×

Fit to Fly ขอใบรับรองแพทย์ก่อนบิน เงื่อนไขที่แทบเป็นไปไม่ได้สำหรับคนไทยในอังกฤษ

20.03.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • เชื้อโควิด-19 มีระยะเวลาในการฟักตัว (Incubation Period) ประมาณ 2-14 วัน ดังนั้นการตรวจเพื่อที่จะได้ใบรับรองแพทย์ Fit to Fly นั้นจึงไม่มีประสิทธิภาพในการแยกคนที่สุขภาพดีออกจากคนที่ติดเชื้อไปแล้วได้ 
  • ขณะนี้หมอในเครือข่ายของ NHS (National Health Service หรือระบบบริการสุขภาพของอังกฤษ) ทั่วประเทศก็ Overload คนไข้มากมายพออยู่แล้ว ดังนั้นการขอใบรับรองแพทย์จึงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เลยถ้าเราไม่ใช่คนไข้กรณีที่เดือดร้อนจริงๆ 
  • การขอให้คนหลายๆ คนไปรวมกลุ่มในที่ที่แออัดเพียงเพื่อที่จะขอใบรับรองแพทย์ที่ไม่สามารถแยกคนที่ยังไม่ติดเชื้อกับคนที่ติดเชื้อไปแล้ว เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่เชื้ออย่างไม่จำเป็น แถมการออกนโยบายเช่นนี้ยังเพิ่มความตื่นตระหนก ความกังวลให้กับคนไทยที่อยากจะกลับบ้านอย่างไม่จำเป็น

เมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมา ทางสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ออกประกาศฉบับใหม่ในเรื่องแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ดำเนินการเดินอากาศที่ทำการบินมายังประเทศไทยว่า สำหรับคนไทยที่กำลังจะเดินทางกลับบ้านทุกคน ก่อนที่จะบินจำเป็นต้อง

 

‘…มีใบรับรองแพทย์ที่ยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทาง (Fit to Fly)’

 

ถ้าไม่มีจะไม่สามารถขึ้นเครื่องได้

 

จุดประสงค์ของทาง กพท. ซึ่งเป็นจุดประสงค์ที่พอจะเข้าใจได้ก็คือ

 

  1. ทำการป้องกันไม่ให้คนไทยที่ติดเชื้อบินเข้าประเทศได้
  2. เป็นการลดแรงจูงใจให้คนไทยไม่บินกลับไทยในขณะนี้

 

แต่ผมในฐานะที่เป็นนักวิชาการทางด้านพฤติกรรมศาสตร์คนหนึ่งอยากจะให้ทาง กพท. ลองพิจารณาทบทวนการออกนโยบายที่ใช้กับคนไทย โดยเฉพาะคนไทยที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

 

  1. เชื้อโควิด-19 มีระยะเวลาในการฟักตัว (Incubation Period) ประมาณ 2-14 วัน ดังนั้นการตรวจเพื่อที่จะได้ใบรับรองแพทย์ Fit to Fly นั้นจึงไม่มีประสิทธิภาพในการแยกคนที่สุขภาพดีออกจากคนที่ติดเชื้อไปแล้วแต่ยังไม่มีอาการไอหรือมีไข้ 

 

พูดง่ายๆ ก็คือ Fit to Fly เป็นเพียงเครื่องมือที่ทาง กพท. อยากจะใช้ในการลดแรงจูงใจให้คนไทยไม่บินกลับไทยในขณะนี้อย่างเดียว

 

  1. ปัญหาก็คือการที่ให้คนไทยไปขอใบรับรองแพทย์ Fit to Fly นั้นจะใช้ได้ผลในการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนที่ยังไม่ได้ซื้อตั๋วและคนที่ซื้อตั๋วไปแล้ว แต่วันที่จะบินนั้นไม่ใช่ 1-2 สัปดาห์ที่จะถึงนี้อย่างเดียว เพราะการออกนโยบายให้คนไทยไปขอใบรับรองแพทย์ Fit to Fly แทบจะไม่มีผลกับคนไทยที่ซื้อตั๋วแล้วจะต้องบินภายใน 1-2 สัปดาห์นี้เลย ถึงแม้ว่าเขาจะสามารถเลื่อนตั๋วออกไปในอนาคตได้ก็ตาม สาเหตุก็คือ Loss Aversion หรือการที่คนเราเกลียดการสูญเสียมากๆ บวกกันกับ Present Bias หรือการที่คนเราให้ความสำคัญกับปัจจุบันมากเกินไปนั่นเอง

 

สำหรับคนที่ซื้อตั๋วไปแล้วและจะบินวันใกล้ๆ นี้ ความกลัวการสูญเสีย (Loss Averse) และการที่วันที่จะบินมันอยู่ใกล้ๆ ไม่ได้ไกลมาก ทำให้เขารู้สึกเสียดายตั๋วที่ซื้อไปแล้วเยอะมากกว่าเมื่อเทียบกับคนที่ยังไม่ได้ซื้อตั๋วและคนที่ซื้อไปแล้วแต่ยังไม่บินเร็วๆ นี้ ซึ่งก็หมายความว่า ไม่ว่าทาง กพท. ออกกฎอะไรมาก็ตาม เขาก็จะพยายามทำให้ได้

 

  1. ปัญหาที่ตามมาก็คือ Demand Surge ของจำนวนคนที่ต้องการความช่วยเหลือจากสถานทูต ซึ่งสุดท้ายก็สร้างความ Overload ของความสามารถในการดูแลของเจ้าหน้าที่ของสถานทูตในเวลาวิกฤตขณะนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องดูแลกันอย่างไม่หวาดไม่ไหว

 

 

  1. อีกอย่างหนึ่ง การนัดพบหมอในสหราชอาณาจักร ขณะนี้หมอในเครือข่ายของ NHS (National Health Service หรือระบบบริการสุขภาพของอังกฤษ) ทั่วประเทศก็ Overload คนไข้มากมายพออยู่แล้ว ดังนั้นการขอใบรับรองแพทย์จึงไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่ายๆ เลยถ้าเราไม่ใช่คนไข้กรณีที่เดือดร้อนจริงๆ 

 

การให้คนไทยที่อยากจะบินกลับบ้านไปขอใบรับรองแพทย์ในตอนนี้เป็นเงื่อนไขที่ไร้ซึ่งความเข้าใจในระบบของ NHS นี้เป็นอย่างมาก และถึงแม้ว่าทางสถานทูตจะสามารถหาแพทย์ไทยมาช่วยทำการตรวจในลอนดอน แต่เราก็ยังมีคนไทยที่อยากจะบินกลับบ้านที่อาศัยอยู่นอกลอนดอนที่ไม่สามารถนัดพบแพทย์ในเร็ววันเพื่อที่จะขอใบรับรองแพทย์นี้ได้

 

  1. สุดท้ายการขอให้คนหลายๆ คนไปรวมกลุ่มในที่ที่แออัดเพียงเพื่อที่จะขอใบรับรองแพทย์ที่ไม่สามารถแยกคนที่ยังไม่ติดเชื้อกับคนที่ติดเชื้อไปแล้วแต่ยังไม่มีอาการ เป็นการเพิ่มความเสี่ยงของการแพร่เชื้ออย่างไม่จำเป็น แถมการออกนโยบายเช่นนี้ยังเพิ่มความตื่นตระหนก ความกังวลให้กับคนไทยที่อยากจะกลับบ้านอย่างไม่จำเป็น

 

ถ้าอย่างนั้นแล้วเรามีทางออกอย่างอื่นอีกไหม

 

ทางออกที่สำคัญที่สุดอาจจะเป็นการให้คนไทยที่อยากกลับบ้านในตอนนี้ คือการควบคุมดูแลกักกันพวกเขาเมื่อเดินทางถึงประเทศไทยแล้วให้ดี และด้วยเหตุผลที่นโยบายนี้อาจมีประสิทธิภาพในการลดแรงจูงใจของคนที่ยังไม่ได้ซื้อตั๋วกลับ เราก็อาจจะนำมันออกมาใช้ได้ แต่อาจจะต้องยืดวันบังคับใช้ให้ไกลออกไปหน่อย 

 

ทั้งนี้เป็นเพราะว่าการออกนโยบายในวันนี้มันตรงกับช่วงพีกของจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มสูงขึ้นพอดี ซึ่งจำนวนคนที่อยากจะกลับในช่วงนี้จึงมีอยู่สูงเป็นพิเศษ และถ้าไม่ว่าทำอย่างไรพวกเขาก็จะกลับอยู่ดี เราก็น่าจะให้เขาเดินทางกลับไปด้วยความเครียดที่น้อยที่สุด มีโอกาสที่เขาจะติดเชื้อน้อยที่สุด โดยการไม่ต้องให้เขาไปชุมนุมรวมกลุ่มกับคนอีกหลายๆ คนเพื่อขอใบรับรองแพทย์ที่ไม่มีประโยชน์อะไรเลย (อย่าลืมนะครับ คนที่ป่วย มีไข้ เขาคงรู้ว่าถึงไปขอให้หมอตรวจจริงๆ ก็คงจะไม่ผ่าน เพราะฉะนั้นเราคงจะไม่เห็นคนที่มีไข้ไปขอ จะมีก็แต่คนที่ติดเชื้อไปแล้วแต่ยังไม่มีอาการ) 

 

จึงอยากเขียนให้ทาง กพท. พิจารณาไว้ ณ ที่นี้ด้วยครับ

 

ณัฐวุฒิ เผ่าทวี

 

ศาสตราจารย์ทางด้านพฤติกรรมศาสตร์ (Professor of Behavioural Science)

Warwick Business School, UK

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X