×

จำเลยล่องหน คนฟ้องเสี่ยงภัย? สว. ล้วงความจริงหน่วยงานรัฐ สะสางคดี ‘ตากใบ’ ครั้งสุดท้าย

22.10.2024
  • LOADING...

วันนี้ (22 ตุลาคม) 3 วันสุดท้ายก่อนคดีตากใบจะหมดอายุความโดยยังไม่มีผู้ต้องหาคนใดมาปรากฏตัวต่อหน้าศาล ซึ่งมีแนวโน้มจะทำให้ไม่สามารถดำเนินคดีเอาผิดใครได้อีก ทั้งนี้ เป็นคดีที่สืบเนื่องจากเหตุสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส และการขนย้ายผู้ชุมนุมไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจำนวนมาก

 

ล่าสุดคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การมีส่วนร่วมของประชาชน สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มี อังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เป็นประธานกรรมาธิการ พิจารณาติดตามเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการลอยนวลพ้นผิด กรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณหน้า สภ.ตากใบ โดยมีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง คือ

 

  1. สถานีตำรวจภูธรภาค 9
  2. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 4 ส่วนหน้า
  3. สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
  4. สำนักงานอัยการภาค 9

 

รวมถึงตัวแทนนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน และภาคประชาชน ได้แก่ สุณัย ผาสุข ผู้แทน Human Rights Watch Asia, Katia Chirizzi ผู้แทนข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน สหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก, ดอน ปาทาน, อาเต็ฟ โซ๊ะโก และ รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ ทั้งนี้มี พล.ต.ต. สุนทร ขวัญเพ็ชร สว. และ รอมฎอน ปันจอร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เข้าร่วมชี้แจงด้วย

 

อย่างไรก็ตาม มูลนิธิผสานวัฒนธรรมและกองทัพบกไทยไม่ได้ร่วมเข้าชี้แจงเนื่องจากติดภารกิจ

 

ห้องประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ วุฒิสภา วาระติดตามการดำเนินคดีตากใบ

 

อัยการแจง ส่งฟ้องไม่ได้ เหตุไม่พบตัวผู้ต้องหา

 

ชัยชาญ ยมจินดา อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า จากกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ 8 คนจากคดีตากใบ มีการส่งกลับมาที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และส่งกลับมาที่อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ภาค 9 สำนักงานอัยการภาค 9 และส่งกลับมาที่หนองจิก จังหวัดปัตตานี ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของตน เมื่อรับสำนวนมาแล้วต้องแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีเพื่อจัดการให้ได้ตัวผู้ต้องหา 8 คนมาดำเนินคดี โดยทำคู่ขนานไปกับพนักงานสอบสวน

 

ผมไม่มีสิทธิ์ทำอะไรทั้งสิ้นแม้กระทั่งการสอบสวน นอกจากร่างสำนวนฟ้องจนกว่าจะได้ผู้ต้องหาทั้ง 8 คน และรอว่าเมื่อถึงวันที่ 25 ตุลาคม เวลา 16.00 น. ตามเวลาราชการ หากพนักงานสอบสวนสามารถนำตัวผู้ต้องหา 8 คน หรือคนใดคนหนึ่งมา ก็สามารถส่งฟ้องต่อได้เลย แต่หากเกินเวลาหรือตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคมเป็นต้นไป คดีจะถือว่าขาดอายุความ ซึ่งหากคดีขาดอายุ พนักงานอัยการต้องสั่งยุติคดีเพราะไม่สามารถส่งต่อไปที่ศาลได้ และไม่ใช่อำนาจของอัยการปัตตานี แต่ต้องส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อให้สั่งยุติคดีอีกครั้ง จากนั้นจึงจะต้องส่งกลับมาที่อัยการปัตตานีเพื่อส่งแก้คดีแล้วแจ้งให้ญาติผู้เสียชีวิตทราบว่าคดีนี้ขาดอายุความแล้ว ไม่สามารถส่งฟ้องศาลได้” ชัยชาญกล่าว

 

อังคณา นีละไพจิตร สว. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองฯ วุฒิสภา

 

ด้านสุณัยกล่าวว่า คดีตากใบเป็นการตอกย้ำว่าประเทศไทยมีปัญหาเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนานใหญ่โดยเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะเมื่อเกิดขึ้นกลับไม่มีการรับผิดชอบจากผู้กระทำ และนี่เป็นสาเหตุว่าทำไมองค์กรต่างชาติทั้งหลายจึงให้ความสนใจและติดตามเรื่องนี้มาตลอด อย่างไรก็ตาม คดีตากใบยังเป็นความหวังว่าวงจรของการละเมิดสิทธิมนุษยชนขนานใหญ่โดยเจ้าหน้าที่รัฐจะสามารถถูกยับยั้งได้

 

สุณัยบอกด้วยว่าได้ไปคุยกับครอบครัวของผู้รอดชีวิต เขาบอกว่าการนำเท้าไปเหยียบกระบวนการยุติธรรม แม้เพียงครึ่งเท้าก็ยังดี ก็มีความหวัง การให้ความจริงกับเขาถือเป็นส่วนหนึ่งของความหวัง ตนจึงมีความหวังให้ทุกคนทำหน้าที่อย่างเต็มที่

 

นอกจากนี้ในเวลาที่เหลืออีก 3 วัน ตนเองเช็กกับองค์การตำรวจอาชญากรรมระหว่างประเทศ (INTERPOL) พบว่าในฐานข้อมูลของ INTERPOL ไม่มีชื่อของ พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี อดีต สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และย้ำว่าผลที่ออกมาจะเป็นการตอกย้ำบรรทัดฐานว่าอย่างไรก็ตามเรายังไม่สามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐได้

 

“ผมมีความกังวลว่าการใช้กำลังของรัฐจะดำเนินต่อไป และรัฐสามารถกระทำกับประชาชนได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบอะไร คำว่า ‘ตาย จ่าย จบ’ ไม่ใช่การเยียวยา ส่วนคำพูดที่บอกว่ารับเงินไปแล้วจบ ยังไงก็ไม่จบ เพราะนั่นไม่ใช่สิ่งทดแทนความยุติธรรม” สุณัยกล่าว

 

ขอหมายแดง INTERPOL แล้ว แต่ไม่ปรากฏบนเว็บไซต์?

 

ตำรวจภูธรภาค 9 นำโดย พล.ต.ต. นิตินัย หลังยาหน่าย รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 พร้อมด้วยคณะ ร่วมกันชี้แจงว่า ตั้งแต่มีหมายจับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติและทุกหน่วยงานติดตามจับกุม โดยออกหมายแดง INTERPOL ทั้ง 14 คนเป็นที่เรียบร้อย และล่าสุดเดินทางไปพบรองผู้ว่าจังหวัดนครพนมเพื่อติดตามตัวผู้ต้องหารายหนึ่งให้มามอบตัว แต่ได้รับรายงานว่าขาดราชการ ไม่สามารถติดต่อได้ และทราบว่าหลบหนีไปยังประเทศ สปป.ลาว โดยคาดว่าใช้ช่องทางธรรมชาติ

 

ด้านรอมฎอนถามว่า ที่ตำรวจภูธรภาค 9 อ้างว่าได้ขอหมายแดง (Red Notice) ไปยัง INTERPOL ให้ตามตัวผู้ต้องหาในคดีตากใบทั้ง 14 คนแล้ว แต่จากที่ตนเองตรวจสอบในเว็บไซต์ของ INTERPOL ข้อมูลหมายแดงทั้ง 6,681 คนจากทั่วโลกพบว่า รัฐบาลไทยร้องขอหมายจับไปเพียง 3 คนเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่ผู้ต้องหาในคดีตากใบแต่อย่างใด จึงไม่แน่ใจว่าคำชี้แจงต่อกรรมาธิการตกหล่นอย่างไร จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบและชี้แจงต่อกรรมาธิการอีกครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม ขอให้เปิดเผยมาว่าตอนนี้ผู้ต้องหาทั้ง 14 คนอยู่ที่ไหน โดยไม่ต้องกลัวว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี เพราะเวลานี้ประชาชนต้องการรับทราบข้อมูลของผู้ต้องหาทั้งหมด อยู่ต่างประเทศกี่คน ประเทศใดบ้าง อยู่ในประเทศไทยกี่คน อยู่ที่ไหนบ้าง และมีจำเลยหรือผู้ต้องหาบางคนอยู่ในค่ายทหารหรือไม่ ซึ่งส่งผลต่อการทำหน้าที่ของตำรวจ

 

พร้อมกันนี้ยังขอตั้งคำถามเผื่อว่าทั้ง 14 คนนี้ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ เพราะคดีนี้มีเดิมพันที่สูงมาก เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด มีทั้งผู้ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ รวมถึงมีมาตรการคุ้มครองญาติของผู้เสียหายที่ฟ้องคดีอย่างไรหลังจากคดีหมดอายุความ และมีแนวคิดจะฟ้องร้องประชาชนที่กล้าหาญจะฟ้องร้องคดีนี้หรือไม่ อย่างไร

 

รอมฎอน ปันจอร์ สส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

พ.ต.อ. รังษี มั่นจิตร หัวหน้างานซักถาม ศูนย์พิทักษ์สันติ ชี้แจงว่า วันที่ตนเองชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 9 ตุลาคมที่ผ่านมาว่า ตำรวจภูธรภาค 9 ทำหนังสือถึงกองการต่างประเทศ ซึ่งขึ้นตรงกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยกองการต่างประเทศแจ้งว่าประสานกับ INTERPOL และออกหมายแดงแล้ว 14 คน ยืนยันว่ากองการต่างประเทศออกหมายเลขแล้วเรียบร้อย โดยบุคคล 2 คนที่ออกจากต่างประเทศอย่างถูกต้องคือสหราชอาณาจักรและญี่ปุ่น จึงได้ทำหนังสือถึงสถานทูตแล้ว

 

ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือ กองสืบของแต่ละภูมิภาคแจ้งกลับมาว่าไม่ปรากฏพบ คาดว่ามีการหลบหนีผ่านช่องทางธรรมชาติ จึงทำหนังสือถึงกรมศุลกากร ซึ่งระเบียบปฏิบัติต้องอาศัยการประสานกับตำรวจท้องที่นั้นๆ ไม่สามารถจับกุมได้ทันที ส่วนยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตนยังไม่ทราบ ขณะที่ผู้ต้องหาที่เป็นข้าราชการทหารนั้นได้ตรวจค้นในค่ายทหารจังหวัดลำปางและแสดงหมายจับแล้ว แต่ก็ไม่พบตัว

 

สุณัยจึงร้องขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติกระตุ้น INTERPOL ให้ช่วยติดตามผู้ต้องหา ซึ่งเคยกระทำมาแล้วในหลายกรณีก่อนหน้านี้ จึงหวังว่าจะดำเนินการได้ และยังมีอีกช่องทางหนึ่งคือผ่านกระทรวงการต่างประเทศ โดยใช้ความสัมพันธ์ทวิภาคีกับประเทศที่ผู้ต้องหาหลบหนีไป ส่งตัวหรือเนรเทศบุคคลเหล่านั้นกลับมาในลักษณะของการต่างตอบแทน แต่น่าเสียดายที่วันนี้ไม่มีตัวแทนจากกระทรวงการต่างประเทศมาชี้แจง

 

หลังหมดอายุความประชาชนผู้ฟ้องจะปลอดภัยหรือไม่?

 

จากนั้น รศ.เอกรินทร์ สอบถามว่าจะรับมือกับการแสดงออกของประชาชนอย่างไรหากคดีหมดอายุความ ซึ่งต้องไม่ไปละเมิดประชาชน มีการประสานไปยังประเทศปลายทางที่ผู้ต้องหาไปอยู่หรือไม่ หากประสานแล้วประสานอย่างไร ต่างจากมาตรฐานเดิมหรือแตกต่างอย่างไร

 

สรพงค์ ศรียานงค์ ที่ปรึกษา​ด้านการประสานกิจการความมั่นคง สภาความมั่นคงแห่งชาติ ชี้แจงว่า พลเมืองไทยย่อมได้รับการคุ้มครองจากรัฐอย่างเท่าเทียมกันตามหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญ กอ.รมน. ต้องปฏิบัติตามกรอบกฎหมาย ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องเคารพกฎหมายและสิทธิของผู้อื่น เพื่อไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่ง และ กอ.รมน. พยายามบูรณาการหน่วยงานต่างๆ เพื่อรักษาไว้ซึ่งความสงบเรียบร้อยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และยกระดับการป้องกันเหตุไม่พึงประสงค์ทุกรูปแบบ

 

ส่วนขั้นตอนหลังพ้นอายุความวันที่ 25 ตุลาคม อาจมีการแสดงออกของประชาชนในรูปแบบต่างๆ หน่วยงานรัฐจะมีการดำเนินการทางกฎหมายหรือไม่ พ.ต.อ. จารุวิทย์ วงศ์ชัยกิตติพร รองผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและสิทธิมนุษยชน กอ.รมน. ระบุว่า ผู้ที่แสดงออกต้องพึงระมัดระวังข้อความหรือท่าทีที่สื่อความหมายออกไปและเกิดผลกระทบ สร้างความเสียหาย ต้องว่ากันไปเป็นรายกรณี แต่โดยพื้นฐานทุกคนสามารถแสดงออกในสิ่งที่มีความถูกต้องและมีดุลพินิจที่เหมาะสม

 

นักศึกษากลุ่มเดอะปาตานี จัดกิจกรรม ‘ตากใบต้องไม่เงียบ’ ที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567

 

ข้อสรุปที่ไม่มีข้อสรุป ฝากถามประธานสภาให้ พล.อ. พิศาล ลา

 

อังคณากล่าวว่า ตนเองก็เคยตกเป็นเหยื่อของการสลายการชุมนุมเช่นเดียวกัน ในการชุมนุมหน้ารัฐสภาเมื่อปี 2563 ซึ่งมีการฉีดน้ำผสมสารเคมี และศาลพิพากษาให้เยียวยา แต่ตนเองยังไม่เห็นพัฒนาการของเจ้าหน้าที่ในการรักษาความปลอดภัยของผู้ชุมนุมมากนัก

 

ขณะที่ สุนทร พฤกษพิพัฒน์ สว. ในฐานะกรรมาธิการ ถามว่า ผู้ที่อนุญาตให้ พล.อ. พิศาล ลาหยุด มีส่วนรู้เห็นหรือส่วนผิดด้วยหรือไม่ที่ทำให้หลบหนีไปจนขาดอายุความ

 

อังคณาจึงกล่าวว่า ผู้ที่อนุญาตให้ พล.อ. พิศาล ลาประชุม คือประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ตนเองไม่มีหน้าที่ไปก้าวก่ายสภาผู้แทนราษฎร จึงขอฝาก สส. ไปถาม ทั้งนี้ ในการประชุมวันนี้มีข้อสรุปว่ายังไม่มีข้อสรุป เพราะยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากหน่วยงานเกี่ยวกับการดูแลความปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีการสร้างทัศนคติเชิงลบต่อผู้สูญเสียด้วยว่าการออกมาเรียกร้องต่างๆ ในวันนี้เพราะมีคนหนุนหลัง จึงร้องขอให้เจ้าหน้าที่รัฐแก้ไขทัศนคติเชิงลบหรืออคติต่อผู้เรียกร้อง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising