THE STANDARD ลงพื้นที่ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล เพื่อเกาะติดบรรยากาศวันแรก ที่มีการเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น กรณีที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ขอให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นเพิ่มอีก 6 คำถาม หลังจากก่อนหน้านี้เคยถามไปแล้ว 4 ข้อ
เป็นเรื่องชวนสงสัย เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ ณศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ว่าในวันนี้มีการเตรียมการอย่างไร แต่ได้รับคำตอบว่า ไม่ได้มีการประสานงานจากกระทรวงมหาดไทยมา และไม่มีแบบฟอร์มที่จะให้ประชาชนตอบคำถามแต่อย่างใด
“ภาพรวมในวันนี้ ยังไม่ได้รับรายงานเข้ามาเพราะเพิ่งดำเนินการ” พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ พร้อมตอบคำถาม THE STANDARD เกี่ยวกับประเด็นที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ไม่มีการจัดให้ประชาชนตอบคำถาม 6 ข้อ ว่า “ได้มีการประสานงานไปยังหน่วยงานดังกล่าวแล้ว และประชาชนยังสามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ข้างทำเนียบฯ ศูนย์ดำรงธรรมประจำอำเภอ และในกรุงเทพฯ ทั้ง 50 สำนักงานเขต”
ขณะที่บรรยาศ ณ ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย มีสื่อมวลชนมาเกาะติดการรายงานข่าวเกี่ยวกับประเด็นนี้จำนวนมาก
กระทั่งเวลา 10.30 น. ‘น.ส.สุนันทา หิรัญบำรุง’ ประชาชน อายุ 70 ปี เดินทางจากเขตภาษีเจริญ มาตอบคำถาม 6 ข้อของนายกฯ เป็นคนแรก โดยเปิดเผยว่า
ตั้งใจมาตอบคำถามทั้ง 6 ข้อ รวมถึงคำถาม 4 ข้อที่กระทรวงมหาดไทย เพราะเป็นทางผ่านพอดีที่จะไปทำธุระส่วนตัว ซึ่งหลังจากอ่านคำถามทั้ง 6 ข้อแล้วก็มีความเข้าใจและเข้าใจเจตนาของนายกฯ ที่ต้องการให้ประชาชนออกมาแสดงความคิดเห็นเพื่อจะได้นำความเห็นทั้งหมดไปกำหนดแนวทางการบริหารประเทศ
ส่วนที่คำถามบางข้อมีความคล้ายคลึงกับ 4 คำถามครั้งก่อนนั้นเห็นว่า นายกฯ อยากจะสื่อสารในบางอย่างที่ประชาชนยังไม่เข้าใจ และคงอยากให้ประชาชนมีทางเลือกทางการเมืองมากขึ้น
“เห็นด้วยหาก คสช. จะสนับสนุนพรรคการเมือง เพราะประชาชนจะได้มีทางเลือกหลากหลาย ซึ่งถือเป็นสิทธิของนายกฯ และประชาชน อยากให้นายกฯ ลงรับสมัครเลือกตั้งหลังจากพ้นตำแหน่ง และลงสู่สนามเลือกตั้งเพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนด้วย”