×

‘กระสุน = เงิน’ เปิดธุรกิจค้าอาวุธปืนในอเมริกา การเติบโตที่แลกมาด้วยความตายและความหวาดกลัว

12.06.2022
  • LOADING...
ธุรกิจค้าอาวุธปืน

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • สรุปรวมตั้งแต่เข้าปี 2022 เป็นต้นมา ​หน่วยงาน Gun Violence Archive มีการรวบรวมข้อมูลสถิติที่น่าตกใจว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงเฉพาะในปีนี้อย่างน้อย 18,966 ราย และบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 36,333 ราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พุ่งสูงกว่า 95,000 รายแล้ว
  • ตามรายงานจาก Forbes อ้างอิงรายงานประจำปีจาก U.S. Firearm ระบุว่า ยอดขายปืนในปี 2020 นั้นพุ่งทะยานถึง 2.28 หมื่นล้านกระบอก (เฉลี่ยเดือนละ 1.9 ล้านกระบอก) ก่อนที่ยอดขายจะตกลงมาเหลือ 19.9 ล้านกระบอกในปี 2021 (เฉลี่ยเดือนละ 1.6 ล้านกระบอก) และ 1.5 ล้านกระบอกต่อเดือนในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2022
  • กฎหมายรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ระบุเอาไว้แค่ว่า ร้านขายอาวุธปืนและดีลเลอร์ที่มีใบอนุญาตห้ามขายปืนพกให้แก่บุคคลที่อายุต่ำกว่า 21 ปี แต่สามารถขายปืนยาว (ไรเฟิล ลูกซอง) ให้บุคคลที่มีอายุอย่างน้อย 18 ปีได้
  • ภาพรวมของธุรกิจการค้าอาวุธปืนในสหรัฐฯ 4 บริษัทยักษ์ใหญ่อันประกอบไปด้วย Olin Corporation, Smith & Wesson, Sturm, Ruger & Co และ Ammo ที่เป็นเว็บไซต์จำหน่ายปืนออนไลน์ สามารถทำกำไรได้เกินกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ในช่วงโควิด หรือเพิ่มขึ้นจากปกติร่วมเท่าตัว

​​ภาพปกนิตยสาร TIME ฉบับวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นภาพรายชื่อเมืองในสหรัฐอเมริกาที่เกิดเหตุกราดยิงขึ้นในปีนี้ โดย ณ ขณะนั้นมีเหตุการณ์สุดเลวร้ายเกิดขึ้นอย่างน้อย 213 ครั้งนับจากเข้าปี 2022 เป็นต้นมา และในจำนวนนี้เกิดขึ้นในโรงเรียนหรือสถานศึกษามากถึง 27 ครั้ง

 

TIME ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงความจริงในประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับการขนานนามว่าเป็นดินแดนแห่งเสรีภาพ แต่เวลานี้กลายเป็นดินแดนแห่งความตายที่ทุกคนมีสิทธิ์จะลาโลกโดยไม่ทันได้เตรียมใจทุกเมื่อ ด้วยเงื้อมมือของเพชฌฆาตไร้หัวใจที่สามารถฆ่าคนได้โดยไม่รู้สึกรู้สาอะไร

 

ธุรกิจค้าอาวุธปืน

ภาพ: TIME Magazine

 

อย่างไรก็ดี ปกของ TIME ที่มีข้อความสีแดงตัวใหญ่สุดอยู่มุมขวาที่บอกว่า ENOUGH หรือ ‘พอได้แล้ว’ ก็มิได้นำพาให้เหตุการณ์กลับมาสู่ความสงบแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามยังมีเหตุกราดยิงเหมือนเดิม โดยตามรายงานข่าวเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการสรุปว่าเกิดเหตุกราดยิงอย่างน้อย 11 ครั้ง

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 


 

สรุปรวมตั้งแต่เข้าปี 2022 เป็นต้นมา ​หน่วยงาน Gun Violence Archive มีการรวบรวมข้อมูลสถิติที่น่าตกใจว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงเฉพาะในปีนี้อย่างน้อย 18,966 ราย และบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 36,333 ราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พุ่งสูงกว่า 95,000 รายแล้ว

 

มันเป็นข้อมูลที่น่าเหลือเชื่อและชวนสลดหดหู่อย่างยิ่ง และทำให้เกิดการเรียกร้องให้มีการดำเนินการจัดการเรื่องนี้อย่างเด็ดขาด เพราะเวลานี้ความหวาดกลัวได้ปกคลุมไปทั่วจิตใจของผู้คนทั่วสหรัฐอเมริกาแล้ว

 

คำถามที่สำคัญที่สุดคือเรื่องของกฎหมายการควบคุมอาวุธปืน ที่ผู้คนเห็นตรงกันว่าเป็นหนึ่งในชนวนปัญหา

 

แต่คำตอบของคำถามนี้มีเพียงแค่ความเงียบ และรอยยิ้มเหมือนปีศาจของพ่อค้าความตายทั้งหลาย

 

ยิ่งตายมากเท่าไร พวกเขาก็ยิ่งมั่งคั่งขึ้นเท่านั้น

 

ซื้อปืนง่ายกว่าซื้อเบียร์

ย้อนกลับไปในเหตุการณ์กราดยิงที่ถูกจดจำมากที่สุดในช่วงนี้อย่างเหตุการณ์ที่โรงเรียนประถมร็อบบ์ ในเมืองอูวัลเด รัฐเท็กซัส เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา และเหตุการณ์กราดยิงกลางซูเปอร์มาร์เก็ตในย่านบัฟฟาโลที่เป็นย่านคนดำในนิวยอร์ก ผู้ก่อเหตุนั้นเป็นวัยรุ่นทั้งคู่

 

การเปิดโอกาสให้วัยรุ่นครอบครองปืนจึงกลายเป็นประเด็นปัญหาที่มีการถกเถียงกันอย่างรุนแรงในเวลานี้

 

ธุรกิจค้าอาวุธปืน

ญาติผู้เสียชีวิตกอดคอร้องไห้ไว้ทุกข์หลังเหตุกราดยิง 21 ศพ ที่โรงเรียนประถมร็อบบ์ นับเป็นเหตุกราดยิงในโรงเรียนที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ ต่อจากเหตุกราดยิงที่โรงเรียนประถมแซนดีฮุกเมื่อปี 2012 (​​ภาพ: Brandon Bell / Getty Images)

 

ต้นธารของเรื่องต้องย้อนกลับไปถึงการอ้างอิงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 2 ฉบับแก้ไข ที่มีการระบุว่า ชาวอเมริกันมีสิทธิ์อันชอบธรรมในการครอบครองอาวุธปืน เพื่อใช้ในการปกป้องคุ้มครองตัวเอง ซึ่งทำให้เด็กวัยรุ่นอเมริกันสามารถซื้อปืนได้ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ซื้อเบียร์กระป๋องเสียอีก

 

สนนราคาปืนไรเฟิลหนึ่งกระบอกก็ไม่ได้สูงมากนัก อยู่ที่ 500 ดอลลาร์ หรือราว 17,000 บาท และถ้าเป็นปืนพกอยู่ที่เพียง 200 ดอลลาร์ หรือราว 6,900 บาทเท่านั้น เรียกว่าราคานั้นถูกกว่ารองเท้าสนีกเกอร์รุ่นลิมิเต็ดในตลาดเสียอีก

 

โดยกฎหมายรัฐบาลกลางระบุเอาไว้แค่ว่า ร้านขายอาวุธปืนและดีลเลอร์ที่มีใบอนุญาตห้ามขายปืนพกให้แก่บุคคลที่อายุต่ำกว่า 21 ปี แต่สามารถขายปืนยาว (ไรเฟิล ลูกซอง) ให้บุคคลที่มีอายุอย่างน้อย 18 ปีได้ แต่หากเป็นบุคคลที่ไม่มีใบอนุญาตสามารถขาย ส่งมอบ หรือโอนปืนยาว ให้ใครก็ได้โดยไม่จำกัดอายุ

 

เสรีภาพในการครอบครองปืนในอเมริกานั้นจึงอยู่บนจุดสูงสุดของคำว่าเสรีภาพ

 

แต่เสรีภาพนี้ก็แลกมาด้วยความเสี่ยงที่จะสูญเสีย เพราะเด็กวัยรุ่นวุฒิภาวะยังต่ำ เมื่อบวกกับสื่อสังคมออนไลน์ที่เต็มไปด้วยความรุนแรงแล้ว ยิ่งทำให้ทุกอย่างเลวร้ายขึ้นไปอีก เพราะวัยรุ่นเหล่านี้อยู่ในวัยคึกคะนองและขาดความยับยั้งชั่งใจ

 

ธุรกิจค้าอาวุธปืน

ภาพ: Joshua Lott / The Washington Post via Getty Images

 

ความกลัว = การเพิ่มยอดขาย

ไม่ต่างอะไรจากงูกินหาง สิ่งที่เกิดขึ้นหลังเกิดเหตุกราดยิงไม่หยุดทั่วสหรัฐอเมริกาคือ การแก้ปัญหากันเองของผู้คนด้วยการหาซื้ออาวุธปืนมาไว้ในครอบครอง ทำให้ธุรกิจการค้าอาวุธปืนนั้นยิ่งงอกงามขึ้นบนคราบเลือด ซากศพ และรอยน้ำตา

 

อย่างไรก็ดี หากเราแกะรอยข้อมูลแล้วจะพบว่า ตัวเลขยอดการจำหน่ายปืนในอเมริกานั้นเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะหลังจากเกิดโรคระบาดโควิดเป็นต้นมา

 

ตามรายงานจาก Forbes อ้างอิงรายงานประจำปีจาก U.S. Firearm ระบุว่า ยอดขายปืนในปี 2020 นั้นพุ่งทะยานถึง 2.28 หมื่นล้านกระบอก (เฉลี่ยเดือนละ 1.9 ล้านกระบอก) เพิ่มขึ้นถึง 64% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ก่อนที่ยอดขายจะตกลงมาเหลือ 19.9 ล้านกระบอกในปี 2021 (เฉลี่ยเดือนละ 1.6 ล้านกระบอก) และ 1.5 ล้านกระบอกต่อเดือนในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2022

 

ขณะที่ Small Arms Analytics and Forecasting ประเมินว่า เฉพาะในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2022 มีการขายปืนไปแล้ว 5.9 ล้านกระบอก ซึ่งแม้จะยังน้อยกว่าปี 2021 ที่มียอดจำหน่ายถึง 7.7 ล้านกระบอก แต่ก็ยังถือว่าสูงกว่าในปี 2019 ที่มียอดจำหน่ายช่วงเดียวกันที่ 4.6 ล้านกระบอก

 

ด้านผลสำรวจจาก National Shooting Sports Foundation เปิดเผยว่า ในปี 2020 และ 2021 มีชาวอเมริกันที่ซื้อปืนครั้งแรกมากถึง 13.8 ล้านกระบอก

 

สาเหตุที่มีการวิเคราะห์ว่าทำไมปืนขายดีในช่วงโควิดคือ การประกาศกฎอัยการศึกของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่โรคระบาดได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ จนทำให้เกิดเหตุการณ์วุ่นวาย ปล้นฆ่ากันอย่างมากมาย ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัวและต้องการปกป้องตัวเอง

 

เหตุการณ์การประท้วงกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองมินเนียอาโปลิสใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุในการจับกุม จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำ จนขาดอากาศหายใจและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาในช่วงเดือนพฤษภาคม 2020 ก็ทำให้ยอดขายปืนเพิ่มขึ้นถึง 1.4 ล้านกระบอกเช่นเดียวกัน

 

อเมริกันชนครอบครองปืนเกือบครึ่งโลก

ยังมีสถิติตัวเลขที่น่าตกใจจากการรายงานของ CNN ที่อ้างอิงรายงานสำนักสำรวจข้อมูล Small Arms Survey หรือ SAS จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่พบว่า ชาวอเมริกัน 100 คน จะมีปืนเฉลี่ย 120.5 กระบอก หรือคิดเป็น 1.205 กระบอกต่อคน

 

ค่าเฉลี่ยนี้สูงแค่ไหน? ก็แค่มากกว่าหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ที่ตามหลังมาเป็นอันดับ 2 แบบทิ้งห่างไม่เห็นฝุ่น เพราะชาวหมู่เกาะฟอล์กแลนด์ 100 คน จะมีปืน 62 กระบอก ขณะที่อันดับ 3 คือเยเมน ที่ประชากร 100 คน จะมีปืน 53 กระบอก

 

ขณะที่ชาติในเอเชียอย่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่นมีอัตราการครอบครองปืนอยู่ที่ 0.2 กระบอกต่อประชากร 100 คน

 

ธุรกิจค้าอาวุธปืน

 

และจากการสำรวจของ SAS แล้วพบว่า ในจำนวนประชากรที่ครอบครองอาวุธปืนทั้งโลกจำนวน 857 กระบอก เป็นชาวอเมริกันไปแล้ว 393 กระบอก หรือคิดเป็น 46% ของจำนวนประชากรที่ครอบครองปืนทั้งโลก

 

รอยยิ้มของปีศาจ

จากตัวเลขสถิติผู้ครอบครองปืนและจำนวนยอดขายปืนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาลในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมาจากเหตุปัจจัยที่หลากหลาย รวมถึงความกลัวต่อสวัสดิภาพ ที่ทำให้ชาวอเมริกันต้องการปกป้องตัวเองมากกว่าจะหวังพึ่งคนอื่น

 

คนที่ได้มากที่สุดคือเหล่าบรรดาบริษัทพ่อค้าอาวุธทั้งหลาย โดยอ้างอิงจากคำพูดของ Jade Moldae บรรณาธิการ Shooting Industry Magazine ที่เขียนไว้ตอนหนึ่งในบทบรรณาธิการว่า “มีคำหลายคำที่เราสามารถใช้เพื่อบรรยายช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาได้ เช่น ไม่เคยมีมาก่อน, ไม่หยุดยั้ง, เบิกเนตร, ยืดยาว, วุ่นวาย, น่าผิดหวัง ฯลฯ แต่มีอีกคำที่น่าจะใช้ได้คือคำว่า ‘โอกาส’”

 

ในความหมายของ Jade Moldae คือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 2 ปีของโควิด คือโอกาสที่ทำให้ธุรกิจการค้าอาวุธปืนเติบโตขึ้นอย่างมาก โดย Sturm Ruger & Co สามารถทำกำไรขั้นต้นในช่วงระหว่างปี 2019-2021 ได้เกือบ 280 ล้านดอลลาร์ หรือ 9.7 พันล้านบาท ซึ่งสูงที่สุดเป็นประวัติศาสตร์ของบริษัท

 

Smith & Wesson ผู้ผลิตอาวุธปืนรายใหญ่ที่สุดของอเมริกา สามารถทำรายได้มากกว่า 500 ล้านดอลลาร์ หรือ 1.7 หมื่นล้านบาทนับตั้งแต่เกิดโรคระบาด โดยในช่วงเดือนตุลาคม 2020 ซึ่งเป็นเดือนเดียวที่สามารถทำยอดได้มากกว่า 100 ล้านดอลลาร์ ทางบริษัทได้จัดทำเหรียญที่ระลึกให้แก่พนักงานด้วย

 

ขณะที่ภาพรวมของธุรกิจการค้าอาวุธปืนในสหรัฐฯ นั้น 4 บริษัทยักษ์ใหญ่อันประกอบไปด้วย Olin Corporation, Smith & Wesson, Sturm, Ruger & Co และ Ammo ที่เป็นเว็บไซต์จำหน่ายปืนออนไลน์ สามารถทำกำไรได้เกินกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ หรือ 6.9 หมื่นล้านบาท ในช่วงโควิดหรือเพิ่มขึ้นจากปกติร่วมเท่าตัว

 

และอย่างที่บอกไปข้างต้นว่า เหตุกราดยิงนั้นยิ่งทำให้ยอดขายปืนเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะทุกคนเชื่อว่าเราต่างต้องปกป้องตัวเอง แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นการถ่างช่องว่างของกฎหมายให้อาวุธปืนตกอยู่ในมือของคนชั่วได้ง่ายดายอย่างน่าเหลือเชื่อ

 

แต่การจะเปลี่ยนแปลงกฎหมายการครองครองปืนของสหรัฐฯ นั้นไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถทำได้โดยง่าย เพราะนั่นหมายถึงการต้องต่อสู้กับอิทธิพลของหน่วยงานอย่างสมาคมปืนไรเฟิลแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ NRA ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่ทรงอิทธิพลทางการเมืองของสหรัฐฯ มากที่สุด

 

ธุรกิจค้าอาวุธปืน

 

เป็นที่เข้าใจกันว่า NRA สามารถใช้เงินมหาศาลเพื่อล็อบบี้นักการเมืองได้ไม่ยาก อีกทั้งยังมีสมาชิกอีกกว่า 5 ล้านคนทั่วสหรัฐฯ ที่แทรกซึมอยู่ตามองค์กรต่างๆ ที่มีบทบาทในการตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนี้

 

ไม่นับในเรื่องความเชื่อของอเมริกันชนที่มีต่อการครอบครองอาวุธปืนที่เหมือนการแหย่รังแตน เพราะอาจหมายถึงการสูญเสียคะแนนนิยมได้อย่างง่ายดายของเหล่านักการเมือง ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสลับซับซ้อนมีหลายมิติที่ทับซ้อนกันอยู่

 

และนั่นอาจหมายถึงบทสรุปที่ไม่มีใครต้องการ เพราะธุรกิจการค้าอาวุธปืนในอเมริกามีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นไปอีก

 

บนซากศพของคนที่ต้องจากไปโดยไม่ทันได้เตรียมใจ คราบน้ำตาของคนที่ต้องอยู่กับความเสียใจไปตลอดชีวิต และความหวาดกลัวของผู้คนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่โดยไม่รู้ว่าจะมีวันใดที่จะเป็นคิวของเราไหม  

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X