โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน แห่งที่ 4 ในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่นำพื้นที่ของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา มาพัฒนาเป็น ‘เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต’ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ชุมชน เนื้อที่การพัฒนา 16,753 ไร่ ใช้เงินลงทุนกว่า 18,680 ล้านบาท กำลังกลายเป็นประเด็นในหน้าสื่ออีกครั้ง หลังจากที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ออกประกาศเชิญชวนให้สาธารณชนร่วมเวทีแสดงความคิดเห็นต่อโครงการที่กำลังจะเกิดขึ้น ท่ามกลางเสียงต่อต้านของชาวบ้านในพื้นที่และองค์กรภาคประชาสังคมที่แสดงความกังวลต่อโครงการดังกล่าว รวมถึงกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่ผู้คัดค้านมองว่าอาจจะไม่รอบด้าน อีกทั้งยังอยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการตั้งข้อสังเกตถึงกระบวนการของโครงการที่อาจมีการเร่งรัดอย่างผิดปกติ
วานนี้ (12 พฤษภาคม) ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนอายุ 17 ปี ลูกชาวประมงบ้านสวนกง ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ร่วมกับพี่น้องเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ยื่นหนังสือที่ศาลากลางจังหวัดสงขลา เพื่อส่งถึง ศอ.บต. และคณะรัฐมนตรี ขอให้ยกเลิกการจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการในเขตเศรษฐกิจพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ ในวันที่ 14-20 พฤษภาคมนี้ ซึ่งยังอยู่ในช่วงเวลาบังคับใช้กฎหมายพิเศษในวิกฤตโควิด19 และถูกออกแบบมาจำกัดผู้เข้าร่วม ทั้งเพื่อการป้องกันโควิด19 และไม่ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสีย รวมถึงขอให้ทบทวนโครงการจะนะ เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้า
จากนั้นไครียะห์พร้อมแม่และชาวจะนะอีก 2 คน ปักหลักค้างคืนรอคำตอบอยู่ที่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา โดยไครียะห์ได้เขียนจดหมายน้อยถึง พล.อ. ประยุทธ์ โดยมีเนื้อหาใจความตอนหนึ่งว่า
“หนูเป็นลูกหลานชาวประมง อาศัยอยู่ในชุมชนริมชายฝั่งของอำเภอจะนะ ตั้งแต่เล็กจนโตหนูเห็นพ่อแม่ทำการประมงมาตลอด พ่อจับปลา แม่เอาปลาที่พ่อจับได้ไปขายที่ตลาดสงขลา รายได้ทั้งหมดในบ้านมาจากการทำอาชีพประมงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์
“บ้านที่หนูอาศัยอยู่ เสื้อผ้าที่หนูใส่ รองเท้า ชุดนักเรียน ค่าเทอม รถจักรยานที่หนูเคยขี่ ของเล่นที่หนูเคยมี ชีวิตทั้งชีวิต ความสุข ความทรงจำ ทุกเรื่องราวของหนูมาจากทะเลทั้งหมด ทะเลคือชีวิต ทะเลคือแม่”
ไครียะห์ทิ้งท้ายในจดหมายว่า “จะมีค่าอันใดเล่า หากพัฒนาเพื่อเอาผลประโยชน์ จนทำลายอนาคตของลูกหลาน จะทนได้หรือคุณปู่ประยุทธ์
“หนูจะนั่งและนอนตรงนี้ (หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา) จนกว่าจะมีคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ยกเลิกเวทีรับฟังความคิดเห็นวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2563
ด้วยความเคารพ”
ล่าสุดเวลา 17.00น. วันนี้ (13 มีนาคม) ศอ.บต. ออกประกาศเลื่อนการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นด้วยวาจานิคมอุตสาหกรรมจะนะออกไปไม่มีกำหนด เนื่องจากมีประชาชน องค์กรภาคประชาชน องค์กรภาคเอกชน นักวิชาการ และสื่อมวลชน ต่างแสดงความห่วงใยต่อการรับฟังความคิดเห็นผ่านรูปแบบการแสดงความคิดเห็นด้วยวาจาที่อาจจะเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ยังสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านเว็บไซต์และส่งหนังสือแสดงความเห็นไปยัง ศอ.บต. ได้
ไครียะห์กล่าวหลังจากทราบประกาศการเลื่อนดังกล่าวว่า “หนูก็ยังรู้สึกไม่สบายใจอยู่ดี เขาแค่เลื่อน ไม่ได้ยกเลิก โครงการถูกอนุมัติมาแล้ว แต่เพิ่งมารับฟังความคิดเห็น อยากให้ผู้ใหญ่ทบทวนกระบวนการโครงการอีกครั้ง” แม้ว่าวันนี้จะได้กลับบ้าน แต่ยังยืนยันว่าจะยังคงต่อสู้ต่อไป จะยังคงติดตามสถานการณ์ประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด เพราะยังคงมีความกังวลอยู่
สำหรับที่มาของโครงการดังกล่าวเริ่มต้นขึ้นเมื่อในปี 2540 โดยกรมเจ้าท่าว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสำรวจเพื่อขยายท่าเรือ ซึ่งผลการศึกษาระบุว่า ควรขยายท่าเรือน้ำลึกสงขลาเพิ่มขึ้นอีก 1 ท่า เพื่อรองรับเรือสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์เพิ่มจากเดิมที่รองรับได้ 140,000 ตู้ต่อปี จึงมีแนวคิดที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 แต่เนื่องจากพื้นที่บริเวณท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งแรกมีแนวคูเมืองเก่าและมีโบราณสถานใต้น้ำอยู่ใกล้เคียง ซึ่งถือเป็นเขตโบราณสถาน ห้ามก่อสร้างอาคารสูงเกิน 6 เมตร อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการโยกย้ายประชาชนในพื้นที่เวนคืน จึงมีการศึกษาหาพื้นที่อีกครั้ง กระทั่งผลการศึกษาที่ออกมาในปี 2552 ก็ระบุว่า ชายฝั่งทะเลที่บ้านสวนกง ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เหมาะสมที่จะใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2
แต่แล้วผ่านไปหลายปี ดูเหมือนว่าโครงการนี้จะไม่ได้เกิดขึ้น เพราะยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ส่วนหนึ่งมาจากความหวั่นเกรงถึงผลกระทบที่จะเกิดตามมา แต่แล้วท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ได้กลับมาอีกครั้ง โดยรวมโครงการเข้ากับนิคมอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าในชื่อโครงการใหม่
ในวันที่ 4 ตุลาคม 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ที่เกิดขึ้นจากแนวคิดเพื่อต้องการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้กับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยอนุมัติ 3 แห่ง ได้แก่
- อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสาน
- อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เป็นเมืองต้นแบบการค้าชายแดนระหว่างประเทศ
- อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาที่พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
ผ่านไปเกือบ 3 ปี การประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 มีมติอนุมัติโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เพิ่มเติม เป็นเมืองต้นแบบที่ 4 สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยให้นำพื้นที่ของอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา พัฒนาเป็น ‘เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต’ ตามที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เสนอ โดยคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน (ในขณะนั้น) ได้พิจารณาและเห็นชอบในหลักการมาแล้วตั้งแต่วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2562
วันที่ 20 กรกฎาคม 2562 ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า แผนจะผลักดันให้ภาคเอกชนลงทุนจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมจะนะก้าวหน้าแห่งใหม่ขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 เรื่องการขยายผลโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ไปสู่เมืองต้นแบบที่ 4 อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต ซึ่งจะลงทุนโดยภาคเอกชน
เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคตเป็นความร่วมมือของภาคเอกชน 3 ราย ซึ่งได้ซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวตั้งแต่ปี 2540 ประมาณ 10,800 ไร่ แบ่งเป็น ที่ดินของ ประชัย เลี่ยวไพรัตน์ อดีตผู้บริหาร บมจ. อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย หรือทีพีไอ 7,000 กว่าไร่ และกลุ่ม บมจ.ปตท. โดย บมจ. ไออาร์พีซี มีที่ดิน 3,000 กว่าไร่ ซึ่งเอกชนทั้ง 3 ราย จะร่วมกันพัฒนานิคมอุตสาหกรรมแห่งใหม่ขึ้น โดยร่วมกันสร้างและพัฒนานิคมอุตสาหกรรมซึ่งได้ยื่นเรื่องขอจัดตั้ง ‘นิคมอุตสาหกรรมจะนะก้าวหน้า’ ไปยังสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) แล้วรวมมูลค่าการลงทุน 6 แสนล้านบาท ภายใน 5 ปี หรือถึงปี 2565
กระทั่งวันที่ 21 มกราคม 2563 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ที่จังหวัดนราธิวาส ได้อนุมัติในหลักการของแผนเร่งด่วนการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ประกอบด้วย 1. ด้านผังเมืองในพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่ นาทับ ตลิ่งชัน และสะกอม 2. ด้านโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ ได้แก่ โครงการท่าเรือน้ำลึกสงขลา 3. ด้านโครงข่ายการขนส่งทางบก ที่จะมีแผนแม่บทจราจรเชื่อมทางหลวง ทางหลวงชนบท ถนนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4. ด้านพลังงาน จะมีโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากก๊าซธรรมชาติ ชีวมวล แสงอาทิตยและลม เพื่อขับเคลื่อนสู่เป้าประสงค์การพัฒนาให้เป็นเมืองต้นแบบที่ 4
โดยมีสาระสำคัญของโครงการนี้ระบุว่า เพื่อยกระดับการพัฒนาอำเภอจะนะในเชิงพื้นที่ทั้งระบบและครบวงจร เพื่อให้มีความเข้มแข็งและเป็นกลไกสำคัญขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้ตอนล่างที่เชื่อมโยงไปยังพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้และภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซียสิงคโปร์ รวมทั้งเชื่อมโยงการพัฒนาเศรษฐกิจไปยังประเทศอื่นๆ โดยมุ่งเน้นการลงทุนของ ‘ภาคเอกชน’ เป็นสำคัญ
ซึ่งแผนลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ใช้งบประมาณในการลงทุน 18,680 ล้านบาท โดยคาดว่าจะก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 100,000 อัตรา เนื้อที่การพัฒนา 16,753 ไร่ แบ่งเป็น 6 ส่วน คือ
- พื้นที่เขตอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมเบา 4,253 ไร่
- พื้นที่อุตสาหกรรมหนัก 4,000 ไร่
- พื้นที่เขตอุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า 4,000 ไร่ จำนวน 4 โรง กำลังผลิตรวม 3,700 เมกะวัตต์
- พื้นที่เขตอุตสาหกรรมต่อเนื่องกับกิจกรรมหลังท่าเรือจำนวน 2,000 ไร่
- พื้นที่เขตอุตสาหกรรมศูนย์รวมและกระจายสินค้าจำนวน 2,000 ไร่
- พื้นที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จและแหล่งที่พักอาศัยจำนวน 500 ไร่
เมื่องบประมาณการพัฒนาถูกอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ศอ.บต. ในฐานะที่รับมอบความรับผิดชอบโครงการจากรัฐบาล จึงออกประกาศเรื่องเชิญชวนประชาชนแสดงข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการขับเคลื่อนโครงการในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในวันที่ 28 เมษายน 2563 โดยจะมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในช่วงวันที่ 14-20 พฤษภาคม 2563 ในเวลาต่อมาหลายภาคส่วนทั้งชาวบ้านในพื้นที่ นักกิจกรรม NGO เครือข่ายด้านส่งแว้ดล้อม เริ่มออกมาแสดงความคิดเห็นและแสดงความกังวลต่อโครงการดังกล่าว โดยบางส่วนให้ ศอ.บต. ยุติเวทีรับฟังความคิดเห็น เนื่องจากมีการกำหนดจำนวนผู้เข้าร่วม เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมองว่าอาจทำให้ไม่ได้รับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้าน และมีการตั้งข้อสังเกตในกระบวนการดำเนินงานว่า อาจมีการเร่งรัดอย่างผิดปกติ โครงการขนาดใหญ่ย่อมมีผลกระทบต่อชาวบ้านในหลายพื้นที่ ไม่ใช่แค่พื้นที่ที่มีการทำโครงการ เหตุใดไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของชุมชนรอบข้าง อีกทั้งยังอยู่ในช่วงของการถือศีลอดในเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิม
ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย จากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล