ไทยพร้อมเป็น Financial Hub แค่ไหน? หลังล่าสุดกระทรวงการคลังคาดว่า ‘พ.ร.บ.ศูนย์กลางการเงิน’ จะมีผลบังคับใช้ในปีหน้า โดยสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือการตั้ง One Stop Authority และการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและมิใช่ภาษี เพื่อดึงดูดธุรกิจทางการเงินต่างชาติ 8 ประเภทให้เข้ามาลงทุนในไทย
วันนี้ (22 มกราคม) เผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คาดว่าจะประกาศใช้ พ.ร.บ.ศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน ได้ภายในปีหน้า โดยตั้งเป้าจะดำเนินขั้นตอนทางกฎหมายให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ หวังดึงดูดธุรกิจทางการเงินต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนในไทย ทำให้แรงงานที่มีทักษะด้านการเงินจากต่างประเทศเข้ามาทำงานในไทยมากขึ้น เกิดการพัฒนาธุรกิจทางการเงินในไทย เกิดการจ้างงานในประเทศ เกิดการถ่ายทอดทักษะและเทคโนโลยีแก่แรงงานไทย
“ปัจจุบันกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็น (Public Hearing) เสร็จสิ้นแล้ว และคาดว่า พ.ร.บ.ศูนย์กลางการเงิน นี้จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างช้าที่สุดภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยหลังจาก ครม. เห็นชอบแล้ว กฎหมายดังกล่าวจะถูกส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา 50 วัน ก่อนจะเข้าสู่รัฐสภา” เผ่าภูมิกล่าว
เปิด 8 ธุรกิจเป้าหมาย
เผ่าภูมิกล่าวว่า หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นและสำรวจความต้องการของธุรกิจต่างๆ ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทย พบว่าไทยเห็นโอกาสที่จะดึงดูดนิติบุคคลที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและสาขาของนิติบุคคลต่างประเทศในธุรกิจ 8 ประเภท ได้แก่
- ธุรกิจธนาคารพาณิชย์
- ธุรกิจบริการการชำระเงิน
- ธุรกิจหลักทรัพย์
- ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า
- ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล
- ธุรกิจประกันภัย
- ธุรกิจนายหน้าประกันภัย
- ธุรกิจทางการเงินหรือธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่องหรือสนับสนุนธุรกิจทางการเงิน
เปิดเงื่อนไขการขอใบอนุญาต
- ตั้งในเขตพื้นที่ที่กำหนด
- ต้องจ้างแรงงานไทยเป็นสัดส่วนตามที่กำหนด
- สามารถให้บริการแก่ผู้ที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-Resident)
ทั้งนี้ จะอนุญาตให้สามารถให้บริการผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศได้ในกรณี ดังนี้
- ด้านประกันภัย สามารถทำประกันภัยต่อกับบริษัทประกันภัยในไทย เพื่อโอนความเสี่ยงได้
- ด้านตลาดทุน สามารถให้บริการร่วมกับผู้ประกอบการไทย (Co-Services) ในการพาลูกค้าไปลงทุนต่างประเทศได้
- ด้านสถาบันการเงิน สามารถทำ Interbank กับสถาบันการเงินไทย เพื่อบริหารความเสี่ยงได้
- ด้านธุรกิจบริการการชำระเงิน สามารถเชื่อมระบบกับผู้ให้บริการภายใต้การกำกับดูแลของไทยได้
- ด้านธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงิน ผู้ประกอบธุรกิจมีสถานะเป็น Non-Resident ที่ประกอบธุรกิจทางการเงิน โดยต้องปฏิบัติตามกฎหมายควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน และมาตรการป้องปรามการเก็งกำไรค่าเงินบาท
เปิดสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ที่ได้ใบอนุญาต
เผ่าภูมิกล่าวว่า ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมายจะได้รับสิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษีและมิใช่ภาษีตามที่คณะกรรมการกำหนด โดยสำหรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี เผ่าภูมิระบุว่า ต้องรอให้คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดอีกที แต่ยืนยันว่า อัตราภาษีต้องน่าดึงดูด ไม่ด้อยไปกว่าคู่แข่งที่ไทยต้องการมีส่วนแบ่งการตลาดในระยะแรก
ตัวอย่างสิทธิประโยชน์ที่มิใช่ภาษี
- การยกเว้นกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของบุคคลต่างด้าว
- สิทธิประโยชน์ในการนำคนต่างด้าวเข้ามาอยู่ในประเทศไทย
- การให้กรรมสิทธิ์ในการถือครองห้องชุด เพื่อการประกอบธุรกิจและอยู่อาศัย
ทั้งนี้ ตามการรวบรวมข้อมูลของ THE STANDARD WEALTH พบว่าไทยค่อนข้างมีอัตราภาษีธุรกิจการเงินต่างๆ ‘สูงกว่า’ ศูนย์กลางทางการเงินอื่นๆ สะท้อนว่าเพื่อทำให้อัตราภาษีของไทยแข่งขันได้ ไทยอาจต้องลดภาษีอย่างมีนัยสำคัญให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจเป้าหมาย
โดยตาม Global Financial Centres Index ล่าสุด ซึ่งจัดทำโดย Z/Yen Group และเผยแพร่เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ากรุงเทพมหานครรั้งตำแหน่งที่ 95 จาก 121 ศูนย์กลางการเงินทั่วโลก ขณะที่ 10 อันดับศูนย์กลางการเงินของโลก ได้แก่
- นิวยอร์ก
- ลอนดอน
- ฮ่องกง
- สิงคโปร์
- ซานฟรานซิสโก
- ชิคาโก
- ลอสแอนเจลิส
- เซี่ยงไฮ้
- เซินเจิ้น
- แฟรงก์เฟิร์ต
คลังเปิดจุดแข็ง ‘ไทย’ เทียบกับศูนย์กลางทางการเงินอื่นๆ
- เปิดกว้างและมีข้อจำกัดน้อย
เผ่าภูมิกล่าวว่า หนึ่งในจุดแข็งของศูนย์กลางทางการเงินไทย คือ การเป็นศูนย์กลางการเงินโลกยุคใหม่ที่จะให้สิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจการเงินใหม่ๆ ด้วย ตัวอย่างเช่น ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล นอกจากนี้ รัฐบาลก็พยายามจะให้เติมเต็มข้อจำกัดหรือช่องว่างที่ศูนย์กลางการเงินที่มีอยู่ยังไม่ตอบโจทย์ ทำให้กฎหมายฉบับนี้มีลักษณะเปิดกว้างและมีข้อจำกัดน้อย
“ปัจจุบันศูนย์กลางการเงินอาจแบ่งได้ 2 ประเภท คือ ศูนย์กลางการเงินโลกยุคเก่า เช่น ลอนดอน และศูนย์กลางการเงินโลกยุคใหม่ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และดูไบ อย่างไรก็ตาม สิงคโปร์หรือฮ่องกงยังมีข้อจำกัดบางประการอยู่ ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงพยายามจะแก้ไขและเติมเต็มข้อจำกัดเหล่านี้”
- ชูสถานะศูนย์กลางทางการเงินของกลุ่มประเทศ CLMV
เผ่าภูมิกล่าวอีกว่า รัฐบาลตั้งเป้าปั้นไทยเป็นศูนย์กลางทางการเงินของกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งได้แก่ กัมพูชา, สปป.ลาว, เมียนมา และเวียดนาม เนื่องจากปัจจุบันไทยมีความเชื่อมโยงไปสู่ประเทศในภูมิภาคที่เหนือกว่าหรือได้เปรียบกว่าศูนย์กลางทางการเงินที่มีอยู่ในปัจจุบัน
- ไทยมีภาคการเงินที่แข็งแกร่งและการกำกับดูแลที่ดี
เผ่าภูมิกล่าวด้วยว่า อีกจุดแข็งของไทย คือ ไทยมีภูมิทัศน์ทางการเงิน (Financial Landscape) ที่ครอบคลุมประชากรของประเทศได้อย่างทั่วถึง มีภาคการธนาคารที่แข็งแกร่ง มีระบบการกำกับดูแลที่ดี ขณะที่ค่าแรงของแรงงานในไทยก็ไม่สูงมาก
โดยตามร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (คณะกรรมการ OSA) ด้วย เพื่อทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย, แนวทางการส่งเสริม, ประเภทและขอบเขตของการอนุญาต, หลักเกณฑ์, วิธีการ, เงื่อนไขการขออนุญาต, การอนุญาต, การเพิกถอน และการกำกับดูแล โดยต้องอยู่ภายใต้ข้อกำหนดหรือมาตรฐานเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) ที่เป็นมาตรฐานสากล
- การอำนวยความสะดวกแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร
โดยตามร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีการตั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมศูนย์กลางการประกอบธุรกิจทางการเงิน (One Stop Authority: สำนักงาน OSA) ขึ้นเป็นหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (End to End) เพื่อส่งเสริมให้ไทยเป็น Financial Hub และดึงดูดผู้ประกอบธุรกิจทางการเงินเข้ามาลงทุน
อ้างอิง: