×

จับสัญญาณ ส.ว. อภิปรายวันแรก ยังไม่เห็นโอกาสผ่านญัตติตั้ง สสร. แก้ไขรัฐธรรมนูญ

23.09.2020
  • LOADING...

วันที่ 23-24 กันยายน การประชุมรัฐสภาครั้งประวัติศาสตร์ว่าด้วยการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 6 ญัตติ ประกอบด้วย

 

1. ญัตติแก้ไขมาตรา 256 พรรคร่วมรัฐบาลตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 200 คน มาจากการเลือกตั้ง 150 คน และคัดเลือก 50 คน

 

2. ญัตติแก้ไขมาตรา 256 พรรคร่วมฝ่ายค้านตั้ง สสร. 200 คน มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด

 

3. ญัตติฝ่ายค้าน ยกเลิกมาตรา 270 และ 271 โดยยกเลิกการให้อำนาจ ส.ว. ติดตาม เสนอแนะ เร่งรัดการปฏิรูปประเทศ จัดทำและดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ 

 

4. ญัตติฝ่ายค้าน ยกเลิกมาตรา 272 ตัดอำนาจให้ ส.ว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีช่วง 5 ปีแรก และแก้ไขมาตรา 159 ป้องกันนายกรัฐมนตรีคนนอก โดยต้องเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมือง หรือคนที่เป็น ส.ส. เท่านั้น

 

5. ญัตติฝ่ายค้าน ยกเลิกมาตรา 279 ยกเลิกการรับรองความชอบด้วยกฎหมายของประกาศ คำสั่ง และการกระทำโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

 

6. ญัตติแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง โดยแก้ไขจากบัตรเลือกตั้งใบเดียวกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือก ส.ส. บัญชีรายชื่อและ ส.ส. แบ่งเขตเลือกตั้ง

 

การประชุมครั้งนี้มีสัญญาณสำคัญที่สุดที่ต้องจับตาคือท่าทีของ ส.ว. เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ว่าการผ่านญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระแรกต้องมีเสียง ส.ว. จำนวน 1 ใน 3 หรือ 84 เสียง ซึ่งตลอดการอภิปรายวันแรกผ่านไปกว่า 8 ชั่วโมง เรายังไม่พบเสียง ส.ว. ที่ออกมาสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ซึ่งถือเป็นกุญแจดอกแรกในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

 

ส.ว. ส่วนมากอภิปรายคัดค้านการตั้ง สสร. เนื่องจากเกรงว่าเป็นการตีเช็คเปล่า ไม่รู้จะแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นใดบ้าง และมีความเสี่ยงสูงที่จะสร้างความขัดแย้งรอบใหม่ รวมถึงสิ้นเปลืองงบประมาณทำประชามติ โดยสนับสนุนให้แก้รัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราแทน

 

เฉลิมชัย เฟื่องคอน สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ระบุให้แก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มีแต่ให้แก้เพิ่มเติมเท่านั้น ดังนั้นการขอแก้ไขมาตรา 256 ให้ตั้ง สสร. มายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับคือการล้มล้างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เกรงว่าอาจมีการไปยื่นให้อัยการสูงสุดหรือศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

 

ขณะที่ พล.อ.ต. เฉลิมชัย เครืองาม สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายยกคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลได้วินิจฉัยว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน ดังนั้นองค์กรที่ถูกจัดตั้งโดยรัฐธรรมนูญไม่สามารถย้อนศรขึ้นไปร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้ และศาลได้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรให้ประชาชนลงประชามติเสียก่อน ดังนั้นการจะแก้รัฐธรรมนูญต้องทำประชามติ 2 รอบ รอบแรกต้องถามประชาชนก่อนว่าควรมีรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ รอบที่สองคือเมื่อได้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วต้องทำประชามติถามความเห็นจากประชาชนอีกครั้ง

 

ด้าน พล.อ. นาวิน ดำริกาญจน์ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายว่ายังไม่เห็นความจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ การให้มี สสร. ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่เป็นการทรยศต่อ 16.8 ล้านเสียงที่เห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และยังสิ้นเปลืองงบประมาณ 20,000 ล้านบาทในการทำประชามติ แทนที่จะเอาเงินไปซื้อวัคซีนโควิด-19 ไม่รู้คิดถึงคนไทยหรือคิดถึงวาระซ่อนเร้นของตัวเอง ดังนั้นควรแก้รัฐธรรมนูญแบบรายมาตราจะเหมาะสมกว่า ตนยินดีที่จะสนับสนุนการแก้ไขรายมาตราเรื่องให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

 

THE STANDARD คุยกับ สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ วิเคราะห์ท่าทีของ ส.ว. ว่าญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใดบ้างที่มีโอกาสผ่านหรือไม่ผ่าน

 

โดยสาทิตย์จับสัญญาณการอภิปรายวันแรกของ ส.ว. ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น ยังไม่พบท่าทีของ ส.ว. ที่ระบุว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเลย ไม่เพียงแค่สัญญาณของการอภิปราย แต่สัญญาณวงในจากการสอบถาม ส.ว. ก็พบว่ายังมีความรู้สึกว่ายังไม่ถึงเวลาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยแม้ ส.ว. จะมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. แต่รอบนี้ได้ยินข่าวลึกๆ มาว่ามีผู้ใหญ่ในรัฐบาลพยายามจะคุยกับ ส.ว. ซึ่งมีหลายสายมาก ยังไม่ลงตัว และ ส.ว. มีความคิดว่ายังไม่ถึงเวลาที่จะแก้ ซึ่งผมอาจจะฟังมาไม่ครบ แต่เมื่อจับสัญญาณจากการอภิปรายก็เริ่มเห็นเป็นเช่นนั้น

 

อย่างไรก็ตาม ต้องรอติดตามการอภิปรายของ ส.ว. ต่อไปจนถึงพรุ่งนี้ว่าจะมีสัญญาณเปลี่ยนแปลงใดๆ หรือไม่ แต่ถ้าจับสัญญาณวันนี้ การอภิปรายตอบโต้กันแรงขึ้นเรื่อยๆ 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X