ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า หลังการเปิดให้ผู้ไม่ผ่านเกณฑ์คัดกรองมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ขอทบทวนสิทธิ์ มีผู้ลงทะเบียนขอทบทวนสิทธิ์ 3.4 ล้านราย
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มขอข้อมูลเพิ่มเติมจำนวน 6.3 ล้านราย (เข้ามากรอกแบบสอบถามออนไลน์แล้ว 5.2 ล้านราย) ผู้ขอยกเลิกการลงทะเบียน 9.4 แสนราย ขอสละสิทธิ์ 1,675 ราย โดยตั้งแต่วันที่ 8-29 เมษายน 2563 จะมีผู้ได้รับเงินเยียวยารวม 7.5 ล้านราย คิดเป็นเงิน 3.8 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้สำหรับการทบทวนสิทธิ์ กระทรวงการคลังได้มอบหมายผู้พิทักษ์สิทธิ์จำนวน 23,000 คน ลงพื้นที่ปฏิบัติงานเพื่อทำหน้าที่ยืนยันตัวตนและตรวจสอบการประกอบอาชีพตามที่ได้ลงทะเบียนไว้ แต่จะไม่มีอำนาจพิจารณาคุณสมบัติว่าท่านจะได้รับเงินเยียวยาหรือไม่
โดยมีขั้นตอนการทำงานดังนี้
- ผู้พิทักษ์สิทธิ์จะโทรศัพท์นัดหมายผู้ทบทวนสิทธิ์ล่วงหน้าทุกราย
- เมื่อลงพื้นที่ไปพบผู้ทบทวนสิทธิ์ ผู้พิทักษ์สิทธิ์จะมีการแสดงตนอย่างชัดเจน (อาจขอให้ผู้พิทักษ์สิทธิ์แสดงบัตรประจำตัว หรือเอกสารหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานได้)
- จะมีการใช้แอปพลิเคชัน ‘ผู้พิทักษ์สิทธิ์’ ที่ติดตั้งในโทรศัพท์มือถือของฝ่ายเจ้าหน้าที่ เป็นเครื่องมือในการขอยืนยันตัวตนของผู้ทบทวนสิทธิ์ และถ่ายภาพหลักฐานต่างๆ ทุกขั้นตอน
- ข้อมูลที่สำรวจและจัดเก็บจะถูกส่งตรงจากแอปพลิเคชันกลับมายังฐานข้อมูลของกระทรวงการคลัง เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้สำหรับผู้ขอทบทวนสิทธิ์ เมื่อยื่นความประสงค์ขอทบทวนสิทธิ์ผ่านเว็บไซต์ ‘เราไม่ทิ้งกัน’ ต้องเตรียมบัตรประจำตัวประชาชนตัวจริง เอกสารและหลักฐานแสดงการประกอบอาชีพ เช่น ภาพถ่ายการประกอบอาชีพตามอาชีพที่ได้ลงทะเบียนไว้ ใบอนุญาตประกอบอาชีพ ภาพถ่ายกับสถานประกอบการ เป็นต้น
“ขอให้ประชาชนระมัดระวังการแอบอ้างหลอกลวงโดยผู้ไม่หวังดี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากท่านไม่ได้ยื่นขอทบทวนสิทธิ์ กระทรวงการคลังจะไม่มีการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปนัดหมายพบปะกับท่านแต่อย่างใด”