รัฐมนตรีคลังระบุว่า หลังจากเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว นโยบายการคลังควรมีบทบาทลดลง โดยเฉพาะช่วงที่แบงก์ชาติกำลังรับมือกับเงินเฟ้อ ยืนยันไม่ห่วงหนี้ครัวเรือน แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อ GDP อาจแตะ 86-87% ต่อ GDP ณ สิ้นปีนี้
วันนี้ (16 พฤศจิกายน) อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในงาน Bloomberg Business Summit at APEC ว่า หลังจากเศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด นโยบายการคลังควรมีบทบาทลดลง โดยเฉพาะในช่วงที่ธนาคารกลางกำลังรับมือกับปัญหาเงินเฟ้อ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ความท้าทาย ‘ เศรษฐกิจไทย ปี 2566 ’ กับการปรับตัวของภาคธุรกิจ
- ฉวยจังหวะค่าเงินอ่อน ส่องโอกาสลงทุนหุ้นโลก สร้างพอร์ตเติบโตระยะยาว
- ‘ส่วนต่างรายได้’ กับนโยบายรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ
“หลังจากรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด นโยบายการคลังควรต้องมีบทบาทน้อยลง เพื่อให้พื้นที่ธนาคารกลางใช้นโยบายการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับที่ประเทศอื่นๆ ทำอยู่ นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลไทยจะต้องตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น โดยมุ่งให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ ตัวอย่างเช่นโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ก็เป็นหนึ่งในโครงการที่รัฐบาลมุ่งให้การสนับสนุนผู้มีรายได้น้อย” อาคมกล่าว
รัฐมนตรีคลังกล่าวอีกว่า มาตรการกระตุ้นในวงกว้างจะลดลง โดยรัฐบาลจะปล่อยให้เศรษฐกิจทำงานด้วยตัวเอง เนื่องจากผู้คนจำนวนมากสามารถกลับมาทำงานได้แล้ว โรงแรมกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง โรงงานก็กลับมาดำเนินการเกินกำลัง (Capacity) แล้ว ทำให้รายได้ของผู้คนฟื้นตัว การพึ่งพามาตรการจากภาครัฐจึงมีความจำเป็นน้อยลง
อาคมยังชี้ให้เห็นว่า นโยบายการคลังมีบทบาทในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างมาก ในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิดตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้ที่มีรายได้น้อยและผู้ที่สูญเสียงานไป ตัวอย่างเช่น มาตรการแจกเงิน แพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรการคนละครึ่ง และโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในประเทศ
เงินเฟ้อยังน่าห่วง
สำหรับประเด็นเงินเฟ้อ อาคมมองว่ายังคงเป็นสิ่งที่ทั่วโลกกังวล รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยจะเห็นได้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อของไทยในเดือนตุลาคมที่ 6% ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อทั้งปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 6.2% ไม่ถือว่าสูงมาก และอยู่ในระดับปานกลาง สะท้อนว่ารัฐบาลยังจำเป็นต้องให้การสนับสนุนกลุ่มเปราะบางอยู่
พร้อมทั้งระบุว่า ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อของไทยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น (Cost Push) และธนาคารกลางเข้าใจสถานการณ์นี้อย่างดี แต่เราต้องทำให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว นี่จึงเป็นอีกปัจจัยที่ไทยต้องทำให้ช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐฯ ลดลง
ยืนยันไม่ห่วงหนี้ครัวเรือน แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อาจแตะ 87% ต่อ GDP ณ สิ้นปีนี้
เมื่อพูดถึงหนี้ครัวเรือน อาคมระบุว่าการมีหนี้เป็นเรื่องปกติ ถ้าคุณไม่มีหนี้เลย ผมคิดว่าคุณคือคนรวยทางใดทางหนึ่ง ดังนั้นตราบใดที่ผู้คนยังสามารถจ่ายหนี้ได้ก็ยังเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ นอกจากนี้ อาคมยังชี้ว่า 70% ของหนี้ครัวเรือนไทยเป็นหนี้เพื่อที่อยู่อาศัยและยานพาหนะ โดยยานพาหนะถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับภาคธุรกิจและธุรกิจขนาดเล็ก
ทั้งนี้ ตามข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยล่าสุดในช่วงครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ระดับ 88.2% โดย EIC ยังประเมินว่าสัดส่วนจะปรับลดลงอย่างช้าๆ โดยคาดว่าจะอยู่ในช่วง 86-87% ต่อ GDP ณ สิ้นปี 2022 ซึ่งยังถือเป็นระดับที่สูงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ใกล้เคียงกัน
มั่นใจเศรษฐกิจไทยปีหน้าฟื้นตัวต่อเนื่อง
สำหรับประเด็นเรื่องเศรษฐกิจถดถอย อาคมยอมรับว่ากังวล แต่แนวโน้มเศรษฐกิจไทยกลับสวนทางกับเศรษฐกิจโลก โดยเศรษฐกิจไทยก็มีแนวโน้มคล้ายคลึงกับหลายประเทศในเอเชีย ที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปีหน้าจะโตกว่าปีนี้ ส่วนใหญ่มาจากการส่งออกสินค้า และการกลับมาของนักท่องเที่ยว
โดยดูจากตัวเลขนักท่องเที่ยวถึงเดือนพฤศจิกายน นักท่องเที่ยวเข้ามาในประเทศไทยเกือบ 9 ล้านคนแล้ว ใกล้เคียงกับตัวเลขที่ทางการไทยคาดการณ์ไว้ที่ 10 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 1 ส่วน 4 ของช่วงก่อนการระบาด
อาคมยังระบุว่า หากทางการจีนผ่อนคลายนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ตนเชื่อมั่นว่านักท่องเที่ยวชาวจีนจะเดินทางมายังประเทศไทย และค่อนข้างมั่นใจว่าการผ่อนคลายนโยบายของจีนจะช่วยคลี่คลายปัญหาการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ จีนยังถือเป็นหนึ่งในตลาดที่จัดหาชิ้นส่วนและส่วนประกอบให้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์