- จับตาตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญ โดยวันนี้สหรัฐฯ มีกำหนดประกาศจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกประจำสัปดาห์ ซึ่งคาดว่าจะอยู่ที่ 8.2 แสนราย ลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 3 จากการฟื้นตัวของการจ้างงานในสหรัฐฯ หลังแนวโน้มการแพร่ระบาดของโควิด-19 ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา
- โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ทวีตข้อความอีกครั้ง ระบุว่าเขาพร้อมที่จะลงนามอนุมัติในร่างมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เช่น มาตรการเช็คเงินสด 1,200 ดอลลาร์สหรัฐ, การเสริมสภาพคล่อง 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้แก่อุตสาหกรรมการบิน และเงินกู้กว่า 1.35 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ธุรกิจรายย่อย ขอเพียงให้รัฐสภาอนุมัติมาตรการเหล่านั้น โดยทรัมป์ทวีตในคืนก่อนหน้าว่าเขาจะยกเลิกการเจรจาเรื่องมาตรการดังกล่าวทั้งหมดจนกว่าการเลือกตั้งจะจบลง โดยให้เหตุผลว่าข้อเรียกร้องของพรรคเดโมแครตไม่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 แต่อย่างใด
- ธนาคารโลกเปิดเผยรายงานว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจทำให้ประชากรทั่วโลกกว่า 88-115 ล้านคนตกอยู่ในภาวะยากจนรุนแรงภายในปี 2020 ซึ่งจะดำรงชีวิตด้วยรายได้ต่ำกว่า 1.90 ดอลลาร์ต่อวัน และจำนวนผู้ยากจนรุนแรงนั้นจะแตะระดับ 150 ล้านคนก่อนสิ้นปี 2021 หรือคิดเป็นประมาณ 9.4% ของประชากรทั่วโลก หากรัฐบาลทั่วโลกยังไม่มีมาตรการแก้ปัญหาความยากจนอย่างจริงจัง
- วานนี้ มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์, มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ เมโทรโพลิตัน และมหาวิทยาลัยเชฟฟิลด์ของอังกฤษ ประกาศปรับการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์อีกครั้งเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เกิดขึ้นระลอกที่สอง หลังจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นอีกครั้งในอังกฤษ ซึ่งส่งผลให้ บอริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร ประกาศขอความร่วมมือในการทำงานจากที่บ้าน รักษาระยะห่างทางสังคม และปิดผับเร็วขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์
- Samsung บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ของเกาหลีใต้ แถลงการณ์ถึงแนวโน้มกำไรไตรมาสที่ผ่านมาว่ามีโอกาสที่จะขยายตัวมากกว่า 58%YoY แตะระดับ 12.3 ล้านล้านวอน หรือกว่า 10,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ 10.5 ล้านล้านวอน จากยอดขายทั้งหมด 66 ล้านล้านวอน ขยายตัวขึ้นกว่าปีก่อนหน้า 6.5%YoY จากแนวโน้มเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มบริษัทเทคโนโลยี ส่งผลให้ยอดขายกลุ่ม Semiconductor ฟื้นตัว
ภาวะตลาดวานนี้
- ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กลับลำมาสนับสนุนมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจอีกครั้ง รวมทั้งปัจจัยหนุนจากรายงานการประชุมของ Fed ในเดือนกันยายน ที่สนับสนุนให้มีมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจออกมาโดยเร่งด่วน หากเกิดความล่าช้าจะส่งผลเสียต่อการฟื้นตัวและกระทบต่อประชาชนผู้มีรายได้น้อย สวนทางกันกับตลาดหุ้นยุโรปที่ปรับตัวลงจากแรงเทขายทำกำไรของนักลงทุนหลังตลาดที่ปรับตัวขึ้นมา 4 วันติด โดยได้รับแรงกดดันจากตัวเลขเศรษฐกิจในเยอรมนีที่ออกมาอ่อนแอจากตัวเลขผลผลิตอุตสาหกรรมที่หดตัว 0.2% ซึ่งบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยสู้ดีนัก
- สัญญาน้ำมันดิบปรับตัวลงจากตัวเลขสต๊อกน้ำมันดิบสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้น 5 แสนบาร์เรล สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.94 แสนบาร์เรล สร้างความกังวลว่าอาจเกิดภาวะน้ำมันล้นตลาดได้ ด้านสัญญาทองคำปรับตัวลงจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงจับตาดูสถานการณ์ความไม่แน่นอนของมาตรการเยียวยาเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อกันมานาน
สหรัฐฯ
- Dow Jones อยู่ที่ 28,303.46 เพิ่มขึ้น 530.7 (+1.91%)
- S&P 500 อยู่ที่ 3,419.45 เพิ่มขึ้น 58.5 (+1.74%)
- Nasdaq อยู่ที่ 11,364.6 เพิ่มขึ้น 210 (+1.88%)
ยุโรป
- DAX อยู่ที่ 12,928.57 เพิ่มขึ้น 22.55 (+0.17%)
- FTSE 100 อยู่ที่ 5,946.25 ลดลง 3.69 (-0.06%)
- Euro Stoxx 50 อยู่ที่ 3,233.43 เพิ่มขึ้น 0.13 (0%)
- FTSE MIB อยู่ที่ 19,435.08 เพิ่มขึ้น 5.27 (+0.03%)
เอเชีย
- Nikkei 225 อยู่ที่ 23,422.82 ลดลง 10.91 (-0.05%)
- S&P/ASX 200 อยู่ที่ 6,036.4 เพิ่มขึ้น 74.3 (+1.25%)
- Shanghai **ปิดทำการ
- SZSE Component **ปิดทำการ
- China A50 **ปิดทำการ
- Hang Seng อยู่ที่ 24,242.86 เพิ่มขึ้น 262.21 (1.09%)
- Taiwan Weighted อยู่ที่ 12746.37 เพิ่มขึ้น 42.14 (0.33%)
- SET อยู่ที่ 1,263.71 เพิ่มขึ้น 13.56 (+1.08%)
- KOSPI อยู่ที่ 2,386.94 เพิ่มขึ้น 21.04 (+0.89%)
- IDX Composite อยู่ที่ 5,004.33 เพิ่มขึ้น 5.11 (+0.1%)
- BSE Sensex อยู่ที่ 39,878.95 เพิ่มขึ้น 304.38 (+0.77%)
- PSEi Composite อยู่ที่ 5,867.88 ลดลง 42.76 (-0.72%)
Commodity
- ราคาน้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ 40.05 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.22 (+0.55%)
- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ อยู่ที่ 42.16 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.25 (+0.59%)
- ราคาทองคำ อยู่ที่ 1,887.11 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพิ่มขึ้น 6.96 (+0.37%)
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- Infoquest
- Bloomberg
- Investing
- CNBC
- Reuters