‘เด็กเอ็นท์’ คือคำเรียกของเหล่านักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ต้องเตรียมตัวสอบเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของ Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ ภาพยนตร์สารคดีที่ตั้งใจจะพาผู้ชมติดตามชีวิตจริงของเด็กเตรียมเอ็นทรานซ์จากรั้วโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยจำนวน 4 คนไปตลอดระยะเวลา 1 ปี นับตั้งแต่วันเริ่มต้นวันแรกของชั้นเรียน ม.6 ไปจนสิ้นสุดกระบวนการสอบคัดเลือกเพื่อเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาไทยในปี 2548 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการปรับเปลี่ยนจากระบบคัดเลือกเข้าอุดมศึกษากลาง (UCAS) หรือที่เด็กไทยเรียกกันติดปากว่า ‘เอ็นทรานซ์’ มาใช้การสอบคัดเลือกที่เรียกว่า ‘แอดมิชชันกลาง’
วันนี้หลังจากผ่านมาครบ 12 ปี นับตั้งแต่ Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ เข้าฉายเป็นวันแรกเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2550
เด็กเตรียมเอ็นท์ในวันนั้นต่างเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ก้าวเข้าสู่ชีวิตวัยทำงาน แต่ละคนได้เริ่มต้นชีวิตบนเส้นทางของตัวเองที่แตกต่างกันไป เริ่มต้นจาก ‘เปอร์’ จากเด็กเตรียมเอ็นท์คณะวิศวกรรมโยธาที่เต็มไปด้วยแนวคิดคมคาย รวมไปถึงบุคลิกเองก็น่าสนใจ ซึ่งนั่นส่งให้หลังจากภาพยนตร์เข้าฉาย เปอร์ได้รับโอกาสให้ก้าวเข้าสู่งานดีเจคลื่นวิทยุและงานพิธีกรในเวลาต่อมา
ส่วนเด็กเตรียมเอ็นท์รุ่นเดียวกันอีก 3 คนอย่าง ‘ลุง’ (ที่ต่อมาสอบติดคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต) เขาเองก็ได้ทำงานเป็นคนเบื้องหลังด้านภาพยนตร์อยู่เช่นกัน ด้าน ‘บิ๊กโชว์’ อดีตหนุ่มวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ตอนนี้ได้ผันตัวมาช่วยงานธุรกิจของครอบครัว และ ‘โบ๊ท’ หลังจากที่เอ็นทรานซ์ติดคณะที่ฝันอย่างคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเขาก็เลือกจะสานฝันของตัวเองที่ดูเหมือนจะชัดเจนตั้งแต่เมื่อ 12 ปีก่อนด้วยการเปิดฟาร์มปลาของตัวเองและกลายเป็นเกษตรกรเต็มตัว
นอกจากชีวิตของอดีตนักเรียนมัธยมปลายทั้ง 4 ที่ค่อยๆ เปลี่ยนไป ในด้านระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทยเองก็ได้ถูกปรับเปลี่ยนไปอย่างมากเช่นกัน เพราะหลังจากพวกเขาทั้ง 4 ผ่านการสอบคัดเลือกเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาด้วยระบบ ‘แอดมิชชันกลาง ระยะที่ 1’ เป็นปีแรก ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการสอบ O-NET, A-NET ในเวลาต่อมา
หลังจากนั้นชะตากรรมของวัยรุ่นไทยก็ยังต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของระบบสอบเข้าอีก 2 ครั้งคือในปี 2553 ซึ่งเป็นการยกเลิกการสอบ A-NET และเปลี่ยนเป็นการสอบ GAT/PAT แทน รวมถึงการเพิ่มระบบเคลียริ่งเฮาส์เข้ามาในปี 2556
ล่าสุดกับการเปลี่ยนรูปแบบการสอบครั้งใหญ่ในปี 2561 กับระบบ Thai University Central Admission System หรือที่เรารู้จักในชื่อ TCAS ซึ่งแบ่งรูปแบบการสอบเป็น 5 รอบ
และเมื่อมองย้อนกลับไปหลังจาก Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ เข้าฉายมาครบรอบ 12 ปี เราพบว่าสิ่งมากกว่าการเป็นภาพยนตร์สารคดีบันทึกเรื่องราวชีวิต ‘เด็กเตรียมเอ็นท์’ คือการที่หลายฉาก หลายตอน หลายซีนใน Final Score ยังเหมือนเป็นการบันทึกประวัติศาสตร์ของระบบการศึกษาไทยที่ทั้งนักเรียนและผู้ปกครองจะต้องเผชิญกับความกดดัน ความคาดหวัง ความสับสน และอาจจะถึงขั้นงุนงงต่อ ‘อนาคต’ ของตัวเองและลูกหลาน
ที่แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านมาถึง 12 ปี แต่ดูเหมือนว่าระบบการสอบคัดเลือกเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาของประเทศไทยก็ยังคงนำพามาซึ่งซีนอารมณ์สำหรับนักเรียนและผู้ปกครองแบบเดียวกับเมื่อ 12 ปีที่แล้วไม่เปลี่ยนแปลง…
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: