อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันนี้ (10 สิงหาคม) ว่าได้พูดคุยกับ เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อประสานขอความร่วมมือกับสถาบันการเงินในการดูแลลูกค้า พร้อมเผยว่าได้พูดคุยกับธนาคารของรัฐไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยจะพยายามตรึงดอกเบี้ยของธนาคารรัฐให้นานที่สุด
“ก่อนหน้านี้ได้พูดคุยกับผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับนโยบายการเงินและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยหากมีการเคลื่อนไหว ขอให้สื่อสารกับธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ และสถาบันการเงินของรัฐ ในส่วนสถาบันการเงินของรัฐ หาก ธปท. มีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ก็จะพยายามตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ให้นานที่สุด”
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแต่ละครั้ง การส่งผ่านดอกเบี้ยไปยังธนาคารพาณิชย์จะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ต้องพิจารณาจากสภาวะทางเศรษฐกิจด้วย ถ้าขึ้นเร็วก็อาจจะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการขยายสินเชื่อชะลอไป และในช่วงอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ดอกเบี้ยเงินกู้อาจจะขึ้นเร็ว จึงขอให้ ธปท. ได้เจรจากับธนาคารพาณิชย์เพื่อขอความร่วมมือในการดูแลลูกค้า
นอกจากนี้ อาคมยังระบุว่า ในการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธปท. ต้องชั่งน้ำหนักระหว่างระยะของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การชะลอตัวอัตราเงินเฟ้อ และการเคลื่อนย้ายเงินทุน ท่ามกลางความกังวลของหลายฝ่ายเกี่ยวกับส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐอเมริกา จึงอาจต้องลดระยะส่วนต่างนี้เพื่อรักษาการเคลื่อนย้ายของเงินทุน
อย่างไรก็ดี ตามข้อมูลล่าสุดระบุว่า การไหลออกของเงินทุนไม่ได้มาก และเงินที่ไหลเข้าตลาดทุนของไทยจากสถาบันและนักลงทุนต่างชาติยังเป็น Net Buy อยู่ แสดงให้เห็นว่าความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยยังอยู่สูง สะท้อนไปถึงอันดับความน่าเชื่อถือในประเทศไทยที่ยังอยู่ในระดับเดิม ไม่ได้มีการปรับลดแต่อย่างใด ทำให้ชาวต่างชาติตัดสินใจที่จะเก็บเงินไว้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวอีกว่า นโยบายการคลังและการเงินของประเทศไทยกำลังกลับเข้าสู่ปกติ (Normalization) โดยอธิบายว่า “Normalization หมายความว่า การดำเนินนโยบายในภาวะปกติ ขณะที่ Abnormalization คือ การดำเนินนโยบายในช่วงวิกฤต ดังเช่นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากวิกฤตโควิดทำให้ผลกระทบกระจายไปทั่ว ดังนั้นภาครัฐเองก็ต้องดำเนินนโยบายการคลังเพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจเป็นหลัก
“ขณะที่ ธปท. ก็เสริมเข้ามา เช่น การออก Soft Loan ดังนั้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาก็จะเห็นว่า ธปท. ไม่ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเลยเพื่อช่วยด้านต้นทุนของภาคธุรกิจ เหล่านี้คือ Abnormalization แต่เมื่อไรก็ตามที่วิกฤตโควิดคลี่คลาย ธุรกิจ และเศรษฐกิจเริ่มเดินได้ การใช้เครื่องมือทางการเงินและการคลังก็ต้องกลับสู่ภาวะปกติ เช่น การจัดหารายได้ของภาครัฐ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากรัฐต้องมีการขยายฐานรายได้และส่งเสริมการส่งออก ที่จะสะท้อนกลับมาที่รายได้ของรัฐ”
อาคมระบุอีกว่า ปัจจุบันบางอุตสาหกรรมฟื้นตัวกลับมาเต็มกำลังการผลิตแล้ว เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยวยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ เนื่องจากก่อนช่วงโควิดเรารับนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน แต่ในปีนี้คาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 6-10 ล้านคนเท่านั้น สะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในระยะฟื้นตัว
สำหรับคำถามว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวเต็มที่เมื่อไร อาคมกล่าวว่า ต้องพิจารณาปัจจัยจากต่างประเทศร่วมด้วย รวมถึงการส่งออก ซึ่งกำลังเผชิญปัญหาเรื่องห่วงโซ่อุปทานและปัญหาขาดแคลนชิป ทำให้เป้าหมายการส่งออกในปีนี้ไม่เท่ากับปีที่แล้ว ขณะเดียวกัน เนื่องจากทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาเงินเฟ้อและขาดแคลนอาหารเหมือนกันหมด ดังนั้น การส่งออกอาหารจึงเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะทำให้รายได้กลับเข้ามาในประเทศ
นอกจากนี้ อาคมยังไม่ห่วงประเด็นที่หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์เอเชียจาก HSBC เตือนผู้ส่งออกในเอเชียให้เตรียมเผชิญกับความท้าทาย เนื่องจากอุปสงค์จากตลาดสำคัญอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และจีน กำลังชะลอตัว ท่ามกลางปัญหาเงินเฟ้อในภูมิภาคที่น่าจะยืดเยื้อ โดยระบุว่าสินค้าส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ยังเป็นหมวดอิเล็กทรอนิกส์และหมวดอาหาร จึงไม่น่าได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากคนยังต้องกินต้องใช้ พร้อมทั้งชี้ว่า การพึ่งพาตลาดต่างประเทศของไทยต้องบริหารความเสี่ยง ดังนั้น การทำมาค้าขายในประเทศอาเซียนและเอเชียด้วยกันเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ การทำข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ (FTA) จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราค้าขายกันเองได้ และเป็นการกระจายความเสี่ยง
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP