×

ปลัดคลังไม่คอนเฟิร์มกู้ 5 แสนล้านบาท ห่วงเพิ่มหนี้สาธารณะ 3% รับ GDP ส่อพลาดเป้า วอนแบงก์ชาติใช้นโยบายการเงินช่วย

29.04.2025
  • LOADING...
finance-ministry-loan-debate

วันนี้ (29 เมษายน) ลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วงเงินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากนโยบายภาษีศุลกากรสหรัฐฯ 5 แสนล้านบาทเป็นเพียง ‘ตุ๊กตา’ และไม่ได้หมายความว่า จำเป็นต้องกู้เงินในวงเงิน 5 แสนล้านบาท พร้อมทั้งประเมินว่า การกู้เงินเพิ่ม 5 แสนล้านบาทจะมีผลต่อหนี้สาธารณะ 3% 

 

“โดยอันดับแรกต้องรู้ก่อนว่า จะนำเงินส่วนนี้ไปทำอะไร หรือใช้กับโครงการใดเช่น การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การผลิต หรือการนำเงินไปลงทุน ต่อมาจึงค่อยไปพิจารณาว่า โครงการนั้นๆ ใช้เงินเท่าไหร่ และค่อยไปดูว่า ปัจจุบันมีเงินอยู่เท่าไหร่ ทั้งจากงบประมาณ จากการเกลี่ยหรือการจัดสรรงบประมาณที่มีอยู่ ขาดเท่าไหร่ค่อยนำไปกู้ ถ้างบประมาณเหลือพออาจไม่ต้องกู้เลย เนื่องจากถ้ากู้เงินมา 5 แสนล้านบาทเลยจะมีผลต่อหนี้สาธารณะ 3%” ลวรณกล่าว

 

กระนั้น ปลัดกระทรวงการคลัง ย้ำว่า “การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ตราบใดที่เรารู้ว่า เรากู้มาเพื่อทำอะไร และยังมีความสามารถในการชำระดอกเบี้ย และเงินต้นคืนได้ตามกำหนด”

 

ตามข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ระบุว่า ปัจจุบัน หนี้สาธารณะไทยอยู่ที่ 64.21% ต่อ GDP ณ กุมภาพันธ์ 2568

 

ปลัดกระทรวงการคลังยังคาดว่า เป้าการเติบโตของ GDP ไทยปีนี้ที่กระทรวงการคลังตั้งไว้ที่ 3% กว่าๆ ‘คงเป็นไปได้ยาก’ เนื่องจาก เมื่อมหาอำนาจ 2 ประเทศมีปัญหากัน ย่อมส่งผลกระทบต่อการค้าของโลกแน่นอน โดยไทยเป็นประเทศเล็ก อย่างไรก็ต้องได้รับผล  

 

“เป้าหมาย GDP ไทยปีนี้ที่ 3% ถึง 3% กว่าๆ คงเป็นไปได้ยาก แต่สิ่งที่เราต้องทำต่อไป คือทำอย่างไรให้ GDP ลดลงมาน้อยที่สุด วันนี้ ผมมองว่า เร็วเกินไปที่จะประเมินว่า GDP เหลือเท่าไหร่ เพราะปัจจุบันเรายังไม่ทราบเลยว่าจะโดนภาษีในอัตราเท่าไหร่ หรือโดนสินค้าประเภทอะไรบ้าง และการเจรจาของทีมไทยแลนด์จะประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน”

 

เกี่ยวกับกรณีประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 30 เมษายน ลวรณกล่าวว่า คงต้องช่วยกันหลายๆ มาตรการ โดยกนง. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงต้องเอาข้อมูลใหม่ตรงนี้ไปดู เนื่องจากนโยบายการเงินก็มีผลต่อการดูแลเศรษฐกิจเช่นกัน ก็ต้องช่วยกัน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising