วันนี้ (28 พฤษภาคม) สำนักข่าว CNN รายงานเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยอ้างอิงข้อมูลจากองค์กรอนุรักษ์สัตว์ป่า ออสซี อาร์ก (Aussie Ark) ว่า ‘แทสเมเนียนเดวิล’ (Tasmanian Devil) จำนวน 7 ตัว ได้ถือกำเนิดขึ้นในพื้นที่ป่าของอุทยานแห่งชาติบาร์ริงตันท็อปส์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ของออสเตรเลีย ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 3,000 กว่าปี ที่มีลูกแทสเมเนียนเดวิลถือกำเนิดในสภาพแวดล้อมธรรมชาติบนแผ่นดินใหญ่ของออสเตรเลีย
นักสิ่งแวดล้อมระบุว่า ขณะนี้ลูกแทสเมเนียนเดวิลเหล่านี้มีขนาดตัวเท่ากับเมล็ดถั่วลิสงที่ยังไม่แกะเปลือก และอยู่ในกระเป๋าหน้าท้องของแม่
เมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว ออสซี อาร์กได้ปล่อยแทสเมเนียนเดวิล 11 ตัวสู่ป่าอุทยานบาร์ริงตัน หลังจากที่เคยปล่อยไป 15 ตัวก่อนหน้านี้ ทำให้แผ่นดินใหญ่ออสเตรเลียมีแทสเมเนียนเดวิลทั้งหมด 26 ตัว
แทสเมเนียนเดวิลเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมซึ่งมีกระเป๋าหน้าท้องและกินเนื้อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มันเคยสูญพันธุ์จากแผ่นดินใหญ่ออสเตรเลียไปแล้วเมื่อกว่า 3,000 ปีก่อน และหลงเหลืออยู่บนเกาะแทสเมเนียเท่านั้น ชื่อแทสเมเนียนนั้นมีที่มาจากชื่อเกาะ ส่วนเดวิลที่แปลว่าปีศาจร้ายถูกนำมาตั้งร่วมด้วย เนื่องจากมีนิสัยก้าวร้าว
การลดฮวบของประชากรแทสเมเนียนเดวิลมีสาเหตุมาจากการระบาดของโรคมะเร็งใบหน้า โดยออสซี อาร์กระบุว่า มีประชากรสัตว์สายพันธุ์นี้หลงเหลืออยู่บนเกาะแทสเมเนียเพียง 25,000 ตัวเท่านั้น
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- สำนักข่าวซินหัว