เกิดเหตุเพลิงไหม้ค่ายผู้ลี้ภัยทางตอนใต้ของบังกลาเทศที่มีชาวมุสลิมโรฮีนจาอาศัยกันอยู่อย่างแออัดเมื่อวานนี้ (5 มีนาคม) ส่งผลให้ผู้ลี้ภัยหลายพันคนต้องไร้ที่อยู่ จากการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและองค์การสหประชาชาติ
เพลิงลุกไหม้ที่ค่าย 11 ในเมืองค็อกซ์บาซาร์ที่มีผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจาอาศัยอยู่มากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่หลบหนีการปราบปรามของทหารเมียนมาในปี 2017
“เรายังไม่มีการประเมินความเสียหายในขณะนี้ และยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต” ราฟิกุล อิสลาม รองผู้กำกับการตำรวจที่ค็อกซ์บาซาร์กล่าวกับสำนักข่าว Reuters พร้อมเผยว่าเจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว โดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยดับเพลิง กรมตำรวจ และหน่วยงานบรรเทาทุกข์ผู้ลี้ภัย ต่างรุดไปยังที่เกิดเหตุ
ขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ในบังกลาเทศ เปิดเผยผ่าน Twitter ว่าอาสาสมัครผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจากำลังตอบสนองต่อเหตุไฟไหม้ โดยมี UNHCR และพันธมิตรขององค์การให้การสนับสนุน พร้อมทั้งเผยว่าที่พักพิงและอาคารสถานที่หลายแห่งได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ครั้งนี้
ผู้สื่อข่าวของ Al Jazeera รายงานจากกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ ว่าค่ายบาลูคาลี (Balukhali) เป็น 1 ใน 32 ค่ายในค็อกซ์บาซาร์ ซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่มากกว่า 1.2 ล้านคน
“เพลิงไหม้น่าจะเกิดจากถังหุงต้ม บ้านส่วนใหญ่ทำจากไม้ไผ่ ไฟจึงลุกลามอย่างรวดเร็ว” ผู้สื่อข่าวรายงาน พร้อมกับบรรยายว่า บริเวณที่เกิดไฟไหม้นั้นค่อนข้างเป็นเนินเขา ทำให้ยากสำหรับทีมกู้ภัยที่จะเข้าถึงพื้นที่ และยากสำหรับผู้ลี้ภัยที่จะหลบหนี
“สถานพยาบาลในพื้นที่ให้บริการพื้นฐานเกินกว่าจะให้ความช่วยเหลือได้ทันท่วงที และแม้มีโรงพยาบาลสนามจำนวนมาก แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการรองรับประชากร 1.2 ล้านคน” เขากล่าวเสริม
ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจามากกว่า 1 ล้านคนหลบหนีจากเมียนมาไปยังบังกลาเทศ ซึ่ง 740,000 คนในจำนวนนี้เริ่มลี้ภัยตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2017 เมื่อกองทัพเมียนมาปราบปรามชาวโรฮีนจาอย่างโหดเหี้ยม ต่อมาสถานการณ์ในเมียนมายิ่งเลวร้ายลงนับตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจในปี 2021 ความพยายามที่จะส่งชาวโรฮีนจาเหล่านี้กลับเมียนมาจึงประสบกับความล้มเหลว
ภาพ: Mohammad Shajahan / Anadolu Agency via Getty Images
อ้างอิง: