×

ประชุม กมธ. #สมรสเท่าเทียม นัดแรก ตั้ง ‘บรู๊ค ดนุพร’ นั่งประธาน ดึงคนดัง ‘มดดำ-ป้าตือ-วู้ดดี้’ นั่งที่ปรึกษา

โดย THE STANDARD TEAM
03.01.2024
  • LOADING...

วันนี้ (3 มกราคม) ที่สัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภา มีการประชุมนัดแรกของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือเรียกตามที่ประชาชนเข้าใจโดยง่ายว่า กมธ. พิจารณาร่างกฎหมาย #สมรสเท่าเทียม ที่มีจำนวน 39 คน

 

ภายหลังการประชุม อัครนันท์ กัณณ์กิตตินันท์ สส. จังหวัดกาญจนบุรี พรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ ได้แถลงข่าวถึงผลการประชุมว่า

 

สำหรับการแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ ในคณะกรรมาธิการนั้น ที่ประชุมมีมติเลือก ดนุพร ปุณณกันต์  สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย เป็นประธานคณะกรรมาธิการ และมีรองประธานคณะกรรมาธิการจากทุกภาคส่วน จำนวน 7 คน ในขณะที่ตำแหน่งโฆษกคณะกรรมาธิการได้มีตัวแทนจากภาคประชาชนด้วยเช่นกัน

 

ที่ประชุมยังมีการแต่งตั้ง คชาภา ตันเจริญ หรือ มดดำ, วุฒิธร มิลินทจินดา หรือ วู้ดดี้, กฤษฎิ์กุล ชุมแก้ว หรือ แต๊งค์ เจ้าของร้านอาฟเตอร์ยำ, สมบัษร ถิระสาโรช หรือ ป้าตือ และ รวีภัทร์ จิรศักดิ์วัฒนา หรือ อ๊อฟ ซึ่งปัจจุบันมีตำแหน่งประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี นั่งตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการด้วย

 

อัครนันท์กล่าวว่า กฎหมายสมรสเท่าเทียมจะเป็นกฎหมายประวัติศาสตร์ของพี่น้องประชาชน โดยเชื่อว่าจะเป็นก้าวแรกที่ทุกคนจะได้ใช้กฎหมายที่มีความเสมอภาคกับทุกภาคส่วนโดยเฉพาะกลุ่ม LGBTQIA+ โดยครั้งนี้รัฐบาล ฝ่ายค้าน หรือแม้กระทั่งภาคประชาชน มีความร่วมมือกันเป็นอย่างดี

 

สำหรับบรรยากาศภายในที่ประชุมนัดแรกเป็นไปด้วยดี ไม่มีความขัดแย้ง ทุกคนมีความสุขที่ได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็นเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็ว แต่ต้องอยู่บนความรอบคอบ และใช้ได้จริงภายในปี 2567 นี้

 

จากนี้คณะกรรมาธิการจะมีการประชุมครั้งถัดไปในวันที่ 10 มกราคม 2567 

 

ขณะที่ อรรณว์ ชุมาพร ตัวแทนภาคประชาชนในการเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม กล่าวถึงบรรยากาศในที่ประชุมว่า ได้มีการเปิดรับความหลากหลายอย่างแท้จริง ได้ให้เป็นตัวของตัวเองในการใช้อัตลักษณ์ทางเพศในการประชุมได้ โดยเชื่อว่าปรากฏการณ์ครั้งนี้จะเป็นประตูบานสำคัญของความหลากหลายทางเพศและความเป็นธรรมทางเพศที่จะนำไปใช้อีกหลายหน่วยงาน ตนเชื่อว่ากฎหมายสมรสเท่าเทียมจะพิจารณาแล้วเสร็จโดยเร็ว โดยคณะกรรมาธิการอาจจำเป็นต้องเพิ่มวันประชุมในการพิจารณากฎหมายให้ทันตามกรอบระยะเวลาภายใน 60 วัน 

 

“วันนี้รู้สึกได้ถึงความจริงจังของการพิจารณากฎหมายของรัฐสภา ที่จะทำให้กฎหมายจากภาคประชาชน เฝ้ารอให้เกิดความเท่าเทียมขึ้นจริง” อรรณว์กล่าว

 

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising