×

Fitch Ratings คงอันดับความน่าเชื่อถือไทยที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือที่ Stable Outlook แม้มองนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตยังไม่แน่นอน

13.11.2023
  • LOADING...

Fitch Ratings คงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทย (Sovereign Credit Rating) ที่ BBB+ และคงมุมมองความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอยู่ในระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

 

รายงานฉบับล่าสุดของ Fitch คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องจาก 2.8% ในปี 2566 เป็น 3.8% ในปี 2567 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวอย่างมั่นคงและภาคการส่งออกที่แข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนความต้องการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการเพิ่มขึ้นจากการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบกับมาตรการยกเว้นการตรวจลงตรา (Visa Exemption) ชั่วคราวแก่นักท่องเที่ยวจีนและอินเดีย ได้ส่งเสริมให้เกิดการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวอย่างรวดเร็ว 

 

นอกจากนี้ การใช้จ่ายทางการคลังขนาดใหญ่ (Large Fiscal Spending) จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของประเทศ อีกทั้งความสำเร็จในการก่อตั้งรัฐบาลทำให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองในระยะสั้นลดลง ซึ่งจะทำให้การดำเนินนโยบายชัดเจนมากขึ้น 

 

อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังจำเป็นต้องคำนึงถึงต้นทุนการดำเนินนโยบายและกรอบวินัยทางการคลังให้มากขึ้น ซึ่ง Fitch เชื่อว่าอันดับคะแนนภายใต้ Worldwide Governance Indicators (WGI) ของประเทศไทยจะดีขึ้น เนื่องจากการเมืองมีเสถียรภาพมากขึ้น อย่างไรก็ดี ประเทศไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ภัยแล้ง และความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี

 

ในด้านการคลังสาธารณะ (Public Finance) Fitch คาดว่า รัฐบาลจะขาดดุลงบประมาณเพิ่มขึ้นจาก 3% ของ GDP ในปี 2566 เป็น 3.7% ของ GDP ในปี 2567 ซึ่งสูงกว่าค่ากลางของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกัน (BBB Median = 2.9%) แต่จะเริ่มลดลงมาอยู่ที่ 3.5% ในปี 2568 (BBB Median =  2.6%) โดยเป็นค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนและสังคมเป็นสำคัญ 

 

ขณะเดียวกัน Fitch ยังคาดว่า สัดส่วนหนี้ภาครัฐบาลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (General Government to GDP) ปี 2568 ของไทย จะเพิ่มขึ้นเป็น 56.8% ซึ่งยังคงสูงกว่าระดับก่อนเกิดสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) แต่ยังอยู่ในระดับเดียวกันกับค่ากลางของกลุ่มประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือระดับเดียวกัน (BBB Peers) ที่ 56.3% และในระยะปานกลางในปี 2570 คาดว่าระดับดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 57.5% 

 

อีกทั้งยังเชื่อว่ารัฐบาลยังสามารถระดมทุนภายในประเทศได้ท่ามกลางสถานการณ์ความผันผวนทางเศรษฐกิจ เนื่องจากหนี้สาธารณะมีอายุเฉลี่ยค่อนข้างยาวและส่วนใหญ่เป็นหนี้สกุลเงินบาท ซึ่งจะช่วยบรรเทาความเสี่ยงทางการเงินจากการเพิ่มขึ้นของ General Government to GDP ได้

 

สำหรับภาคการเงินต่างประเทศ (External Finance) ของประเทศไทย Fitch มีมุมมองว่ายังมีความแข็งแกร่งและสามารถรองรับสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเงินโลกและความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ได้ โดยคาดว่าปี 2566 ดุลบัญชีเดินสะพัดจะกลับมาเกินดุลที่ 1% ของ GDP จากที่ขาดดุล 3.2% ในปี 2565 อีกทั้งปี 2566 คาดว่าระดับทุนสำรองระหว่างประเทศต่อมูลค่าการนำเข้าจะยังคงอยู่ในระดับสูงมากที่ 7.1 เดือนซึ่งสูงกว่า BBB Median ที่ 5 เดือน

 

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ Fitch จะติดตามเพื่อวิเคราะห์อันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของประเทศไทยคือ ความสามารถในการบริหารจัดการ General Government Debt to GDP ให้อยู่ในระดับมีเสถียรภาพและสร้างการเติบโตในระยะปานกลาง ตลอดจนประสิทธิผลของนโยบายทางเศรษฐกิจ 

 

รายงานของ Fitch ยังระบุถึงปัจจัยที่อาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตของไทยในระยะข้างหน้า ได้แก่ 

 

  1. การไม่สามารถรักษา General Government Debt to GDP ให้อยู่ในระดับมีเสถียรภาพได้ในกรณีที่การเติบโตทางเศรษฐกิจอ่อนแอเป็นเวลานานหรือมีแรงกดดันด้านการใช้จ่ายของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง
  2. เกิดการหยุดชะงักทางการเมืองที่รุนแรงขึ้นในระดับที่ส่งผลต่อประสิทธิผลในการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจและแนวโน้มการเติบโตของประเทศไทย หรือส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว

 

โดยช่วงหนึ่งของรายงานยังพูดถึงแผนการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทของรัฐบาลไทยที่คาดว่าจะใช้งบประมาณราว 5 แสนล้านบาท (2.6% ของ GDP) โดยรัฐบาลไทยจะมีการออก พ.ร.บ.กู้เงินว่า Fitch มองว่าขณะนี้ยังมีความไม่แน่นอนว่านโยบายดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติจากสภาหรือไม่ และนโยบายนี้อาจมีผลต่อแผนลดการขาดดุลภาครัฐและหนี้สาธารณะในระยะสั้นของไทย รวมถึงจะสร้างแรงกดดันทางการคลังให้กับประเทศ

 

ในทางกลับกันหากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการเติบโตในระยะปานกลางที่ดีขึ้น ไม่มีหนี้ภาคเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หนี้ของรัฐบาลต่อ GDP ปรับลดลงจากการขาดดุลทางการคลังน้อยลงก็อาจนำไปสู่การอัปเกรดอันดับความน่าเชื่อถือในเชิงบวกได้เช่นกัน

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising