วันนี้ (18 กรกฎาคม) ที่อาคารรัฐสภา ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ สส. กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาสาเหตุและแนวทางการแก้ไขปัญหารวมถึงผลกระทบจากการนำเข้า ปลาหมอสีคางดำ เพื่อการวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ในราชอาณาจักรไทย กล่าวก่อนการประชุมคณะอนุกรรมาธิการที่มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูล
ณัฐชาระบุว่า วันนี้เชิญอธิบดีกรมประมงมาเพื่อให้ข้อมูลในเรื่องที่สังคมกำลังสงสัย ที่มีเอกชนออกมาตอบโต้ว่าเมื่อปี 2556-2558 มีการส่งออกปลาสายพันธุ์นี้ แต่อธิบดีกรมประมงเองบอกว่าไม่ทราบ ดังนั้นวันนี้จึงต้องทราบข้อมูลและข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร วันนี้จะมีความชัดเจนว่าสุดท้ายแล้วประเทศไทยจะมีการส่งออกจริงหรือไม่ และข้อมูลที่เอกชนและกรมประมงไม่ตรงกันในเรื่องของเงื่อนไขการส่งซากปลา ที่ส่วนตัวมองว่าควรมีเอกสารที่ชัดเจน ไม่ใช่ตอบโต้กันไปมา โดยคาดว่าวันนี้จะได้ข้อสรุปจากอธิบดีกรมประมงด้วยตนเอง
ส่วนประเด็นที่มีการตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดปลาหมอสีคางดำเพิ่งจะมาระบาด ณัฐชากล่าวว่า น่าจะเป็นการเข้าใจผิด ความจริงมีการระบาดมา 14 ปีแล้ว แต่วันนี้เพิ่งจะมาลุกลามจาก 5 จังหวัดไป 10 จังหวัด และ 16 จังหวัด และหากเกิดความผิดพลาดขึ้นย่อมมีข้อสันนิษฐานที่ยืนอยู่บนพยานหลักฐานทั้งหมด รวมถึงข้อยืนยันจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะกรมประมงว่าตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบันมีการอนุญาตให้นำเข้าเพียงรายเดียว ส่วนการนำเข้าจากที่อื่นที่ไม่มีการขอใบอนุญาต หรือลักลอบเข้ามาก็ยังไม่มีข้อมูลหลักฐานที่ชัดเจนที่มีน้ำหนักเพียงพอ
อย่างไรก็ตาม วันนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยกเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีเองก็แถลงที่ทำเนียบรัฐบาลว่าเราจะต้องตามหาต้นตอ และแหล่งที่มาของปลาสายพันธุ์นี้ให้ได้ เพราะจะไม่ยอมส่งธรรมชาติและระบบนิเวศที่ไม่สมบูรณ์ไปยังคนรุ่นหลัง วันนี้คณะอนุกรรมาธิการทำได้มากที่สุดคือการหาหลักฐานการวิจัยต่างๆ ที่เป็นองค์ประกอบของการแพร่ระบาด แต่ไม่สามารถที่จะทำถึงขั้นการดำเนินคดีได้ เนื่องจากเป็นฝ่ายนิติบัญญัติที่ไม่สามารถทำได้
“เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง กระทรวงใดกระทรวงหนึ่งไปแล้ว วันนี้กำลังลุกลามในประเทศไทย พื้นที่แม่น้ำลำคลองของประเทศไทยถูกลุกลามหมดแล้ว และถ้าเราปล่อยไว้แบบนี้ ในอนาคตเราจะไม่เหลือสายพันธุ์ปลาท้องถิ่นธรรมชาติให้กับคนรุ่นต่อไป และอาจทำให้คนรุ่นหลังเห็นภาพปลาท้องถิ่นจากในหนังสือเท่านั้น” ณัฐชากล่าว
ส่วนมาตรการการรับซื้อปลาหมอสีคางดำกิโลกรัมละ 15 บาทเพื่อนำไปกำจัดนั้น ณัฐชากล่าวว่า เรื่องนี้ยังเป็นข้อกังวลอยู่ ในความเร่งรีบก็ไม่ควรขาดการวางแผน เพราะมีข่าวออกมาไม่ตรงกันสักครั้งจากแหล่งที่มาเดียวกัน เพราะฉะนั้นกรอบเวลาต้องชัดเจน จะมาบอกแค่รับซื้อในกิโลกรัมละ 15 บาทโดยที่ไม่รู้ว่ารับที่ไหน ซื้อที่ไหน และระยะเวลาในการจับเมื่อไร และบอกว่าจะมาปล่อยพันธุ์ปลานักล่า แต่กลับบอกให้เร่งจับ ดูเหมือนจะย้อนแย้งกัน
ดังนั้น ต้องมีไทม์ไลน์ที่ชัดเจน เช่น 2 เดือนปล่อยให้จับในจังหวัดที่เกิดการแพร่ระบาด แล้วค่อยปล่อยปลานักล่า และหลังจากนั้นหากเจออีกจะมีการเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรอย่างไร ซึ่งวันนี้จะมีความชัดเจนจากอธิบดีกรมประมงที่เข้ามาชี้แจงเรื่องงบประมาณที่จ่ายให้กับเกษตรกรไปแล้ว และจะใช้ในอนาคตอีกเท่าไร