×

สภา กทม. เห็นชอบวาระแรกงบประมาณฯ กทม. ปี 2567 กว่า 9 หมื่นล้านบาท พร้อมตั้งคณะกรรมการพิจารณาเฉพาะ

โดย THE STANDARD TEAM
27.07.2023
  • LOADING...
บประมาณฯ กทม. ปี 2567

วานนี้ (26 กรกฎาคม) ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 4) ประจำปีพุทธศักราช 2566 ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567

 

ชัชชาติกล่าวถึงหลักการและเหตุผลของร่างข้อบัญญัติฯ ว่า กรุงเทพมหานครตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 โดยกำหนดวงเงินให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและสถานะการเงินการคลังของกรุงเทพมหานคร บนหลักของการมีประสิทธิภาพและโปร่งใส จำนวน 90,819.48 ล้านบาท จำแนกได้ดังนี้ รายจ่ายของกรุงเทพมหานคร 90,000 ล้านบาท และรายจ่ายของการพาณิชย์กรุงเทพมหานคร 819.48 ล้านบาท 

 

เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณต่างๆ ได้มีงบประมาณเป็นหลักในการจ่ายเงินงบประมาณ โดยชี้แจงเหตุผลความจำเป็นของการตั้งงบประมาณแบบสมดุลของกรุงเทพมหานคร ภายใต้การคำนึงถึงความคุ้มค่า ผลประโยชน์ที่จะได้รับ และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ พร้อมรายงานสถานะการเงินการคลังของกรุงเทพมหานคร ณ วันที่ 20 กรกฎาคม 2566 ภาระหนี้ตามโครงการต่อเนื่องที่ได้ก่อหนี้ผูกพันแล้ว ณ วันที่ 30 กันยายน 2565

 

“ร่างข้อบัญญัติฯ ที่ได้เสนอเข้าสู่สภา กทม. เพื่อพิจารณารับหลักการในวาระที่หนึ่ง ประกอบด้วย งบประมาณตามนโยบายด้านเดินทางดี จำนวน 7,913 ล้านบาท คิดเป็น 38.48%, ด้านปลอดภัยดี จำนวน 1,700 ล้านบาท คิดเป็น 8.27%, ด้านโปร่งใสดี จำนวน 82 ล้านบาท คิดเป็น 0.4%, ด้านสิ่งแวดล้อมดี จำนวน 7,137 ล้านบาท คิดเป็น 34.71%, ด้านสุขภาพดี จำนวน 2,664 ล้านบาท คิดเป็น 12.96%, ด้านเรียนดี จำนวน 488 ล้านบาท คิดเป็น 2.37%, ด้านเศรษฐกิจดี 36 ล้านบาท คิดเป็น 0.17%, ด้านสังคมดี จำนวน 285 ล้านบาท คิดเป็น 1.39% และด้านบริหารจัดการดี จำนวน 258 ล้านบาท คิดเป็น 1.25% นอกจากนี้ยังจัดสรรงบประมาณเพื่อลงสู่เส้นเลือดฝอย ครอบคลุม 50 เขต อีกจำนวน 3,356 ล้านบาท และหากจำแนกงบประมาณตามลักษณะงานและลักษณะรายจ่าย พบว่าเป็นการจัดบริการของสำนักงานเขต สูงสุดถึง 22.85%” ชัชชาติกล่าว

 

สำหรับงบประมาณปี 2567 หากแยกตามหน่วยงาน ระดับสำนัก มีจำนวน 54,713,217,100 บาท, งบกลาง 14,718,825,400 บาท และสำนักงานเขต 20,567,957,500 บาท สำนักที่ขอจัดสรรมากที่สุด 3 ลำดับแรกคือ สำนักการโยธา 11,563 ล้านบาท, สำนักการระบายน้ำ 8,936 ล้านบาท และสำนักสิ่งแวดล้อม 7,579 ล้านบาท กลุ่มเขตที่ขอจัดสรรงบประมาณสูงสุดตามลำดับคือ กลุ่มเขตกรุงเทพฯ ตะวันออก 4,744 ล้านบาท คิดเป็น 23%, กลุ่มเขตกรุงเทพฯ เหนือ 3,296 ล้านบาท คิดเป็น 16%, กลุ่มเขตกรุงเทพฯ ใต้ 3,371 ล้านบาท คิดเป็น 16%, กลุ่มเขตกรุงธนเหนือ 3,231 ล้านบาท คิดเป็น 16%, กลุ่มเขตกรุงธนใต้ 3,055 ล้านบาท คิดเป็น 15% และกลุ่มเขตกรุงเทพฯ กลาง 2,870 ล้านบาท คิดเป็น 14%

 

จากนั้นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ได้ร่วมอภิปรายเกี่ยวกับการจัดสรรงบประมาณของกรุงเทพมหานครในด้านต่างๆ เช่น 

 

สุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก. เขตจอมทอง กล่าวว่า การตั้งงบประมาณของ กทม. ที่ผ่านมาเพื่อให้ประชาชนได้อยู่ดีกินดี งบประมาณ กทม. เป็นแบบสมดุล รับเท่าไรจ่ายเท่านั้น แต่ยังพบความล่าช้าของโครงการหลายหน่วยงาน อาทิ โครงการของสำนักการโยธา นอกจากนี้ได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับโครงการก่อสร้างศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุชของสำนักสิ่งแวดล้อม, การติดตั้งกล้อง CCTV ของสำนักการจราจรและขนส่ง และโครงการคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้ของสำนักการศึกษา 

 

“การแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาความคุ้มค่าของฝ่ายบริหารจะทำให้การขับเคลื่อนการทำงานเป็นไปได้ช้า และซ้ำซ้อนกับการทำงานของสภาที่ได้พิจารณาตรวจสอบ เนื่องจากได้กลั่นกรองงบประมาณไปแล้ว งบที่ผ่านไปแล้วจึงขอให้หน่วยงานรีบดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างทันที” สุทธิชัยกล่าว

 

สราวุธ อนันต์ชล ส.ก. เขตพระโขนง อภิปรายถึงการจัดสรรงบประมาณ โดยคำนึงความสำคัญของภารกิจการนำข้อมูลร้องเรียนจากทราฟฟี่ฟองดูว์มากำหนดเป็นแผนการทำงาน เพื่อจัดสรรงบแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

 

วิรัช คงคาเขตร ส.ก. เขตบางกอกใหญ่ ได้ตั้งข้อสังเกตเพื่อเพิ่มความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินให้กับผู้ที่สัญจรบนทางเท้าและถนนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยขอให้หน่วยงานของกรุงเทพมหานครได้บูรณาการการทำงานร่วมกัน และขอให้กรุงเทพมหานครได้ศึกษาประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และเส้นทางเดินเรือคลองบางกอกใหญ่ เพื่อส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวของฝั่งธน

 

พีรพล กนกวลัย ส.ก. เขตพญาไท กล่าวว่า งบปีนี้จะได้ใช้ตามนโยบายของผู้ว่าฯ ปัจจุบันมากขึ้น โดยนโยบายที่เห็นว่าควรยกขึ้นมาทำก่อน ได้แก่ นโยบายการลดภาระค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชน โดยจัดทำจุดจอดรถจักรยานเพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง, นโยบายการเพิ่มรถเมล์สายหลักและสายรอง โดยรถเมล์สายรองจะทำให้ประชาชนเชื่อมต่อกับระบบหลักได้และเป็นการใช้งบที่ไม่มาก, นโยบายการจัดตั้ง Command Center โดยจัดสรรงบเพื่ออุดหนุนหน่วยงานอื่น เมื่อดำเนินการไปแล้วต้องติดตามการใช้จ่ายอย่างใกล้ชิด และนโยบายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ประชาชนต้องได้ประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารต้องทำนโยบายให้ครบทุกข้อที่ประกาศไว้

 

ทั้งนี้ คณะกรรมการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ได้ประชุมนัดแรกในวันเดียวกันนี้ โดยมีมติให้ สุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก. เขตจอมทอง เป็นประธานฯ, นภาพล จีระกุล ส.ก. เขตบางกอกน้อย เป็นรองประธานคนที่ 1, ยิ่งยงค์ จิตเพียรธรรม ส.ก. เขตทวีวัฒนา เป็นรองประธานคนที่ 2, สุชัย พงษ์เพียรชอบ ส.ก. เขตคลองเตย เป็นรองประธานคนที่ 3, ต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นรองประธานคนที่ 4 และ สุรจิตต์ พงษ์สิงห์วิทยา ส.ก. เขตลาดกระบัง เป็นเลขานุการคณะกรรมการวิสามัญฯ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising