×

สดร. เผยค้นพบดวงจันทร์ดวงที่สามครั้งแรกของโลก อยู่ในระบบดาวเคราะห์น้อย 130 อิเล็กตรา

โดย THE STANDARD TEAM
08.02.2022
  • LOADING...
ดวงจันทร์

วันนี้ (8 กุมภาพันธ์) ดร.วิภู รุโจปการ รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ดร.แอนโทนี แบร์เดอ นักวิจัยประจำสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยล่าสุดในหัวข้อ First observation of a quadruple asteroid. Detection of a third moon around (130) Elektra with SPHERE/IFS ลงในวารสาร Astronomy & Astrophysics ถึงการค้นพบดวงจันทร์ดวงที่ 3 ที่โคจรอยู่รอบดาวเคราะห์น้อย 130 Elektra โดยข้อมูลที่ได้จาก SPHERE/IFS ทำให้จำนวนดวงจันทร์บริวารรอบดาวเคราะห์น้อยนี้เพิ่มขึ้นจาก 2 ดวงเป็น 3 ดวง นับเป็นระบบดาวเคราะห์น้อยดวงแรกที่มีการค้นพบว่ามีดวงจันทร์บริวารได้ถึง 3 ดวง (Quadruple Asteroid System) เป็นครั้งแรกของโลก

 

สำหรับ สเฟียร์ ไอเอฟเอส (SPHERE/IFS) เป็นอุปกรณ์ที่ติดตั้งอยู่กับกล้องโทรทรรศน์ Very Large Telescope (VLT) ขนาด 8.2 เมตร ของหอดูดาวซีกฟ้าใต้แห่งยุโรป (European Southern Observatory: ESO) ที่ติดตั้งอยู่บนภูเขาเซอร์โร ปารานัล ในทะเลทรายอะตากามา ทางตอนเหนือของประเทศชิลี SPHERE หรือ Spectro-Polarimetric High-contrast Exoplanet REsearch instrument และ Integral Field Spectrograph (IFS) นี้ เป็นอุปกรณ์ที่สามารถทำการศึกษาสเปกตรัมและรายละเอียดของภาพไปได้พร้อมๆ กัน เพื่อจุดประสงค์ในการสังเกตการณ์ดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะโดยตรง

 

ในปี 2562 ขณะที่แบร์เดอยังเป็นนักวิจัยหลังปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฌอง มอนเนต์ ประเทศฝรั่งเศส เขาได้พัฒนาระบบอัลกอริทึมใหม่เพื่อประมวลผลข้อมูลที่ได้จาก SPHERE/IFS และได้สาธิตให้เห็นว่า วิธีนี้มีข้อได้เปรียบกว่าอัลกอริทึมที่ ESO ใช้ปัจจุบัน ซึ่งได้ตีพิมพ์ผลงานเอาไว้ตั้งแต่ปี 2563

 

ระหว่างที่กำลังทดสอบอัลกอริทึมใหม่นี้กับดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดีจากข้อมูลที่ถูกบันทึกเอาไว้ เมื่อ​วันที่ 9 ธันวาคม 2557 แบร์เดอได้พบว่ามีการบันทึกภาพการสังเกตการณ์ดาวเคราะห์น้อย 130 Elektra อยู่ด้วย เขาจึงได้ทดลองเอาอัลกอริทึมนี้ไปใช้ประมวลผลข้อมูลของดาวเคราะห์น้อย จากการทดลองกับภาพที่ได้ แบร์เดอยืนยันว่าเขาค้นพบดวงจันทร์สองดวง เช่นเดียวกับที่เคยถูกค้นพบในปี 2557 

 

นอกจากนั้น เขาได้สังเกตเห็นถึงความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการค้นพบดวงจันทร์ดวงที่สามโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยนี้อยู่ อย่างไรก็ตาม เมื่อทดลองวิเคราะห์ข้อมูลกับชุดข้อมูลที่ได้ในวันที่ 30 และ 31 ธันวาคม 2557 ด้วยความสว่างจากดาวเคราะห์น้อยหลัก อิเล็กตราที่สว่างกว่าเป็นอย่างมาก ทำให้แสงจากดวงจันทร์ดวงที่สามนี้ถูกบดบังอยู่ภายใต้วงแสงจ้า (Halo) ของดาวเคราะห์น้อยหลัก จึงยังไม่สามารถยืนยันการค้นพบดวงจันทร์ดวงที่สามได้ในขณะนั้น

 

ต่อมาในปี 2563 หลังจากที่แบร์เดอย้ายมาประจำที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติที่ประเทศไทย ได้พัฒนาอัลกอริทึมอีกชุดหนึ่งในการลดแสง Halo จากดาวเคราะห์น้อยหลัก และนำไปวิเคราะห์กับข้อมูลทั้งสามชุดอีกครั้งหนึ่ง ผลที่ได้นั้นเปิดเผยให้เห็นถึงดวงจันทร์ทั้งสามที่โคจรอยู่ใกล้เคียงกับแสงสว่างจากดาวเคราะห์น้อยหลักจากทั้งสามชุดข้อมูลอย่างชัดเจน จึงเป็นการยืนยันการมีอยู่ของดวงจันทร์ดวงที่สามรอบอิเล็กตราได้อย่างชัดเจน ดวงจันทร์ที่ค้นพบใหม่นี้จึงมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า ‘S/2014 (130) 2’ อิเล็กตราจึงนับเป็นระบบดาวเคราะห์น้อยดวงแรกที่เรารู้จักที่มีดวงจันทร์โคจรอยู่ด้วยกันถึงสามดวง

.

จากการสังเกตการณ์นี้ ทำให้สามารถยืนยันได้ว่าดวงจันทร์ดวงที่ 3 นี้มีวงโคจรที่ถูกยึดเหนี่ยวเอาไว้โดยแรงโน้มถ่วงรอบๆ ดาวเคราะห์น้อยอิเล็กตราอย่างแท้จริง ดวงจันทร์ดวงนี้มีวงโคจรอยู่ห่างออกไปจากดาวเคราะห์น้อยอิเล็กตราเพียง 344 กิโลเมตร (อิเล็กตรามีเส้นผ่านศูนย์กลางเฉลี่ยที่ประมาณ 200 กิโลเมตร) และโคจรรอบดาวเคราะห์น้อยหนึ่งรอบทุกๆ 16.3 ชั่วโมง ดวงจันทร์ดวงนี้มีวงโคจรที่ค่อนข้างเอียงเมื่อเทียบกับดวงจันทร์อีกสองดวง และระนาบการหมุนของอิเล็กตรา

 

เป็นที่น่าสนใจว่า ข้อมูลที่ค้นพบดวงจันทร์ดวงที่ 3 นี้เป็นข้อมูลชุดเดียวกับที่ค้นพบดวงจันทร์ดวงที่ 2 แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา ดวงจันทร์ดวงนี้หลุดรอดการค้นพบมาตลอด แต่ด้วยเทคนิคและขั้นตอนการประมวลผลข้อมูลใหม่นี้ ทำให้แสงอันริบหรี่ของดวงจันทร์นี้ไม่จางหายไปในระหว่างขั้นตอนการลดทอนข้อมูล ซึ่งนำไปสู่การค้นพบดวงจันทร์ดวงที่ 3 ในที่สุด การค้นพบนี้ไม่เพียงแต่เป็นการค้นพบดวงจันทร์ดวงใหม่ และระบบดาวเคราะห์น้อยที่มีดวงจันทร์บริวารถึง 3 ดวงเป็นครั้งแรกเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดเผยความเป็นไปได้ของวัตถุใหม่ๆ ท่ามกลางฐานข้อมูลอันมหาศาลที่ยังคงรอคอยการค้นพบ ด้วยอัลกอริทึมในการประมวลผลข้อมูลที่พัฒนาขึ้นมาใหม่นี้ 

 

ปัจจุบัน สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ มีนักวิจัยจากนานาประเทศร่วมทำงานอยู่ทั้งสิ้นกว่า 16 คน จาก 11 ประเทศ โดย แอนโทนี แบร์เดอ เป็นนักวิจัยที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการประมวลผลภาพที่มีคอนทราสต์สูง (High-contrast Imaging) ที่จะนำมาใช้กับเอวาโค (EvWaCo: Evanescent-Wave Coronagraph) [4] ที่อาจจะเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะมาแทนการค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะในอนาคต รวมไปถึงผู้นำทีมพัฒนาระบบ Adaptive Optics ที่ห้องปฏิบัติการทัศนศาสตร์และโฟโตนิกส์ของ สดร. กำลังพัฒนาอยู่ เพื่อนำมาใช้กับกล้องโทรทรรศน์แห่งชาติของไทย

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising