THE STANDARD WEALTH ชวนวิเคราะห์ ‘ข้อดีและข้อเสีย’ จากการเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ หรือ FTT หลังไทยประกาศเตรียมจัดเก็บภาษีนี้กลางปีหน้า พร้อมเปิด 10 แนวทางพัฒนาตลาดทุนไทย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในอนาคต
ภาษีธุรกรรมทางการเงิน (Financial Transaction Tax) เป็นภาษีที่หลายประเทศมีการจัดเก็บ รวมทั้งฮ่องกง, สหราชอาณาจักร, เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งล้วนเป็นตลาดหุ้นหลักของโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- คำต่อคำ! เปิด 26 คำถาม-คำตอบจากกรมสรรพากร ประเด็น ‘ภาษีขายหุ้น’
- ภาษีขายหุ้นเอฟเฟกต์! สมรภูมิหุ้นไทยอาจเปลี่ยนไป เมื่อเทรดเดอร์แต่ละกลุ่มต้องปรับตัว
- คลังเคาะ! เริ่มเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ อัตรา 0.1% เริ่ม 1 ม.ค. 67 ย้ำไม่ได้เอื้อประโยชน์นักลงทุนรายใหญ่
ประโยชน์หรือข้อดีของการใช้ภาษีนี้คือ ต้นทุนภาษีที่สูงขึ้น อาจช่วยลดธุรกรรมเก็งกำไรระยะสั้นได้ ข้อดีอีกประการคือ FTT สามารถเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล หรือช่วยลดการขาดดุลได้ โดยเฉพาะในช่วงหลังการระบาดใหญ่ ซึ่งรัฐบาลหลายประเทศได้กู้ยืมเงินมาเป็นจำนวนมาก เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ระดับหนี้สาธารณะของหลายประเทศแตะระดับสูงสุดในรอบหลายปี
ซึ่งสอดคล้องกับคำชี้แจงของกรมสรรพากรก่อนหน้านี้ที่ระบุว่า การเรียกเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือ ‘ภาษีขายหุ้น’ มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้
ผลกระทบ FTT ต่อธุรกิจและเศรษฐกิจวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม บางฝ่ายยังตั้งข้อสังเกตว่าการนำ FTT มาใช้ก็มีข้อเสียเช่นกัน เนื่องจากภาษีดังกล่าวอาจทำให้สภาพคล่องในตลาดและความสามารถในการแข่งขันของตลาดหุ้นไทยลดลง รวมทั้งทำให้นักลงทุนเข้าถึงตลาดทุนได้ยากขึ้น อีกทั้งมูลค่าตลาดที่ด้อยลงจากสภาพคล่องที่ลดลงดังกล่าว ยังส่งผลให้มูลค่าสินทรัพย์ที่นักลงทุนระยะยาวถือครองอยู่ลดลงตามไปด้วย แม้ไม่ได้ทำธุรกรรมขายหุ้นใดเลยก็ตาม
นอกจากนี้ FTT ยังสามารถส่งผลกระทบต่อการระดมทุนของภาคธุรกิจได้ เนื่องจากต้นทุนภาษีที่สูงขึ้นทำให้นักลงทุนต้องการซื้อและขายหลักทรัพย์น้อยลง ส่งผลให้อัตราส่วนราคาตลาดของหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E) ของบริษัทและตลาดลดลงได้ ซึ่ง P/E ที่ไม่น่าดึงดูดนี้ อาจลดแรงจูงใจในการนำบริษัทเข้าตลาด หรือหากนำเข้าจดทะเบียนก็จะระดมเงินทุนได้น้อยลง ดังนั้นธุรกิจต่างๆ จะขาดแหล่งเงินทุนที่จำเป็นต่อการเติบโต ซึ่งท้ายสุดจะส่งผลเสียต่อการขยายตัวและพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศ
เสียงสะท้อนจากผู้มีส่วนร่วมในตลาด
ไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า มีจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการเก็บ FTT เพราะในระยะยาวจะเป็นผลเสียกับตลาดหุ้นไทย เนื่องจากเป็นการลดความสามารถในการแข่งขันของตลาดหุ้นไทยลง พร้อมทั้งชี้ว่าจากข้อมูลที่เคยคำนวณก่อนหน้านี้ ในกรณีที่มีการจัดเก็บ FTT จะมีผลกระทบให้มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยรวมในตลาดหุ้นเสี่ยงจะลดลง 30-40% เหลือเฉลี่ยราว 5 หมื่นล้านบาทต่อวัน จากฐานตัวเลขเฉลี่ยตอนนั้นอยู่ที่ระดับเฉลี่ย 8 หมื่นล้านบาทต่อวัน
ขณะที่ กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ FETCO ยืนยันว่าช่วงนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมสำหรับการเก็บภาษีขายหุ้น หลังจากสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจนเหลือน้อยกว่าครึ่งของมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยช่วงก่อนหน้า นอกจากนี้ ปัจจุบันตลาดยังผันผวนปั่นป่วนอย่างยิ่ง หุ้น พันธบัตร ทองคำ ค่าเงิน สินทรัพย์ใหม่ และจะผันผวนไปอีกระยะ ทั้งยังมีวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นรออยู่ข้างหน้า
ทางด้าน ประกิต สิริวัฒนเกตุ กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ กล่าวในรายการ Morning Wealth ของ THE STANDARD WEALTH ว่า การเก็บภาษีขายหุ้นในจังหวะเวลานี้ยิ่งเป็นปัจจัยซ้ำเติมให้สภาพคล่องในตลาดหุ้นไทยยิ่งหายไปอีก เพราะปัจจุบันแม้จะยังไม่มีการเก็บภาษีขายหุ้น แต่มูลค่าการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยกำลังเป็นขาลงอย่างหนักอยู่แล้ว จากปี 2564 ที่เคยสูงถึงระดับ 9.4 หมื่นล้านบาทต่อวัน
ถึงเวลา ‘ตลาดทุนไทย’ ต้องพัฒนา เพื่อนำไปสู่การพัฒนาประเทศ
กองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF) ร่วมกับ Mckinsey & Company (Thailand) Co.,Ltd. บริษัทที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการระดับโลก จัดทำรายงานสมุดปกขาว Improving Thailand’s Capital Market Competitiveness and Efficiency ศึกษาถึงโอกาสและข้อจำกัดของโครงสร้างตลาดทุนไทยด้านความสามารถในการแข่งขันและประสิทธิภาพ เพื่อรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายในด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
โดยการศึกษาพบว่า ตลาดทุนไทยยังเป็นกลไกหลักที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างยั่งยืน และในภาพรวมตลาดทุนไทยยังมีศักยภาพในการแข่งขัน เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน อีกทั้งเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาวที่ส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและนวัตกรรม และเป็นแหล่งความรู้ด้านการออมการลงทุน
พร้อมทั้งสร้างประโยชน์แก่ประเทศในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยให้ประชาชนที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมีการออมสำหรับวัยเกษียณ จนถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อ Start-ups และธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก (SMEs)
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนการทำธุรกิจในตลาดทุนบางประเภท เช่น ต้นทุนการซื้อขายหุ้นในตลาดรอง (ที่มีต้นทุนปัจจุบันสูงเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน ซึ่งคำนวณโดยไม่ได้รวมภาษีขายหุ้นที่อาจนำมาใช้) หรือกองทุนรวม ยังมีค่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียน ทำให้ตลาดทุนไทยต้องปรับตัวเพื่อให้แข่งขันได้ด้วยต้นทุนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เปิด ‘10 แนวทาง’ พัฒนาตลาดทุนไทยรับมือความท้าทายในอนาคต
นอกจากนี้ รายงานยังจัดทำ 10 ข้อเสนอเชิงนโยบายเพิ่มเติมเพื่อการพัฒนาตลาดทุนไทยให้ยั่งยืนในอนาคต ดังนี้
- ส่งเสริมการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนเพื่อช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon Emissions): โดยการผลักดันนวัตกรรมการเงินสีเขียว (Green Finance) ในตลาดทุนไทย
- พัฒนากองทุนบำเหน็จบำนาญเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ: โดยการสนับสนุนการพัฒนาของกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ
- ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs / Start-ups): ผ่านการสนับสนุนด้านเงินทุน การให้คำปรึกษา การสร้างแพลตฟอร์ม และการทำข้อตกลงในการระดมทุน
- ขยายสินทรัพย์ดิจิทัล: ควรสำรวจการใช้งานที่หลากหลาย และสร้างความมั่นใจในการบริหารความเสี่ยง
- ปรับปรุงความรู้ทางการเงิน: ผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โครงการลงทุนรูปแบบใหม่ และการส่งเสริมการรับรู้เรื่องการลงทุนตั้งแต่อายุยังน้อย
- ส่งเสริมการลงทุนของผู้ลงทุนรายย่อย: ลดความซับซ้อนของการเข้าสู่การลงทุน นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ เพื่อเพิ่มจำนวนผู้ลงทุนรายย่อยในตลาดทุนไทย
- ดึงดูดเงินลงทุนระยะยาวจากผู้ลงทุนสถาบันต่างประเทศ: สร้างสภาพแวดล้อมที่เปิดกว้างมากขึ้นให้ทัดเทียมกับประเทศผู้นำระดับภูมิภาค และมีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับภาคเศรษฐกิจใหม่
- พัฒนาผู้ลงทุนสถาบันในประเทศ: สร้างความแข็งแกร่งให้กับผู้ลงทุนสถาบันในประเทศโดยการกระจายการลงทุนไปสู่ทรัพย์สินที่มีความหลากหลายมากขึ้น
- ปลดล็อกการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics): โดยการลงทุนในการสร้างมาตรฐานข้อมูล และการรวบรวบแหล่งข้อมูลเพื่อการลงทุน
- ดึงดูดและบ่มเพาะบุคลากรที่มีความสามารถ (Talent): โดยการดึงดูดบุคลากรที่มีทักษะตามความต้องการเข้าสู่ตลาดทุนไทย และการยกระดับบุคลากรในตลาดทุนไทยปัจจุบันให้มีทักษะตามที่คาดหวัง
การพัฒนาตลาดทุนไทยตามแนวทางดังกล่าว พร้อมกับการรักษาระดับความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุน นับเป็นข้อเสนอแนะจากการศึกษา เพื่อให้ตลาดทุนไทยสามารถต่อยอดจากความสำเร็จในอดีต และสร้างตลาดทุนไทยที่สามารถตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ ซึ่งการที่จะทำให้เกิดตลาดทุนแห่งอนาคตของประเทศไทยได้จริง จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนและความร่วมมือจากภาครัฐและภาคเอกชนทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง
อ้างอิง: