึ่งการลงทุนนี้จะทำให้การลดลงของอัตราส่วนหนี้สินของ SCC ล่าช้าออกไปในระยะสั้น

 

การลดค่าใช้จ่ายลงทุน

 

Fitch Ratings เชื่อว่า SCC จะยังไม่มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในช่วงที่สภาวะตลาดยังอ่อนแอและอัตราส่วนหนี้สินยังคงสูง ดังนั้น Fitch Ratings ประมาณการค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่ไม่รวมแผนการลงทุนเพิ่มเติมใน Fajar ที่ประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาทในปี 2567 และประมาณ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2568 ซึ่งลดลงจาก 4.0 หมื่นล้านบาทในปี 2566 โดยส่วนใหญ่คาดว่าจะใช้ในการบำรุงรักษาและการปรับปรุงประสิทธิภาพ

 

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

 

SCC มีสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่า บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง หรือ SCCC ซึ่งมีอันดับเครดิต A(tha)/แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งอยู่ในธุรกิจผลิตภัณฑ์ก่อสร้างเช่นเดียวกัน โดย SCC มีส่วนแบ่งทางการตลาดของปูนซีเมนต์ในประเทศที่สูงกว่า มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า รวมถึงมีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์และการกระจายความเสี่ยงของกระแสเงินสดจากหลากหลายธุรกิจกว่า อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งทางสถานะทางธุรกิจที่สูงกว่าได้ถูกลดทอนจากอัตราส่วนหนี้สินของ SCC ที่สูงกว่า SCCC ทำให้อันดับเครดิตของ SCC และ SCCC อยู่ในระดับเดียวกัน

 

ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC มีอันดับเครดิต ‘AA(tha)’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ, สถานะเครดิตโดยลำพัง ‘A+(tha)’ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่นน้ำมันครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย SCC มีขนาดธุรกิจปิโตรเคมีที่เล็กกว่า แต่มีการกระจายความเสี่ยงในธุรกิจอื่นที่หลากหลายกว่า ทำให้ SCC มีความเสี่ยงต่อความผันผวนของธุรกิจปิโตรเคมีที่น้อยกว่า โดย PTTGC มีสถานะเครดิตโดยลำพังที่สูงกว่าอันดับเครดิตของ SCC อยู่หนึ่งอันดับ เนื่องจาก PTTGC มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า อย่างไรก็ตาม แนวโน้มเครดิตเป็นลบของ PTTGC สะท้อนถึงความเสี่ยงที่อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทมีแนวโน้มที่จะอยู่สูงเกินกว่าที่คาด

 

นอกจากนี้ SCC มีอันดับเครดิตสูงกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของ บมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP มีอันดับเครดิต ‘A+(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ, สถานะเครดิตโดยลำพัง ‘A-(tha)’ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันที่มีกระบวนการกลั่นน้ำมันแบบคอมเพล็กซ์และเป็นรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอยู่หนึ่งอันดับ ซึ่งสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจของ SCC ที่ดีกว่า โดย SCC มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งกว่า และมีการกระจายความเสี่ยงของกระแสเงินสดจากหลากหลายธุรกิจกว่า โดยทั้งสองบริษัทมีฐานะทางการเงินที่ใกล้เคียงกัน

 

สมมติฐานสำคัญของ Fitch Ratings ที่ใช้ในการประมาณการ

 

  • รายได้รวมลดลงในอัตราประมาณ 15% ในปี 2566 จากปี 2565 มีอัตราการเติบโต 7.5% และเพิ่มขึ้นประมาณ 15% ในปี 2567 ส่วนใหญ่เป็นผลจากดำเนินการผลิตอย่างเต็มรูปแบบของโครงการ LSP
  • EBITDA Margin ยังคงอ่อนแออยู่ที่ระดับร้อยละ 8 ในปี 2566 และเพิ่มขึ้นเป็น 10-12% ต่อปี ในปี 2567-2568 จากการฟื้นตัวของส่วนต่างระหว่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี และการฟื้นตัวของราคาขายบรรจุภัณฑ์
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนประมาณ 4 หมื่นล้านบาทในปี 2566 โดยจะเพิ่มเป็นประมาณ 4.8 หมื่นล้านบาทในปี 2567 และจะลดลงอยู่ที่ประมาณ 3 หมื่นล้านบาทในปี 2568
  • อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ที่ระดับ 40% ในปี 2567-2568

 

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

 

ปัจจัยบวก:

  • อัตราส่วน EBITDA Net Leverage ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า 3.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง

 

ปัจจัยลบ:

  • กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ปรับตัวลดลง หรือการลงทุนโดยให้แหล่งเงินทุนมาจากการกู้ยืม ซึ่งส่งผลให้ EBITDA Net Leverage สูงกว่า 4.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
  • สถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอลง ซึ่งสะท้อนโดย EBITDA ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

 

สภาพคล่อง

 

สภาพคล่องอยู่ในเกณฑ์ที่ดี: SCC มีหนี้สินที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้า นับจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2567 จำนวนประมาณ 1 แสนล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 4.3 หมื่นล้านบาท เงินกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดชำระประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 4.5 หมื่นล้านบาท สภาพคล่องของ SCC ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดและเงินลงทุนที่มีสภาพคล่องเทียบเท่าเงินสดตามการปรับปรุงตัวเลขของ Fitch Ratings จำนวนประมาณ 8.4 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2566 ซึ่งเพียงพอสำหรับการชำระคืนเงินกู้ระยะยาว และหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดไถ่ถอน ในขณะที่ Fitch Ratings เชื่อว่าเงินกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนจะสามารถเบิกเงินกู้ใหม่หมุนเวียนทดแทนเงินกู้เดิมได้ เนื่องจากบริษัทมีวงจรเงินสด (Cash Conversion Cycle) ที่มั่นคง

 

Fitch Ratings คาดว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานหลังจากหักค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนและเงินปันผล (Free Cash Flow) ที่ติดลบประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทในปี 2566 จะถูกสนับสนุนจากแหล่งเงินทุนภายนอก อย่างไรก็ตาม Free Cash Flow จะกลับมาเป็นบวกในปี 2567 จากค่าใช้จ่ายลงทุนที่ลดลง นอกจากนี้ SCC ยังมีความสามารถที่จะเข้าถึงตลาดตราสารหนี้ในประเทศ และแหล่งเงินกู้จากธนาคารที่เพียงพอ ในฐานะหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ

 

ทั้งนี้ SCC เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มี EBITDA อยู่ที่ระดับ 3.6 หมื่นล้านบาทในปี 2565 SCC มีการกระจายความเสี่ยงในสามธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจปูนซีเมนต์และวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจเคมิคอลส์ และธุรกิจแพ็กเกจจิ้ง โดย SCC มีกำลังการผลิตและส่วนแบ่งการตลาดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในหลายประเทศในอาเซียน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X