วันนี้ (21 กันยายน) สถาพร เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร กล่าวภายหลังเข้าแจ้งความดำเนินคดี และให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนของสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ชนะสงคราม กรณีมีการขุดเจาะ ปักหมุดที่เรียกว่า ‘หมุดคณะราษฎร หมุดที่ 2’ ของการชุมนุมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา ว่าวันนี้ได้รับการเร่งรัดจาก ประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร ให้แจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มบุคคลที่เข้าร่วมชุมนุม และทำการฝังหมุดลงบนพื้นภายในท้องสนามหลวง โดยนำหลักฐานเป็นเอกสารขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และภาพถ่ายขณะขุดเจาะพื้น ที่ปรากฏตามสื่อมวลชน มามอบให้กับตำรวจ สน.ชนะสงคราม ซึ่งขณะนี้พบความผิดตาม พ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 10 ห้ามไม่ให้ผู้ใดซ่อมแซมแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือถอนต่อเติมทำลายหรือเคลื่อนย้ายสิ่งใดๆ ภายในพื้นที่โบราณสถาน ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนข้อหาบุกรุกสถานที่นั้นจากการพูดคุยกับตำรวจเบื้องต้นยังไม่พบความผิดชัดเจน ต้องให้พนักงานสอบสวนพิจารณาถึงความผิดอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนกรณีที่หมุดถูกรื้อถอนไปเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมานั้น สถาพรระบุว่าไม่ทราบว่าหน่วยงานไหน หรือใครเป็นผู้รื้อถอนไป ยืนยันว่าการดำเนินคดีครั้งนี้เป็นการดำเนินคดีกับกลุ่มคนที่ฝังหมุดที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 20 กันยายนเท่านั้น โดยไม่ได้ระบุว่าเป็นใครกระทำความผิด เป็นการแจ้งความต่อ ‘กลุ่มบุคคล’
ทั้งนี้ สถาพรยืนยันการเข้าแจ้งความดำเนินคดีในครั้งนี้ไม่ได้รับความกดดันจากฝ่ายใด เป็นไปตามกรอบของกฎหมายที่สามารถทำได้ และไม่ได้เข้าข้างใดข้างหนึ่ง
เมื่อถามว่าที่ผ่านมาเคยมีการดำเนินคดีต่อกลุ่มบุคคลในการใช้พื้นที่สนามหลวงในข้อหาลักษณะนี้หรือไม่ สถาพรระบุว่าไม่เคยมีมาก่อน
เมื่อถามถึงกรณีอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ที่เคยตั้งอยู่ ณ วงเวียนหลักสี่ บางเขน หายไป กรมศิลปากรได้ดำเนินการอย่างไร สถาพรกล่าวว่า อยู่ในการตรวจสอบข้อเท็จจริง และทราบว่ามีการขออนุญาตเคลื่อนย้าย