×

แบงก์ชาติจับตา 4 ความเสี่ยงเสถียรภาพการเงินไทยปี 63

21.01.2020
  • LOADING...

สักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้อำนวยการ กลุ่มงานด้านเสถียรภาพระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า รายงานการประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทยปี 2562 โดยภาพรวมยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งธนาคารพาณิชย์และประกันภัย มีเงินสำรองในระดับสูง แต่ความเสี่ยงในระบบการเงินยังสูง เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และความผันผวนที่มากขึ้น ขณะเดียวกันมี Non-Bank ผู้เล่นในตลาดเพิ่มมากขึ้น ทำให้การส่งผ่านความเสี่ยงในด้านต่างๆ เร็วขึ้น

 

ทั้งนี้ทาง ธปท. มองว่าปัจจุบันมีความเสี่ยง และความเปราะบาง 4 ด้านที่ต้องจับตามอง ได้แก่

 

หนี้ครัวเรือนอยู่ระดับสูง โดยช่วงไตรมาส 3 ปี 2562 อยู่ที่ 79.1% ของ GDP และปี 2563 คาดว่าจะไม่ปรับลดลงมากนัก สาเหตุเพราะ GDP ที่ยังลดลงและหนี้ที่ยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหนี้เพื่อการบริโภค เช่น สินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล ฯลฯ ซึ่งหากครัวเรือนไทยเจอปัญหา เช่น รายได้ลดลง ฯลฯ ย่อมส่งผลต่อความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเปราะบาง เช่น ครัวเรือนที่รายได้น้อย ครัวเรือนเกษตรกร ผู้ที่เกษียณอายุ   


ดังนั้น ทาง ธปท. มุ่งสร้างวินัยทางการออม และให้ความรู้ในการใช้จ่าย รวมถึงเน้นย้ำการปล่อยสินเชื่ออย่างเหมาะสม ผ่านโครงการคลินิกแก้หนี้ รีไฟแนนซ์ ฯลฯ ปัจจุบันทาง ธปท. ร่วมมือกับธนาคารพาณิชย์เรื่อง ‘มาตรการ DSR’ ซึ่งธนาคารส่งข้อมูลมาเพื่อประมวลว่ากลุ่มไหนมีความเสี่ยง ซึ่งอาจนำสู่การออกมาตรการในอนาคต

Search for Yield พฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การประเมินความเสี่ยงที่ต่ำเกินควร โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับตลาดตราสารหนี้ โดยปี 2562 ที่ผ่านมาเห็นธุรกิจออกตราสารที่ให้ผลตอบแทนสูง (High-Yield Bond เพิ่มขึ้น) โดยปี 2562 มียอดคงค้างตราสารหนี้ Non Investment Grade และ Unrate (เช่น กลุ่มที่มีเกรด BB+) มียอดเพิ่มขึ้นถึง 18% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 ขณะที่การลงทุนในต่างประเทศของกองทุนรวมแบบ Term Fund ทั้งระบบกระจุกตัวอยู่ใน 3 ประเทศหลัก เช่น จีน กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 

ดังนั้น ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจึงร่วมมือกับสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ( ก.ล.ต.) ยกระดับหลักเกณฑ์การออกการเสนอขาย และการให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนให้เพียงพอ และเหมาะสมกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

สหกรณ์ออมทรัพย์ ปี 2562 ที่ผ่านมาสินทรัพย์ของสหกรณ์ออมทรัพย์ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นการเชื่อมโยงในระบบสหกรณ์ออมทรัพย์ผ่านการกู้ยืมและรับฝากเงินระหว่างกัน ทำให้อาจกลายเป็นช่องทางในการส่งผ่านความเสี่ยงในระบบสหกรณ์ เช่น กลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่อง (Deficit) มีการกู้ยืมและรับฝากเงินจากสหกรณ์ออมทรัพย์อื่นๆ และชุมนุม โดยแบงก์ชาติติดตามอย่างต่อเนื่อง และหน่วยงานผู้กำกับควรเร่งผลักดันหลักการ 3 ด้าน ได้แก่ 1. การบริหารจัดการสภาพคล่อง 2. ด้านเครดิตหรือการก่อหนี้ของสมาชิก และ 3. ธรรมาภิบาลผู้บริหาร


การปรับปรุงเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (มาตรการ LTV)

ในช่วงก่อนหน้าเริ่มใช้มาตรการ LTV พบปัญหาในหลายด้าน เช่น  

  • ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีดีมานด์เทียมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเร็วกว่ารายได้เฉลี่ยของครัวเรือน
  • การผิดนัดชำระหนี้ของประชาชนจากกลุ่มผู้ที่ผ่อนบ้านหลายสัญญาพร้อมกัน
  • ปัญหาสต๊อกที่อยู่อาศัยใหม่มีมากเกินกว่าความต้องการซื้อที่แท้จริง
  • สถาบันการเงินแข่งขันกันปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งยอมรับความเสี่ยงที่มากขึ้น และหย่อนมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อให้ต่ำลง

 

ทางธนาคารแห่งประเทศไทยจึงออกมาตรการ LTV เพื่อลดปัญหาต่างๆ ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปี 2562 พบว่า มาตรการให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์รัดกุมขึ้น โดยค่าเฉลี่ย LTV Ratio ในส่วนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสัญญาที่ 2 (คนที่กู้ซื้อบ้านหลังที่ 2) ปรับลดลง ในไตรมาสที่ 2 ปี 2562 อยู่ที่ 83.1% ส่วนไตรมาส 3 ปี 2562 ยังลดลงต่อเนื่องลงมาที่ 81.7% ถือว่าปรับลดลงจาก ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 88.6%

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X